ตามล่าหาขุมทรัพย์ความอร่อยแห่งอลาสก้า ตอนที่ 1

วันที่ 28 สิงหาคม 2563  3,851 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 241 เดือนสิงหาคม 2563

หนึ่งในดินแดนแสนกว้างใหญ่ที่เต็มไปด้วยหิมะและความหนาวเย็น ซึ่งไม่เพียงเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวเท่านั้น หากแต่ยังเป็นขุมทรัพย์ชั้นเลิศสำหรับนักกินอีกด้วย เพราะ “อลาสก้า” (Alaska) คือแหล่งน้ำธรรมชาติที่เป็นที่อาศัยของปลาและสัตว์ทะเลนานาชนิด ซึ่งทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกได้ลิ้มรสอาหารทะเลดีๆ จากอลาสก้า (Alaska Seafood) ที่ทั้งอร่อย สะอาด ปลอดภัย เต็มไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการและไม่เหมือนที่ใดบนโลก

ตามล่าหาขุมทรัพย์ความอร่อยแห่งอลาสก้า

The Treasure of Alaska “อลาสก้า” แหล่งอาหารธรรมชาติและทรัพยากรที่ยั่งยืน
หากพูดถึง “อลาสก้า” (Alaska) หลายคนคงรู้ว่าเป็นชื่อหนึ่งในรัฐที่มีพื้นที่อันกว้างใหญ่ เต็มไปด้วยหิมะขาวโพลน และมีภูมิอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปี ซึ่งไม่เพียงทำให้ที่นี่กลายเป็นดินแดนและสถานที่ท่องเที่ยวในฝันของคนทั่วโลก แต่ยังเป็นต้นกำเนิดของแหล่งน้ำธรรมชาติทางเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งมีคุณภาพดีที่สุดอีกแห่งหนึ่งของโลก เรียกได้ว่าเป็น “บ้าน” ที่สะอาด ปลอดภัย ไร้มลพิษของเหล่าปลาและสัตว์ทะเลหลากหลายสายพันธุ์ให้เติบโตได้อย่างสมบูรณ์ตามธรรมชาติอีกด้วย บรรดาปลาและสัตว์ทะเลที่นี่สามารถดำรงชีวิตอย่างอิสระ ว่ายน้ำและกินอาหารได้อย่างเต็มที่ จึงทำให้มีเนื้อแน่น สีสดน่ากิน และอุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ มีกรดไขมันโอเมกา-3 สูง มีวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด และมีไขมันน้อย

นอกจากนี้ชาวประมงและผู้คนที่นี่ยังยึดถือหลักในการทำประมงอย่างยั่งยืน เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติของอลาสก้ายังคงไว้ให้คนรุ่นหลัง และเป็นแหล่งอาหารดีๆ ของพวกเราชาวโลกไปอีกนาน

Alaska Seafood Community รู้จักชนิดของอาหารทะเลอลาสก้า
แม้จะมีจำนวนประชากรไม่มากนักเมื่อเทียบกับความกว้างใหญ่ไพศาลของพื้นที่ภูมิประเทศและท้องทะเล แต่ที่นี่เป็นบ้านหลังใหญ่ของปลาและสัตว์ทะเลต่างๆ มากมายหลายชนิด เราอยากพาทุกคนไปรู้จักสมาชิกแห่งท้องทะเลอลาสก้าที่บางชนิดหลายคนไม่ค่อยคุ้นเคยและไม่รู้ถึงความสดอร่อยที่แอบซ่อนไว้

ตามล่าหาขุมทรัพย์ความอร่อยแห่งอลาสก้า

ปลาแซลมอนอลาสก้า (Alaska Salmon)
ไม่รู้จักไม่ได้แล้ว ชนิดแรก Alaska King Salmon หรือคิงแซลมอน เป็นสายพันธุ์ที่ตัวโตที่สุด

มีกรดไขมันโอเมกา-3 มากที่สุด และเป็นที่นิยมในหมู่นักกิน อีก 4 ชนิดถัดมาคือ Alaska Sockeye Salmon หรือซ็อกอายแซลมอน รสชาติเข้มข้น เนื้อแน่นสีแดง ถึงจะปรุงสุกก็มีสีแดงสวยไม่เปลี่ยน  Alaska Coho Salmon หรือแซลมอนโคโฮ เนื้อนุ่มแน่น อร่อยเช่นกัน ขนาดไม่โตมาก  Alaska Keta Salmon หรือเคตาแซลมอน ตัวโตเป็นอันดับ 2 รองจากคิงแซลมอน เนื้อแน่น อร่อยเป็นที่นิยมมากเช่นกัน และ Alaska Pink Salmon หรือพิงค์แซลมอน ขนาดค่อนข้างเล็กมีสีชมพูอ่อน นุ่มอร่อย ราคาย่อมเยา เหมาะสำหรับเมนูอบและย่าง

