กำหนดอาหารให้สุขภาพดีด้วยนักกำหนดอาหาร

วันที่ 14 กันยายน 2563  31,961 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 242 เดือนกันยายน 2563

นักกำหนดอาหารคือใคร
หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า “นักกำหนดอาหาร” แต่ก็ไม่แน่ใจว่าหมายถึงใคร หรือใครบ้างที่เป็นนักกำหนดอาหาร คนมักจะชินกับอาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักสาธารณสุข แต่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับคำว่านักกำหนดอาหาร

วิชาชีพนักกำหนดอาหาร หรือ Dietitian เป็นผู้ที่ช่วยกำหนดว่าอาหารและสารอาหารซึ่งเราควรได้รับเป็นอย่างไรตามสภาวะที่เป็นอยู่ เพื่อให้เกิดสุขภาพที่ดีและเหมาะสมต่อบุคคลนั้นๆ มากที่สุด สามารถให้ความรู้ ความเข้าใจ อธิบายถ่ายทอดหลักการ กระบวนการ แนวทางวิชาการด้านอาหารและโภชนาการได้อย่างมีเหตุและผล ถูกต้องตามหลักวิชาการ มีข้อมูลที่มีงานวิจัยซึ่งได้รับการยอมรับ

กำหนดอาหารให้สุขภาพดีด้วยนักกำหนดอาหาร

ทำไมนักกำหนดอาหารจึงมีความสำคัญ
นักกำหนดอาหารมีความสำคัญมาก เพราะเป็นผู้ที่เรียนเรื่องของอาหารมาโดยตรง ซึ่งต่างจากแพทย์ที่เรียนเรื่องโรค การวินิจฉัยโรค การรักษาโรค แต่สำหรับนักกำหนดอาหารต้องเรียนพื้นฐานวิทยาศาสตร์สุขภาพ เรียนกายวิภาค เคมี ชีววิทยา และเรียนวิชาเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอาหารซึ่งใช้บำบัดโรคโดยเฉพาะ การคำนวณอาหารที่เหมาะสมสำหรับแต่ละเงื่อนไขของแต่ละบุคคล เช่น คนที่ต้องลดน้ำหนักไม่ใช่ว่าจะใช้หลักการหรือรูปแบบอาหารเหมือนกันได้ในทุกคน เพราะบางคนอาจมีโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ เช่น เบาหวาน โรคมะเร็ง หรืออายุ หรือภาวะระบบเมตาบอลิซึมของร่างกายที่แตกต่างกัน

ปัจจุบันนักกำหนดอาหารในประเทศไทยจะต้องขึ้นทะเบียนวิชาชีพโดย “สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย” โดยจะได้รับคำว่า “กอ.ช” หรือ “CDT” ต่อท้าย ซึ่งย่อมาจาก “นักกำหนดอาหารวิชาชีพ” หรือ “Certified Dietitian of Thailand” ซึ่งจะมีการจัดสอบเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นประจำทุกปี และเมื่อกฎหมายวิชาชีพนักกำหนดอาหารเสร็จสมบูรณ์ นักกำหนดอาหารจะเป็นผู้เขียนใบสั่งอาหารเพื่อกำหนดอาหารให้ผู้ป่วยรับประทานในแต่ละมื้อเหมือนที่แพทย์สั่งยา

กำหนดอาหารให้สุขภาพดีด้วยนักกำหนดอาหาร

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้อาหาร ซึ่งการกำหนดอาหารเป็นการกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการวินิจฉัยปัญหาโภชนาการ โดยการประเมินภาวะโภชนาการของผู้ป่วย วิเคราะห์และวางแผนการให้โภชนาการบำบัด การให้คำปรึกษา ติดตาม ประเมินผล  ส่งเสริมและฟื้นฟูภาวะโภชนาการ และการดัดแปลงอาหารเฉพาะโรคให้เป็นไปตามแผนการรักษา เพื่อให้เหมาะสมกับโรคและภาวะโภชนาการทั้งในช่วงที่สุขภาพดีและมีการเจ็บป่วย โดยเฉพาะโรคที่รักษาด้วยยาอย่างเดียวไม่พอ ต้องอาศัยการกิน เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ

สาระสำคัญของพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้คือกำหนดให้สาขาการกำหนดอาหารเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะ ให้มีคณะกรรมการวิชาชีพสาขาการกำหนดอาหารทำหน้าที่รับขึ้นทะเบียน ออกใบอนุญาต เพิกถอนใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบการโรคศิลปะสาขานั้นๆ อีกทั้งยังเป็นการกำหนดคุณสมบัติของผู้ขอขึ้นทะเบียนและขอขึ้นใบอนุญาต ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบปริญญาหรือประกาศนียบัตรเทียบเท่าสาขาการกำหนดอาหารจากสถาบันการศึกษาที่คณะกรรมการวิชาชีพสาขาการกำหนดวิชาชีพรับรองอีกด้วย

