คนที่ไปเที่ยวไต้หวัน สถานที่ยอดนิยมแห่งหนึ่งที่คนมักไม่พลาดกันคือพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ซึ่งกว้างมากและต้องใช้เวลาเดินชมนาน แต่หากมีเวลาไม่มากขอแนะนำ Taipei Fine Arts Museum พิพิธภัณฑ์อันทันสมัยที่ได้รับคะแนนรีวิวจากนักท่องเที่ยวถึง 4.5 ดาว
พิพิธภัณฑ์นี้ตั้งอยู่ที่ Zhongshan ไม่ไกลจากวัดหลงซาน (Longshan Temple) แลนด์มาร์กที่ผู้คนนิยมไปกราบไหว้ขอพร แค่นั่ง MRT ประมาณ 6 สถานี มาลงที่ Yuanshan ทางออก 1 แดดค่อนข้างแรง แต่ไม่รู้สึกร้อนมาก (อาจจะชินจากที่ไทย) เราเปิด Google Map ดูเพราะไม่แน่ใจว่าต้องเดินไปทางไหนต่อ ระหว่างทางเห็นมีตลาดนัดขนาดย่อมๆ เด็กเยอะมากคงเพราะเป็นวันเสาร์ แต่ไม่ได้แวะซื้ออะไร เราข้ามถนนและเดินตรงไปอีกนิดก็เห็นตึกใหญ่ๆ พร้อมป้ายชื่อ Taipei Fine Arts Museum ใช้เวลาเดินมาไม่ถึง 10 นาที ด้านในคนไม่มาก เราซื้อตั๋วมาในราคา 30 ดอลลาร์ไต้หวัน หรือประมาณ 33 บาท สามารถเดินในพิพิธภัณฑ์ได้ทั้งวัน เข้าได้ทุกนิทรรศการ แต่หากใครมีสัมภาระใบใหญ่จะต้องฝากในตู้ล็อกเกอร์ก่อนซึ่งฟรีและใช้ระบบการตั้งรหัสในการเปิด-ปิด
เดินขึ้นมาชั้น 2 จะพบกับนิทรรศการ HSU Yu-Jen: A Retrospective มองจากโปสเตอร์แล้วก็เดาว่าน่าจะเกี่ยวกับงานวาดด้วยหมึก พอเดินเข้าไปดูก็ปรากฏว่าทายถูกจริงๆ ห้องจัดแสดงถูกแบ่งเป็นโซนภาพวาด และภาพสีน้ำมันของจิตรกรชาวไต้หวันที่ชื่อว่า Hsu Yu-Jen ผู้นี้มีชื่อเสียงด้านการวาดภาพด้วยหมึกดำ แต่ก็สามารถใช้เทคนิคอื่นๆ ได้เหมือนกัน เพราะเขาไม่ได้ยึดติดกับความเป็นเอเชียอย่างเดียว มีทัศนคติเปิดกว้างจากการได้เห็น และได้สำรวจผลงานศิลปะมากมายในสหรัฐอเมริกา
เมื่อเราเดินเข้าไปโซนแรกเป็นการจัดแสดงภาพร่าง ภาพวาดหมึกดำของศิลปินท่านนี้วางเรียงราย มีทั้งแบบใส่กรอบให้ชมโดยกั้นเขตไว้ เท่าที่เดินดูเรารู้สึกว่าลายเส้นของเขามีเอกลักษณ์อยู่มาก ซึ่งมักจะเป็นเรื่องราวใกล้ตัวอย่างเช่นภาพต้นไม้ใบหญ้า แต่บางภาพก็เหมือนจะแฝงนัยเอาไว้อย่างภาพหน้าคนที่วาดด้วยเส้นหยักคล้ายสมอง ถ้าให้เราตีความเองคิดว่าคงสื่อถึงมนุษย์ที่มีความเครียด มีเรื่องให้คิดตลอดเวลาอะไรทำนองนั้น (แต่ไม่รู้ว่าจะถูกไหม งานศิลปะขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละคนอยู่แล้ว)
เดินขึ้นบันไดเลื่อนมาที่ชั้น 3 มีนิทรรศการเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมไต้หวันชื่อว่า Modern Life: Taiwan Architecture 1949-1983 จัดแสดงโมเดลตึกรามบ้านช่อง และสถานที่สำคัญต่างๆ ของไต้หวันตั้งแต่หลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงแรกของการตั้งถิ่นฐานบนเกาะ รูปแบบที่อยู่อาศัยของไต้หวันที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีน แต่เมื่อเวลาผ่านไปไต้หวันติดต่อกับต่างประเทศมากขึ้น รัฐบาลมีการสนับสนุนบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและก่อสร้าง อาคารต่างๆ จึงเริ่มเปลี่ยนจากโครงสร้างไม้เป็นคอนกรีต ยกเว้นโบราณสถานหรือวัดวาอาราม
เมื่อเดินตามทางของห้องจัดแสดงนอกจากจะเห็นโมเดล ก็ยังจะได้เห็นวิดีโอสัมภาษณ์สถาปนิกหลายท่าน ทำให้รู้ว่าชาวไต้หวันจริงจังกับการสร้างและการวางผังเมืองของเขามาก เพราะอยากให้มีประโยชน์ใช้สอยและสวยงามในเวลาเดียวกัน ไม่แปลกใจที่ขณะเราเดินอยู่ข้างนอกจะรู้สึกว่าบ้านเมืองเป็นระเบียบมาก และแยกโซนกันค่อนข้างชัดเจน เช่น โซนตลาด โซนห้าง โซนสวนสาธารณะ ฯลฯ
น่าเสียดายที่นิทรรศการจัดถึงแค่วันที่ 30 มิถุนายน 2567 ซึ่งเขาจัดมานานแล้วตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 ใครไปหลังจากนี้คงไม่ได้เห็นแล้ว แต่สามารถเข้าไปดูภาพอาคารรูปแบบต่างๆ ในเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ได้ที่ https://www.tfam.museum/
มาถึงตอนนี้เราก็สังเกตได้ว่านิทรรศการแต่ละนิทรรศการจะใช้พื้นที่ทั้งชั้น แต่ด้วยความที่ชั้น 3 คือชั้นสุดท้ายของพิพิธภัณฑ์ เรายังไม่เห็นนิทรรศการของต่างประเทศที่วางป้ายแบ็กดรอปประชาสัมพันธ์ไว้ที่ชั้นแรกจึงเดินสำรวจไปมาจนในที่สุดก็เจอ
นิทรรศการที่ว่านี้นำเสนอผลงานของ William Kentridge ศิลปินชาวแอฟริกาใต้ ซึ่งมีชื่อเสียงด้านการทำ Linocuts หรือการแกะภาพบนเสื่อน้ำมัน (ถ้านึกภาพไม่ออก จะคล้ายๆ กับหนังตะลุงภาคใต้ของไทย) ถือเป็นความร่วมมือกันระหว่าง Taipei Fine Arts Museum และ Royal Academy of Arts ของอังกฤษ เป็นนิทรรศการใหญ่โตมาก และมีคนมากที่สุดในบรรดาทั้งหมดที่เดินมา
ภายในงานจะมีไฟสลัวๆ มีจอสกรีนขนาดใหญ่อยู่ 2-3 จอ ตั้งอยู่คนละมุม พร้อมเสียงดนตรีบรรเลงสร้างบรรยากาศให้เข้ากับนิทรรศการดังเป็นระยะ ดึงดูดความสนใจให้เดินไปยืนดู บนจอฉายภาพผลงานของวิลเลียมแต่นำเสนอโดยใช้เทคนิค Stop-Motion เห็นคนพากันดูอย่างตั้งใจ
เราเลยพยายามจับประเด็น ก็ดูเหมือนเขาจะเล่าเรื่องชีวิตของชายคนหนึ่งที่เจอความทุกข์และความสุขปะปนกัน ดูแล้วเพลินดี ส่วนงานอื่นๆ ที่นำมาแสดงก็จะเป็นภาพวาด ภาพแกะสลักเรื่องเกี่ยวกับการเมือง ชีวิตประจำวันของคนในแอฟริกาใต้ หากได้อ่านประวัติศาสตร์แอฟริกามาสักหน่อยน่าจะเพิ่มอรรถรสในการเดินชมมากขึ้น
เดินดูจนจบรู้สึกว่าไต้หวันเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับงานศิลปะมาก ไม่ใช่แค่งานที่ได้เข้ามาอยู่ในพิพิธภัณฑ์ แต่ภาพยนตร์ เพลงต่างๆ ก็คุณภาพดี สังเกตจากภาพโฆษณาเกมสุดอลังการบนรถไฟฟ้า เพราะอุตสาหกรรมเกมของที่นี่ถือว่าไม่ธรรมดา
เรียกว่าเรื่องอาร์ตๆ ก็เจ๋งไม่แพ้เรื่องของกินเลยล่ะ
Taipei Fine Arts Museum
เปิดบริการ : วันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 09.30-17.30 น. (เวลาไต้หวัน)
หากใครยังไม่เต็มอิ่มขอแนะนำอีกสถานที่หนึ่งคือ Huashan 1914 Creative Park แหล่งรวม Pop-Up Store ทั้งจากไต้หวันและต่างประเทศ รวมถึงร้านขายของแฮนด์เมดน่ารักๆ ดีไซน์แปลกใหม่ พื้นที่นี้พัฒนามาจากโรงงานสาเก โรงกลั่นไวน์ โดยรัฐบาลต้องการให้เป็นศูนย์กลางงานศิลปะ งานฝีมือต่างๆ
ตอนที่เราเดินทางไปถึงมีฝนตกนิดหน่อยแต่คนยังมาเรื่อยๆ เดินไปเจอนิทรรศการฉายภาพยนตร์นอกกระแสรอบโลกโดยมีตารางฉายอยู่หน้าทางเข้า ใครชอบดูหนังก็ลองเช็กตารางเผื่อเจอเรื่องที่น่าสนใจ นอกจากโซนนี้แล้วยังมี Pop-Up การ์ตูน Snoopy อยู่บริเวณสนามหญ้าด้านนอก และมีโซนของ Ultraman กับ Tom & Jerry ที่ยังไม่เปิดให้เข้าชม (ในวันนั้นที่เราไป) แต่คนเยอะสุดน่าจะเป็น Chiikawa ตัวการ์ตูนจากญี่ปุ่น ซึ่งต้องลงทะเบียนแล้วสแกน QR-Code ก่อนเข้า แต่เราไม่ได้เป็นแฟนคลับคาแรกเตอร์นี้เลยขอมองห่างๆ แล้วกัน
และโซนชวนเสียเงินที่สุดสำหรับเราขอยกให้ The Gala Asia ตลาดนัดติดแอร์ขายงานแฮนด์เมด เช่น ถ้วยชาม กระเป๋า เครื่องเขียน ฯลฯ มีแต่ของน่ารักๆ ละลานตา ถ้าไม่ติดว่ากระเป๋าเดินทางเต็มแล้วคงได้ติดไม้ติดมือไปหลายชิ้น แต่ที่เสียเงินไปแล้วคือชานมไข่มุกร้าน Chun Shui Tang แบรนด์ต้นตำรับก็มีสาขาอยู่ที่นี่ด้วย
พิกัด : No.1, Sec.1, Bade Rd., Zhongzheng Dist. กรุงไทเป ไต้หวัน (MRT Zhongxiao Xinsheng ทางออก 1)
Tag:
ที่เที่ยว, นิทรรศการ, ศิลปะ, ไต้หวัน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น