ปลาเนื้อขาวอลาสก้า (Alaska Whitefish)
มีหลากหลายสายพันธุ์ ความพิเศษของปลาเนื้อขาวอลาสก้าคือไขมันต่ำ มีกรดไขมันโอเมกา-3 สูง มีวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด ชนิดที่อยากจะแนะนำให้รู้จักคือ Pacific Halibut หรือ แปซิฟิกแฮลิบัต ตัวโตที่สุดในบรรดาปลาเนื้อขาว มีเนื้อนุ่มละเอียด เหมาะกับเมนูย่าง ทอด ต้ม นึ่ง  

  • Alaska Pollock หรืออลาสก้าพอลล็อค เนื้อนุ่มแน่น เหมาะกับเมนูทอด ผัด อบ หรือนึ่ง ไขมันต่ำมาก มีจำหน่ายในไทยแล้ว
  • Alaska Rockfish หรืออลาสก้าร็อคฟิช มีชนิดย่อย 37 สายพันธุ์ ในไทยจะมีจำหน่าย Pacific Ocean Perch (POP) หรือแปซิฟิกโอเชียนเพิร์ส หนึ่งในสายพันธุ์ย่อยของปลาร็อคฟิชที่มีจำนวนมากที่สุดในอลาสก้า ปลาชนิดนี้เหมาะกับหลากหลายเมนูทั้งผัด อบ ต้ม และย่าง รวมทั้งเมนูหมักซอสต่างๆ
  • Alaska Sablefish / Black Cod หรืออลาสก้าเซโบลฟิช / แบล็กค็อด มีจำหน่ายในไทยแล้ว เนื้อปลาแน่นหวาน เหมาะกับเมนูรมควัน ทอด ต้ม และย่าง เป็นปลาเนื้อขาวอายุยืนยาวมากที่สุด พบว่าอายุยืนถึง 90 ปี
  • Alaska Sole / Flounder หรืออลาสก้าโซล / ฟลาวเดอร์ เนื้อปลานุ่มหวานละเอียด เหมาะกับผัด ต้ม และนึ่ง มีจำหน่ายในไทยแล้วเช่นกัน
  • นอกจากนี้ยังมีสายพันธุ์ปลาเนื้อขาวอื่นๆ อีก เช่น Alaska Pacific Cod (อลาสก้าแปซิฟิกค็อด) Pacific Herring (แปซิฟิกเฮอริ่ง) Lingcod (ลิงค็อด) และอื่นๆ

ตามล่าหาขุมทรัพย์ความอร่อยแห่งอลาสก้า

อาหารทะเลเปลือกแข็งและไข่ปลา (Alaska Shellfish & Roe)
สำหรับคนรักปูต้องลอง Alaska King Crab หรือปูยักษ์อลาสก้า เนื้อแน่น หวานฉ่ำ โดยเฉพาะเนื้อส่วนขาปูที่นุ่มอร่อยเป็นพิเศษ ที่สำคัญยังเป็นปูตัวใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นที่นิยมมากในแวดวงธุรกิจร้านอาหาร และ Alaska Dungeness Crab หรือปูดันจิเนสอลาสก้า ปูตัวใหญ่ รสชาติดี เนื้อหวานละมุน ขาวนุ่มน่ากิน  และ Alaska Snow Crab หรือปูหิมะอลาสก้า มีรูปร่างที่เป็นเอกลักษณ์ขายาวเรียงตรง ส่วนเนื้อก็แน่นหวานไม่แพ้ปู 2 ชนิดแรกเลย คนรักปูไม่ควรพลาด นอกจากบรรดาปูแล้วยังมีกุ้งและหอยชนิดต่างๆ อีกด้วย