กำหนดอาหารให้สุขภาพดีด้วยนักกำหนดอาหาร

นักกำหนดอาหารต้องเรียนอะไรมาบ้าง
กว่าจะได้มาเป็นนักกำหนดอาหารนั้นไม่ใช่ว่าใครที่อบรมด้านอาหารและโภชนาการจะมีความรู้ความเข้าใจที่จะเป็นนักกำหนดอาหารได้ วิชาชีพนักกำหนดอาหารต้องผ่านการเรียนอย่างน้อย 4 ปีกับหลักสูตรเฉพาะที่ต้องเรียนสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิชาเฉพาะ เช่น  ชีวเคมีทางอาหาร โภชนคลินิก โภชนบำบัด การประเมินภาวะโภชนาการ หลักการจัดอาหาร หลักการกำหนดอาหาร อาหารและโภชนาการของมนุษย์ อาหารตามวัย วิทยาศาสตร์อาหาร จริยธรรมในนักกำหนดอาหาร หลักการวิจัย การให้คำปรึกษาด้านโภชนาการ โภชนการในชุมชน ที่สำคัญต้องฝึกงานที่โรงพยาบาลร่วมกับชุมชนทั้งด้านของคลินิก การให้คำปรึกษา การให้โภชนบริการ ซึ่งต้องมีจำนวนของการฝึกงานรวมกันไม่น้อยกว่า 900 ชั่วโมง เพื่อที่จะได้มีความรู้  ทักษะ และประสบการณ์ก่อนออกมาให้ความรู้แก่บุคคลอื่น

สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรของนักกำหนดอาหารระดับปริญญาตรี ได้แก่

  • คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • คณะสาธารณสุขศาสตร์ ภาควิชาโภชนวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล
  • คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์
  • คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
  • คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
  • คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยพะเยา
  • คณะเกษตร ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • สาขาวิชาโภชนศาสตร์และการกำหนดอาหาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

กำหนดอาหารให้สุขภาพดีด้วยนักกำหนดอาหาร

นักกำหนดอาหารมีหน้าที่แตกต่างจากผู้มีความรู้ทางโภชนาการอื่นๆ อย่างไร
หน้าที่ของนักกำหนดอาหารคือต้องกำหนดอาหารให้เหมาะสมกับสภาวะของบุคคลนั้นๆ เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีมากที่สุด ดังนั้นเมื่อพบกับนักกำหนดอาหารเขาก็จะประเมินภาวะโภชนาการรายบุคคลก่อนว่าแต่ละบุคคลมีโรคหรือปัญหาทางสุขภาพอย่างไรบ้าง ก่อนที่จะเริ่มนำเอาข้อมูลจากที่ประเมินมารวบรวม ในการประเมินทางโภชนาการสามารถประเมินตั้งแต่น้ำหนัก มวลไขมัน มวลกล้ามเนื้อ มวลกระดูก เส้นรอบวงเอว เส้นรอบวงสะโพก การเผาผลาญพลังงานของร่างกาย ความดันโลหิต การประเมินทางห้องปฏิบัติการ เช่น ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมัน การทำงานของตับและไต ค่าการอักเสบในร่างกาย การประเมินทางคลินิกดูผม ผิว เล็บ ตา กล้ามเนื้อ รวมถึงการประเมินอาหารว่ามีการบริโภคอาหารเป็นอย่างไร

หลังจากประเมินผลเสร็จโดยการคำนวณ การใช้รูปแบบต่างๆ แล้ว นักกำหนดอาหารจะวิเคราะห์และร่วมกับบุคคลแต่ละคนเพื่อกำหนดรูปแบบอาหารที่เหมาะสมกับการบริโภคของแต่ละคนนั้นต่อไปทั้งในเรื่องให้ความเหมาะสมกับรูปแบบของการดำเนินชีวิต รูปแบบการออกกำลังกาย ภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่อยู่ ซึ่งต้องมีการพบและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพราะแต่ละบุคคลอาจมีภาวะทางโภชนาการต่างกัน บางครั้งรูปแบบอาหารต้องมีการปรับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันของแต่ละคนให้มากที่สุด นักกำหนดอาหารยังคงมีหน้าที่เฝ้าติดตามภาวะโภชนาการต่อไปจนกว่าบุคคลนั้นจะเป็นปกติหรือมีภาวะสุขภาพที่ดี ช่วยปรับเปลี่ยนเพิ่ม/ลดอาหารและสารอาหารเพื่อให้เหมาะสม

กำหนดอาหารให้สุขภาพดีด้วยนักกำหนดอาหาร

นักกำหนดอาหารจะช่วยให้สุขภาพดีอย่างยั่งยืนได้อย่างไร
จุดมุ่งหมายของนักกำหนดอาหารคือการทำให้คนมีสุขภาพดี มีความสุข และสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง นั่นหมายถึงเกิดความยั่งยืนของการมีสุขภาพที่ดี นักกำหนดอาหารจะคอยช่วยดูแล ปรับรูปแบบอาหารให้เหมาะสมที่สุด เพื่อให้บุคคลนั้นมีแรง มีกำลัง มีสุขภาพกายและใจดีอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน หรือช่วยให้คนกลายเป็นคนเต็มอิ่ม...

นั่นคืออิ่มท้อง อิ่มกาย และอิ่มใจ


Tag: , Food for life,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed