และแล้วก็มาถึงเดือนพฤศจิกายน เดือนที่ชาวออฟฟิศอาจจะเศร้าใจเพราะไม่มีวันหยุด แต่สำหรับคนอยากเที่ยวก็ไม่มีอะไรจะขวางได้ ฉะนั้นสายธรรมชาติมามุงกันตรงนี้ เราสามารถใช้เวลาเพียง 1 วันในการเที่ยวป่า ป่าแบบที่เราเห็นกันในภาพยนตร์ชุด Jurassic บริเวณที่เชื่อว่าเคยมีไดโนเสาร์อาศัยอยู่มาก่อน
ขอต้อนรับเข้าสู่หุบป่าตาด ป่าดึกดำบรรพ์แห่งเดียวในประเทศไทย (ณ ปัจจุบัน) ตั้งอยู่ในอำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี ค่อนข้างเหมาะกับคนชอบเที่ยวธรรมชาติแต่มีเวลาจำกัด เพราะไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมงกว่า พ้นจากเขตตัวเมืองมองข้างทางก็จะเห็นภูเขาและป่าไม้ขึ้นเต็มไปหมด มีบ้านเรือนอยู่เป็นระยะ ส่วนใหญ่จะมีวัดมากกว่า ถนนค่อนข้างดี ปลอดภัยแน่นอน สูดอากาศได้เต็มปอดตั้งแต่ยังไม่ถึงที่หมาย
โดยทั่วไปป่าบ้านเราจะเป็นป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณ แต่หุบป่าตาดได้ชื่อว่าเป็น Unseen Thailand เพราะเป็นป่าแห่งแรกในประเทศที่มีลักษณะป่าแบบดึกดำบรรพ์ เรียกว่าถ้าอยากเห็นของจริงต้องมาดูที่นี่ที่เดียว
สาเหตุที่หุบป่าตาดกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตของคอนเทนต์ครีเอเตอร์สายธรรมชาติ นอกจากเพราะความสวยงามหายากแล้ว ยังเป็นสถานที่ถ่ายทำละครไทย เช่น นาคี ขวานฟ้าหน้าดำ ทำให้แฟนละครอยากมาตามรอย
หากไม่ถูกค้นพบโดยหลวงพ่อทองหยด เจ้าอาวาสวัดถ้ำทองเมื่อ 45 ปีก่อน หุบป่าตาดแห่งนี้คงเป็นหุบเขาธรรมดา ไม่มีคนรู้จัก ถือเป็นความโชคดีที่ระหว่างเดินธุดงค์ หลวงพ่อเกิดสงสัยว่าภายในหุบเขาเป็นอย่างไร แล้วก็พบว่าภายในเป็นเวิ้งซึ่งเต็มไปด้วยต้นตาด หลังจากนั้นไม่นานกรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงประกาศให้เป็นเขตพื้นที่อนุรักษ์ นอกจากต้นตาด ยังมีพืชพรรณหายากหลายชนิด อาทิ ขนุนดิน เต่าร้าง ต้นเปล้า ฯลฯ วันที่เราไปเป็นวันเสาร์ซึ่งนักท่องเที่ยวไม่ค่อยมาก (คนในพื้นที่บอกว่าวันธรรมดามีนักท่องเที่ยวมากกว่าวันเสาร์-อาทิตย์) มีบันไดให้เดินขึ้นได้ชิลๆ เพราะทางอุทยานฯ ทำทางเดินให้อย่างดี ยกเว้นอยากถ่ายรูปใกล้หุบเขาอาจจะต้องปีนป่ายเพื่อให้ได้มุมใกล้หน่อย
ระหว่างทางเจอคุณยายมาเที่ยวกันเป็นกลุ่ม เดินไปพูดคุยกันไปอย่างสนุกสนาน มีขอให้เราถ่ายรูปรวมให้บ้าง น่ารักดี ทุกคนดูแข็งแรงจนอดคิดไม่ได้ว่าถ้าเราอายุเท่านี้จะสามารถไปเที่ยวกับเพื่อนได้อย่างนี้หรือไม่ แต่ถ้ามาหุบป่าตาดคงมีแรงเดินได้เพราะทางเดินสะดวก
ลืมบอกว่าจุดสำคัญก่อนถึงด้านในหุบป่าตาดคือกิ้งกือมังกรสีชมพู ซึ่งเป็นสัตว์ที่พบได้ในหุบป่าตาดเท่านั้น โดยกิ้งกือพันธุ์นี้จะเจอได้ในช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน แต่ไม่รู้ทำไมวันนี้มันถึงหลบคนเก่งมาก ยืนมองหาอยู่สักพักใหญ่ก็ยังไม่เจอ สมกับเป็นสัตว์หายากจริงนะเจ้ากิ้งกือสีชมพู นอกจากกิ้งกือแล้วหากมาถูกเวลาอาจได้เจอสัตว์อื่นๆ เช่น ลิงแสม ค่างแว่น อีเห็น
เดินมาสักพักจะเจอถ้ำให้เดินลอด ถ้ำนี้เป็นถ้ำที่ถูกเจาะหลังการค้นพบหุบเขานี้ เดินไม่ยากเพราะทางไม่ขรุขระเท่าไร แต่มืดมาก ต้องเปิดไฟฉายจากสมาร์ทโฟนส่อง เดินอยู่ประมาณ 3 นาทีจึงลอดออกมาได้ พอเจอแสงสว่างปลายถ้ำปุ๊บก็เริ่มรู้สึกเหมือนกำลังจะหลุดไปอีกโลกหนึ่ง แหงนหน้าขึ้นเล็กน้อยจะเห็นหินงอกหินย้อยตรงโพรงถ้ำ พอออกมาจะไม่เจอบันไดหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นนอกจากหุบเขา แต่ยังมีทางที่เดินได้สะดวก ตอนแรกคิดว่าคนจะน้อย ที่แท้เขามาถ่ายรูปกันอยู่ตรงนี้ เพราะสวยงามมากจริงๆ ลองนึกภาพเขาหินปูนสูงๆ ที่มีแสงแดดส่องลงมาแล้วกลายเป็นสีทอง มีต้นตาดเขียวชอุ่มอยู่รอบๆ ลักษณะเหมือนจัดวางแต่ความจริงแล้วเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาหินปูนสีเทาๆ คาดว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ 280 ล้านกว่าปีที่แล้ว ยุคนั้นมีสัตว์เลื้อนคลานเกิดขึ้นก่อนไดโนเสาร์เสียอีก แต่ผ่านมาหลายล้านปีจนไดโนเสาร์เกิดขึ้นมาไม่รู้กี่สายพันธุ์ ภูมิลักษณะแบบนี้ก็ยังหลงเหลือมาให้เห็นถึงปัจจุบัน น่าทึ่งมากจริงๆ
ขากลับให้เดินออกทางเดิม โดยลอดถ้ำและลงบันไดมา ใช้เวลารวมแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง ถ้าไม่รีบกลับสามารถแวะคาเฟ่เล็กๆ ใกล้หุบป่าตาดชื่อ My Merchain ต่อได้
ในอนาคตหุบป่าตาดน่าจะมีชื่อเสียงมากขึ้นด้วยความเป็นสถานที่ที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่ไหนในไทย และอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ตอนเราไปเห็นแค่นักท่องเที่ยวชาวไทย ถ้าต่างชาติค้นพบมากกว่านี้คงดีเหมือนกัน ให้เขารู้ว่าธรรมชาติของประเทศไทยมีดีไม่แพ้กัน หรือไม่แน่อาจจะมีทีมงานภาพยนตร์หรือกองละครต่างประเทศมาถ่ายทำด้วยก็เป็นได้
สำหรับใครต้องการสวมบทบาท Backpacker ก็สามารถทำได้โดยอาจเริ่มต้นจากการขึ้นรถทัวร์ที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 แล้วต่อรถที่สถานีขนส่งจังหวัดอุทัยธานี ใช้เวลาเดินทางนานกว่ารถส่วนตัว แต่ปลายทางได้พบความสวยงามของธรรมชาติเหมือนกัน
อ่านจบลองหาวันว่างมาชมป่าดึกดำบรรพ์ที่เหมือนกลับไปสู่อดีตในบรรยากาศจูราสสิกที่เดินทางได้ไม่ยาก
ข้อมูล
- พิกัด : หุบป่าตาด ตำบลทุ่งนางาม อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี
- ค่าเข้าชม : ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 20 บาท
- เวลาทำการ : เปิดให้เข้าชมทุกวัน 08.30-16.40 น.
- ข้อมูลเพิ่มเติม : https://portal.dnp.go.th/
Tag:
travel, ที่เที่ยว, อุทัยธานี
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น