ส่วนใครชอบกินไข่ปลาต้องถูกใจกับ Salmon Roe ไข่ปลาแซลมอน หรือที่เราคุ้นเคยในชื่อ “อิคุระ” (Ikura) ซึ่งนิยมกินทั้งแบบคาเวียร์ (Caviar) และสึจิโกะ (Sujiko) หรือไข่ปลาแซลมอนสดที่มีลักษณะติดกันเป็นแพนั่นเอง รวมทั้ง Pollock Roe ไข่ปลาพอลล็อค หรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า “ทาราโกะ” (Tarako) ซึ่งหมายถึงไข่ปลาพอลล็อคสดดองเกลือ สำหรับสูตรเผ็ดเรียกว่า “เมนไทโกะ” (Mentaiko) ที่เป็นเมนูเด็ดในใจหลายๆ คน

ตามล่าหาขุมทรัพย์ความอร่อยแห่งอลาสก้า

Catch Me If You Can “จับ” ความอร่อยจากทะเลไม่ใช่เรื่องง่าย
นอกจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นอย่างโหดร้ายและคลื่นลมแรงในทะเลจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการจับสัตว์ทะเลแถบอลาสก้าแล้ว “วิธีการจับ” ยังมีความยากและต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก การจับปลาแซลมอนจะเริ่มอย่างเป็นทางการช่วงเดือนพฤษภาคมไปถึงปลายเดือนกันยายน ซึ่งวิธีการจับมีทั้งแบบใช้อวนติดตาที่มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า (Gillnet) การใช้รอกตกปลา (Troll) หรือการใช้อวนล้อมจับ (Purse Seining) ที่ยาวและลึก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นที่ในการออกเรือด้วย

ขณะที่ปลาเนื้อขาวนั้นมีสายพันธุ์ที่หลากหลายและสามารถจับได้ตลอดแทบทั้งปี อุปกรณ์ที่ใช้ก็แตกต่างจากการจับปลาแซลมอนอย่างสิ้นเชิง มีการจับด้วยเบ็ดราว (Longline) ใช้ลอบจับปลา (Pots) การจับโดยใช้เหยื่อจิ๊ก (Jig) รวมถึงวิธีจับที่นิยมอย่างการใช้อวนลาก (Trawl)

ส่วนวิธีจับปูอลาสก้านั้นมีรายละเอียดมากมายและมีความพิถีพิถันสุดๆ เริ่มจากหย่อนกรงจับปูลงไป รอให้ปูเข้ามาอยู่ในกรงนานประมาณ 5-12 วัน ระหว่างนี้ต้องคอยยกกรงขึ้นมาตรวจเป็นระยะ หากไม่มีปูอยู่ในกรงก็ต้องย้ายที่จับใหม่ เมื่อได้ปูแล้วก็ต้องคัดเลือกขนาดและคุณภาพกันทันที ตัวไหนไม่ได้มาตรฐานก็ต้องกลับคืนสู่ทะเล โดยเฉลี่ยแล้วลูกเรือจะต้องทำงานกันหนักมากถึง 20 ชั่วโมงต่อวันเลยทีเดียว

ตามล่าหาขุมทรัพย์ความอร่อยแห่งอลาสก้า

Did You Know?
“Deadliest Catch” หรือ “นักจับปูเดนตาย” คือชื่อเรียกนักจับปูที่ต้องเสี่ยงชีวิตท่ามกลางความหนาวเหน็บและสภาพอากาศที่แปรปรวน และแม้จะเป็นหนึ่งในอาชีพที่เสี่ยงอันตรายมากที่สุดในโลก แต่ค่าตอบแทนนั้นก็เรียกว่าคุ้มค่า เพราะการออกไปจับปูในแต่ละครั้งจะมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.7 ล้านบาทถึง 3.5 ล้านบาทต่อฤดูกาลเลยทีเดียว
 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม >> ตามล่าหาขุมทรัพย์ความอร่อยแห่งอลาสก้า ตอนที่ 2
ขอขอบคุณ : สำนักงานทูตเกษตร กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา สถานทูตอเมริกา โทร. 0-2205-4000
ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วน : Thompson & Co. Public Relations (represents the Alaska Travel Industry Association and TravelAlaska.com)
เอื้อเฟื้อผลิตภัณฑ์ :

  • Food Project Siam Co., Ltd. โทร. 0-2770-8888
  • บริษัท เนเชอรัล อลาสก้า ซีฟู้ด จำกัด โทร. 0-2054-5898
  • บริษัท บางกอกซีฟู้ด จำกัด โทร. 0-3483-4452-4, 06-2692-5514

Tag: , Cover story, ซีฟู้ด, อลาสก้า,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed