อาร์เมเนีย (Armenia) เมื่อเอ่ยถึงชื่อประเทศนี้หลายคนคงจะนึกถึงทวีปยุโรป นึกถึงฝรั่งหัวแดง ตาสีฟ้า กินขนมปัง พูดภาษาอังกฤษ และนับถือศาสนาคริสต์ ที่เอ่ยมาถูกแค่บางส่วน เพราะจริงๆ แล้วอาร์เมเนียเป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนทวีปเอเชียแต่ค่อนไปใกล้ยุโรป ดินแดนนี้จึงเป็นสะพานเชื่อมยุโรปและเอเชีย ที่สำคัญคืออาร์เมเนียเป็นประเทศแรกในโลกที่นับถือศาสนาคริสต์เมื่อราวๆ ปี ค.ศ. 301 โน่นเลย
ส่วนตัวผมเป็นคนรักธรรมชาติและหลงใหลในสถานที่เก่าแก่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน การได้ไปเยือนอาร์เมเนียจึงเป็นทริปในฝัน ช่วงฤดูใบไม้ผลิราวๆ เดือนมีนาคม-เมษายนคือช่วงที่ผมเลือกเดินทาง โดยบินจากไทยไปเปลี่ยนเครื่องที่อิหร่าน แล้วบินต่ออีกนิดเดียวก็ถึงเยเรวาน
(Yerevan) เมืองหลวงของอาร์เมเนีย บรรยากาศของเมืองนี้มีความเป็นรัสเซียสูงมาก เนื่องจากยุคหนึ่งเคยถูกสหภาพโซเวียตยึดครอง แต่ผมไม่ได้เก็บตัวเองอยู่ในสังคมเมืองใหญ่ของเยเรวานนานนัก เพราะหมุดหมายจริงๆ อยู่ห่างออกไปทางตะวันออกราวๆ 30 กิโลเมตร ณ บริเวณที่เคยมีประวัติศาสตร์ยาวนานและมีภูมิทัศน์ธรรมชาติมหัศจรรย์ถึงขั้นเป็นมรดกโลก นั่นคือ “เมืองการ์นี” (Garni) เมืองที่หลายคนมองว่าบ้านนอกสุดๆ ไร้แสงสีความเจริญ มีแต่เทือกเขาใหญ่ แม่น้ำ โตรกธาร และหมู่บ้านการ์นีที่ชาวอาร์เมเนียแท้ๆ ยังคงใช้ชีวิตแบบพอเพียง ทำสวนผลไม้ ปลูกแอปเปิล แอปริคอต พลัม และยังมีรอยยิ้มเปื้อนหน้าเมื่อมีคนเอเชียหน้าตี๋ๆ แบบผมเข้าไปทักทาย
ผมซื้อแพ็กเกจทัวร์ One Day Trip จากเยเรวาน นั่งรถยนต์ไปไม่นานก็ถึงหุบเขาเอวาน (Avan Canyon) อันสวยงามด้วยหน้าผาสูงชัน เพราะเกิดจากการกัดเซาะของแม่น้ำอาชัต (Azat River) ช่วงเช้าๆ อย่างนี้อากาศยังไม่ร้อนจัด แสงกำลังสวย ก็ต้องเริ่มต้นการย้อนกลับสู่อดีตกันที่ “วิหารการ์นี” (Temple of Garni) ซึ่งในอดีตเมื่อ 1,700 ปีมาแล้วเคยใช้เป็นพระราชวังฤดูร้อนของกษัตริย์ทิริดาเทสที่ 1 (Tiridates I) รวมถึงเคยใช้เป็นเทวสถานของเทพเมียร์ (Mihr) เทพเจ้าแห่งพระอาทิตย์และแสงสว่างตามตำนานปรัมปราของชาวอาร์เมเนียล่ะครับ
วิหารแห่งการ์นีตั้งอยู่บนขอบชะง่อนผารูปสามเหลี่ยม ซึ่งเบื้องหน้ามองลงไปเห็นโตรกธาร ทิวไม้ และเทือกเขาเรียงรายแบบพาโนรามา จุดนี้อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 1,396 เมตรจึงไม่ร้อนจัด เดินเที่ยวได้ค่อนข้างสบาย ตัววิหารมีขนาดไม่ใหญ่โต ทว่าโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมทรงเกรโค-โรมัน (Greco-Roman) ซึ่งหมายถึงสถาปัตยกรรมที่ใช้กับดินแดนที่ได้รับอิทธิพลของอาณาจักรกรีก-โรมัน กษัตริย์ทิริดาเทสที่ 1 แห่งอาร์เมเนียสร้างวิหารนี้ขึ้นภายในพระราชวังฤดูร้อนของพระองค์ โดยรอบยังพบซากปรักหักพังและฐานของพระราชวังเก่า โรงอาบน้ำ และเทวาลัย ทำให้ทุกย่างก้าวในบริเวณวิหารการ์นีคือการพาตัวเองย้อนเวลากลับไปเป็นพันปีพร้อมจินตนาการสุดบรรเจิด
แม้วิหารหินอันแกร่งกร้าวนี้จะเคยพังทลายลงเพราะแผ่นดินไหวเมื่อปี ค.ศ. 1679 แต่ในยุคสหภาพโซเวียตยึดครองก็ได้มีการบูรณะขึ้นใหม่เมื่อปี ค.ศ. 1974 ด้วยวิธีนำชิ้นส่วนวิหารเดิมมาประกอบเข้ากับชิ้นส่วนใหม่จนงดงามดังที่เห็น สิ่งที่น่าชมคือแม้จะเป็นวิหารแบบกรีก-โรมัน ทว่าลวดลายส่วนใหญ่ที่ใช้จำหลักลงไปบนหินก็เป็นศิลปะอาร์เมเนีย เสาวิหารหินทรงกลมมีหัวเสาแบบไอออนิกอ่อนช้อย รองรับจั่วทรงสามเหลี่ยมที่ให้ความรู้สึกแข็งแรง มั่นคง ด้านหน้ามีบันไดขึ้นสู่ห้องประกอบพิธีกรรม โดยบันไดแต่ละขั้นมีขนาดใหญ่ เวลาก้าวขึ้นไปต้องใช้วิธีกึ่งเดินกึ่งปีนจนทำให้เราต้องก้มตัวไปข้างหน้า นัยว่าเป็นกุศโลบายคล้ายให้เราค้อมคำนับเทพเมียร์ที่ประทับอยู่ในวิหาร นอกจากนี้รอบฐานวิหารยังมีรูปจำหลักหินเทพแอตลัสของกรีกในท่าทางกำลังเทินวิหารไว้ทั้งหลังด้วย ผมเลือกจังหวะที่มีนักท่องเที่ยวบางตา พาตัวเองเดินเข้าไปในห้องประกอบพิธีกรรมใจกลางวิหาร ขณะนั้นมีชาวบ้านเข้ามานั่งเป่าขลุ่ยดูดุ๊ก อันเป็นเครื่องดนตรีประจำชาติอาร์เมเนีย เสียงนั้นก้องกังวานกรีดผ่านห้วงคำนึงและความรู้สึกจนแทบจะเห็นภาพอดีตโลดแล่นอยู่ตรงหน้าได้เลย
เดินทางต่อไปไม่ไกลก็ถึงโบราณสถานแห่งที่ 2 ซึ่งทำให้ผมตื่นเต้นไม่น้อย เพราะยิ่งใหญ่ถึงขนาดได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี ค.ศ. 2000 นั่นคือ “วิหารเกกฮาร์ด” (Geghard Monastery) อัญมณีเม็ดงามของสถาปัตยกรรมทางศาสนาที่ชาวคริสต์อาร์เมเนียภูมิใจ จุดเด่นคือตัวอารามใหญ่ที่วางผังเป็น 2 ส่วน คือส่วนกลางแจ้งและส่วนที่เจาะภูผาหินเข้าไปแทบทั้งลูก จำหลักหินเป็นวิหารใต้พิภพอันวิจิตรพิสดาร เต็มไปด้วยห้องหับและโถงประกอบพิธีกรรมขนาดใหญ่โตจนแทบไม่น่าเชื่อว่าสร้างขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์ล้วนๆ ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 12-13 เพราะในยุคนั้นแทบไม่มีเครื่องทุ่นแรงทันสมัยอย่างปัจจุบันเลยสักนิด
