คนไทยเรียกพืชหลายชนิดว่าถั่ว แต่จริงๆ แล้วคำว่า “ถั่ว” หรือ “Legume” นั้นแบ่งออกเป็นพืชที่มาจากหลากหลายกลุ่ม ได้แก่
- บีน (Bean) มีลักษณะเป็นฝัก เมล็ดไม่กลม เช่น ถั่วแขก ถั่วฝักยาว ถั่วพู และกลุ่มที่กินเฉพาะเมล็ด เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วขาว
- พี (Pea) ถั่วเมล็ดกลม อยู่ในฝัก เช่น ถั่วลันเตา ถั่วชิกพี
- เลนทิล (Lentil) เมล็ดมีลักษณะแบน มีสีเขียว น้ำตาล แดง เหลือง
อีกกลุ่มคือนัต (Nut) ซึ่งไม่ได้อยู่ในตระกูล Legume แต่จัดเป็นถั่วเปลือกแข็งที่มีโครงสร้างแตกต่างจากพวก Legume มีสารอาหารหลักคือไขมัน โปรตีน มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ ใยอาหารสูง เช่น อัลมอนด์ วอลนัต พีแคน พิสตาชิโอ
กลุ่มของพวกถั่ว (Legume) จะเป็นแหล่งที่ดีของสารอาหาร เช่น โปรตีน ใยอาหาร โพแทสเซียม ในการจัดหมวดหมู่อาหารกลุ่มของถั่วนี้สามารถจัดได้ทั้งในกลุ่มของผักและโปรตีน สำหรับคนที่เป็นมังสวิรัติก็สามารถกินถั่วเหล่านี้เพื่อให้ได้โปรตีนเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ในกลุ่มถั่วเหล่านี้มีไขมันต่ำ ที่สำคัญไม่มีคอเลสเตอรอล มีใยอาหารสูง ซึ่งมีทั้งใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำที่ช่วยเรื่องการขับถ่าย เพิ่มปริมาณอุจจาระ และลดระยะเวลาการหมักในลำไส้ ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ส่วนใยอาหารชนิดละลายน้ำมีประโยชน์คือช่วยจับกับคอเลสเตอรอลขับออกนอกร่างกายและทำให้อิ่มท้องนาน ถั่วกลุ่มนี้เมื่อกินแบบสุกครึ่งถ้วยจะได้รับใยอาหารประมาณ 7 กรัม ถือเป็น 1/3 ของปริมาณใยอาหารที่แนะนำในแต่ละวัน (25 กรัม)
นอกจากนี้ในถั่วยังมีวิตามินและแร่ธาตุที่ดี เช่น โฟเลต เหล็ก ซึ่งช่วยในการทำงานของเม็ดเลือดแดง ป้องกันการเกิดภาวะโลหิตจาง และทำให้ระบบเมตาโบลิกต่างๆ ของร่างกายทำงานปกติ โพแทสเซียม แมกนีเซียม ช่วยให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นทำงานดี
งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของถั่ว
★ โรคหัวใจและหลอดเลือด ★
โรคหัวใจและหลอดเลือดถือเป็นโรคอันดับ 1 ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในประเทศไทย สาเหตุหนึ่งมาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์ที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง รวมทั้งอาหารแปรรูปทั้งหลาย การกินพืชกลุ่มถั่วจะช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดลงได้ จากข้อแนะนำของ DRIs แนะนำให้บริโภคถั่วกลุ่ม Legume 1.5 ถ้วยต่อสัปดาห์เพื่อลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด
★ โรคมะเร็ง ★
โรคมะเร็งเป็นอีกโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขและก่อให้เกิดปัญหาทั้งเศรษฐกิจและสังคม โรคมะเร็งทางเดินอาหารและลำไส้ใหญ่เป็นผลมาจากอาหารที่ได้รับเข้าไป จากงานวิจัยพบว่าผู้ที่บริโภคถั่วเหลืองเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ และผู้ชายที่กิน Legume เป็นประจำคือสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 1/2 ถ้วยจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้บริโภค เนื่องจากในถั่วมีใยอาหารสูง และยังมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระและสารพฤกษเคมีสูง โดยสารต้านอนุมูลอิสระจะเป็นตัวช่วยในการลดสารอนุมูลอิสระซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายและยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ซึ่งเป็นที่มาของการเกิดเซลล์มะเร็ง
★ เบาหวาน ★
โรคเบาหวานเป็นอีกโรคที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก อาหารที่ดีสำหรับผู้เป็นเบาหวานคืออาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (Glycemic Index: GI) ค่าดัชนีน้ำตาลคือค่าที่บอกถึงความสามารถของอาหารที่มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตและบอกว่าอาหารนั้นมีผลต่อการขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดได้รวดเร็วเพียงใดในระยะเวลา 2-3 ชั่วโมงภายหลังจากการบริโภคอาหารประเภทนั้นเข้าไป
กลุ่มของพวกถั่วนี้มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ส่งผลให้ร่างกายค่อยๆ ได้รับน้ำตาลจากอาหารประเภทถั่ว ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้ที่เป็นเบาหวาน เพราะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ไม่ขึ้นลงเร็วอันเป็นผลเสียต่อร่างกายของผู้ที่เป็นเบาหวาน และใยอาหารที่มีอยู่ในถั่วเป็นอีกทางที่ช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ชะลอการดูดซึมน้ำตาล และจับกับกลูโคสทำให้ควบคุมเบาหวานได้ดี
★ โรค Celiac Disease ★
โรค Celiac Disease หรือโรคระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อกลูเตน กลูเตนเป็นโปรตีนที่พบในกลุ่มข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ อาการแพ้คือการที่ร่างกายไม่สามารถย่อยกลูเตนได้ ทำให้เกิดอาการท้องอืด มีแก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องเสีย และส่งผลให้เกิดภาวะลำไส้อักเสบ ทำให้การทำงานในการดูดซึมวิตามิน แร่ธาตุ และสารอาหารอื่นๆ ลดลง กลุ่มของถั่ว Legume นี้จะไม่มีกลูเตนผสมอยู่ ดังนั้นจึงเป็นแหล่งที่มาของใยอาหารดีและโปรตีนที่ปราศจากกลูเตน และปลอดภัยสำหรับผู้ที่เป็นโรค Celiac Disease
จะเห็นได้ว่าถั่วมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย สำหรับคนที่ไม่ชอบหรือยังไม่ได้นำถั่วมาทำอาหารลองค้นหาเมนูง่ายๆ อร่อยๆ ที่หลากหลายจากถั่ว ไม่ว่าจะนำมาทำนมถั่ว ต้ม นึ่ง ใส่สลัด ใส่ยำ ใส่ข้าวผัด หรือทำขนมหวาน เช่น นำถั่วแดงมาทำเป็นบราวนี่หรือไอศกรีมก็อร่อยไม่แพ้กัน
เมื่อลองกินถั่วเป็นประจำก็จะชอบและชินกับการกินถั่ว ทำให้มีสุขภาพดีในระยะยาว
Tag:
, Food for life, ถั่ว,
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น