สำหรับนักแสวงบุญและคริสต์ศาสนิกชนแล้ว วิหารเกกฮาร์ดถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะจริงๆ แล้วตัววิหารถ้ำที่ก่อสร้างครั้งแรกในศตวรรษที่ 4 นั้นสร้างโดยนักบุญเกรกอรี่ ดิ อิลลูมิเนเตอร์ (Gregory the Illuminator) ผู้นำศาสนาคริสต์เข้ามาเผยแผ่ในอาร์เมเนียเป็นคนแรก จนกษัตริย์ในยุคนั้นยอมรับศาสนาคริสต์เป็นชาติแรกของโลก เดิมทีวิหารหินแห่งนี้ชื่อ “เกกฮาร์ดแวงก์” (Geghardavank) หรือ “วิหารแห่งหอก” เพราะหลังจากที่องค์พระเยซูถูกตรึงกางเขนจนสิ้นพระชนม์แล้ว ยูดาหนึ่งในอัครสาวกได้นำหอกที่ใช้แทงพระเยซูจนสิ้นพระชนม์มาประดิษฐานไว้ที่นี่ แต่ก็น่าเสียดายว่าได้หายสาบสูญไปแล้ว นอกจากนี้วิหารเกกฮาร์ดยังใช้เป็นที่เก็บรักษาอัฐิของนักบุญและนักบวชสำคัญๆ ด้วย
ผมมุ่งตรงไปที่วิหารถ้ำไฮไลต์ ประตูทางเข้าที่เห็นมีขนาดไม่ใหญ่มาก แต่พอก้าวพ้นเข้าสู่ภายในวิหารถ้ำแล้วก็ต้องตะลึง เพราะโถงวิหารใหญ่โตโออ่า โดยเฉพาะเพดานสูงหลายสิบเมตร ทำให้ไม่รู้สึกอึดอัด หายใจสะดวก อีกทั้งบนโดมเพดานยังมีช่องกลมเปิดสู่โลกภายนอก นำแสงสว่างและอากาศบริสุทธิ์เข้ามาสร้างชีวิตชีวาแก่โลกใต้พิภพนี้ ภายในแบ่งเป็นห้องหับน้อยใหญ่มากมาย เด่นที่โถงสวดมนต์ต่างๆ ซึ่งมีเสาหินค้ำยันเพดานถ้ำ แท่นบูชา เทียนไขส่องสว่างมลังเมลือง และมี “คาคาร์” (Khachkar) หรือรูปกางเขนสลักอยู่บนแผ่นหิน สิ่งนี้ถือเป็นอัตลักษณ์หนึ่งของคริสต์สไตล์อาร์เมเนียนในยุคกลาง ซึ่งนิยมแกะสลักไม้กางเขนหินให้มีลวดลายวิจิตรบรรจง ประกอบเข้ากับลวดลายไม้เถาและดอกกุหลาบทรงกลมที่เรียกว่าโรเซ็ต (Rosette) ช่วยเพิ่มความงามทางทัศนศิลป์ สมเป็นวิหารหินมรดกโลกที่เก่าแก่ล้ำค่า
หลังจากได้พักเที่ยง ชิมแป้งแผ่นอบโอ่งและไก่ย่างเครื่องเทศหอมๆ ของชาวบ้านที่จัดโต๊ะไว้ให้ท่ามกลางสวนผลไม้น่ารักๆ แล้ว ไกด์ก็พาเราเดินจากหมู่บ้านการ์นีเลียบแม่น้ำโก๊ต (Goght River) ที่ร่มรื่นด้วยไพรพฤกษ์และสวนผลไม้ไปสู่แหล่งธรรมชาติมหัศจรรย์ที่นักศิลาวิทยาพากันฉงนสนเท่ห์ว่าในโลกของเรานี้ยังมีภูมิประเทศสุดแปลกพิสดารแบบนี้อยู่อีกหรือ นั่นคือ “จอร์จการ์นี” (Garni Gorge) ช่องเขาอายุหลายล้านปีซึ่งมีหินประหลาดรูปทรงแท่งเหลี่ยมนับล้านๆ อันเรียงรายกันอยู่บนหน้าผา และบ้างก็ก่อตัวห่อหุ้มเนินเขาทั้งลูกไว้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ!
เมื่อพ้นแนวต้นไม้ออกไปพบกับจอร์จการ์นี ผมถึงกับตื่นตะลึงในความอัศจรรย์ของประติมากรรมธรรมชาติ เนินเขาเตี้ยๆ บางลูกก่อตัวขึ้นจากแท่งหินทรงสี่เหลี่ยมบ้าง หกเหลี่ยมบ้าง เรียงตัวเบียดเสียดกันแน่นเอี๊ยด คล้ายมีใครจงใจนำแท่งหินนั้นมาจัดเรียงขึ้นอย่างเป็นระบบระเบียบ เกิดเป็นความงามทางรูปทรงเรขาคณิตแห่งศิลาสีเทา บางจุดแลคล้ายรวงผึ้งยักษ์ บางจุดคล้ายตาข่ายมหึมา แต่จุดที่มีชื่อเสียงที่สุดคือบริเวณใจกลางจอร์จการ์นีที่แท่งหินทรงเหลี่ยมนับแสนๆ อันเรียงรายกันในแนวตั้งคล้ายท่อออร์แกนยักษ์ในวิหาร เป็นความงามน่าฉงนที่ผสมผสานลงตัวไปในทิศทางเดียวกัน จนได้ฉายาว่า “Symphony of the Stones” หรือ “บทเพลงซิมโฟนีแห่งศิลา” นักธรณีวิทยาให้คำอธิบายว่าแท่งหินทรงเหลี่ยมแนวตั้งแบบนี้เกิดจากหินบะซอลต์ร้อนหลอมละลายใต้โลกได้ผุดขึ้นเหนือผิวโลกแล้วเย็นตัวลง ถ้าเย็นตัวเร็วแท่งหินก็จะมีขนาดเล็ก แต่ถ้าเย็นตัวอย่างช้าๆ แท่งหินทรงรวงผึ้งเหลี่ยมก็จะมีขนาดใหญ่ จึงเป็นประจักษ์พยานว่าในครั้งอดีตกาลนานโพ้นแถบนี้น่าจะเคยมีภูเขาไฟระเบิดครั้งมโหฬารนั่นเอง
แม้การ์นีเป็นเพียงเมืองเล็กๆ แต่ก็ยิ่งใหญ่ด้วยธรรมชาติและประวัติศาสตร์ ผู้คนผ่านมาแล้วผ่านไป แต่เรื่องราวเหล่านี้จะคงอยู่คู่อาร์เมเนีย ดินแดนบนจุดเชื่อมต่อโลกตะวันออกและยุโรปเข้าด้วยกัน เป็นทริปในฝันที่ผมจะไม่มีวันลืมเลย
Traveler’s Guide
- Season : ฤดูใบไม้ผลิ เดือนมีนาคม-มิถุนายน, ฤดูร้อน เดือนมิถุนายน-กันยายน, ฤดูใบไม้ร่วง เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จากนั้นจะเข้าฤดูหนาวหิมะตก ช่วง High Season ของการท่องเที่ยวคือเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม
- Getting There : ยังไม่มีเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ-เยเรวาน ต้องบินไปเปลี่ยนเครื่องที่เตหะรานของอิหร่าน (7 ชั่วโมง 30 นาที) จากนั้นบินเตหะราน-เยเรวาน (1 ชั่วโมง 30 นาที) ส่วนการเดินทางจากเยเรวาน-การ์นีต้องซื้อแพ็กเกจทัวร์ One Day Trip
- Overnight : เที่ยวเมืองการ์นีเสร็จแล้วกลับไปนอนที่เมืองเยเรวานได้สบาย แนะนำ Ani Plaza Hotel (www.anihotel.com)
- Cuisine : อาหารหลักของคนอาร์เมเนียคือข้าวและขนมปัง กินกับสลัดผัก ผักย่าง ผักม้วนไส้เนื้อ รวมถึงซุปต่างๆ เคบับสไตล์ตุรกี สเต๊ก หมูย่าง ไก่ย่าง สเต๊กปลา ส่วนของหวานนิยมผลไม้สด โดยเฉพาะแอปริคอต เค้กที่ไม่หวานจัด ขนมซูจุ๊ก ขนมแผ่นแป้งลาวาช ปิดท้ายด้วยชากาแฟท้องถิ่น
- More Info : https://armenia.travel/en
Tag:
, Far Away, ท่องเที่ยว,
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น