รู้จักเวชศาสตร์ชะลอวัย

วันที่ 10 กรกฎาคม 2563  3,773 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 240 เดือนกรกฎาคม 2563

เมื่อพูดถึงคำว่า “Anti-Aging” ความหมายแรกที่ปรากฏในใจหลายคนคงไม่พ้นคำว่า “อ่อนกว่าวัย” และ “ไม่แก่” แท้จริงแล้วเรื่องเวชศาสตร์ชะลอวัยนั้นไม่ได้พูดถึงแค่เรื่องความสวยงามหรือเรื่องผิวพรรณเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการดูแลสุขภาพจากภายในแบบองค์รวม ครอบคลุมถึงการใช้ชีวิตประจำวันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน การนอนหลับ การออกกำลังกาย การเลือกวิตามินเสริม ซึ่งการดูแลร่างกายด้วยศาสตร์นี้นอกจากจะทำให้แข็งแรงสมวัย (Young at Heart ที่แท้จริง) ยังป้องกันการเกิดโรคร้ายต่างๆ ในอนาคตได้ด้วย

สำหรับคนที่สนใจเรื่องการชะลอวัยน่าจะคุ้นชื่อนายแพทย์ไพศิษฐ์ ตระกูลก้องสมุท แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ที่เราได้เห็นหน้า (ที่อ่อนเยาว์มากๆ) ของคุณหมอตามสื่อโทรทัศน์อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งคุณหมออธิบายว่า Anti-Aging นั้นเป็นการทำให้มีสุขภาพที่ดีลงลึกในระดับเซลล์ ส่งผลให้อวัยวะและระบบร่างกายต่างๆ ทำงานได้ดีที่สุด

นายแพทย์ไพศิษฐ์ ตระกูลก้องสมุท แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท

“เวชศาสตร์ชะลอวัยครอบคลุมทั้งเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย การนอนหลับ การจัดการความเครียด การลดสารพิษเข้าสู่ร่างกาย หมอจะช่วยวางแผนไลฟ์สไตล์องค์รวมของแต่ละคน ดูระดับการอักเสบ ภาวะขาดวิตามิน สมดุลกรดไขมันที่ดี ระดับอนุมูลอิสระ ฮอร์โมน สมดุลแบคทีเรียที่ดีในร่างกาย สารพิษโลหะหนัก เพื่อป้องกันก่อนเกิดโรคครับ”

ในมุมมองของคุณหมอนั้นการกินอาหาร การนอน และการออกกำลังกายมีความสำคัญในเรื่องชะลอวัยเท่าๆ กัน แต่ต้องรู้จักทำทุกอย่างให้สมดุล ไม่มากเกินและไม่น้อยไป

“อาหารต้องกินให้ครบ 5 หมู่ กินผัก ผลไม้ ธัญพืช อย่ากินหวานและเค็มจนติดเป็นนิสัย ลดเนื้อสัตว์แปรรูป ออกกำลังกายแบบแอโรบิกซึ่งดีต่อหัวใจ ปอด และระบบภูมิคุ้มกันอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ นอนหลับให้ได้ 7 ชั่วโมง การนอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมงจะส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ครับ”

นายแพทย์ไพศิษฐ์ ตระกูลก้องสมุท แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท

ส่วนเรื่องอาหารเสริมที่หลายคนสงสัยว่าควรกินหรือไม่ คุณหมอบอกว่าต้องพิจารณาเป็นบุคคล  เพราะมีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้อง อย่างผู้สูงวัยที่มักพบว่าขาดวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด เช่น วิตามินซี วิตามินบี วิตามินดี แคลเซียม แมกนีเซียม ส่งผลให้เกิดอาการเหน็บชา เป็นตะคริว ผมร่วง เล็บเปราะ หลอดเลือดเปราะ กระดูกบาง และกระดูกพรุน คนที่ไม่ค่อยโดนแสงแดดเสี่ยงต่อการขาดวิตามินดี คนที่ควบคุมน้ำหนักโดยการคุมแคลอรีมีความเสี่ยงต่อการขาดวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ รวมถึงคอกาแฟ ชา หรือน้ำอัดลม กาเฟอีนจะมีส่วนกระตุ้นให้กระดูกสูญเสียแคลเซียมและถูกขับทิ้งทางปัสสาวะมากขึ้น

“การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำจะทำให้ลำไส้ถูกรบกวนและสูญเสียความสามารถในการดูดซึมวิตามิน นอกจากขาดสติแล้วยังขาดกลุ่มวิตามินบี เช่น วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 กรดโฟลิก วิตามินบี 12 ขณะที่คนกินยาบางชนิดเป็นประจำ เช่น ยาคุมกำเนิด ยากันชัก ยารักษาโรคสะเก็ดเงิน ยารักษาวัณโรค จะเสี่ยงต่อการขาดวิตามินบี 6 และกรดโฟลิกเป็นอย่างยิ่งครับ”

นายแพทย์ไพศิษฐ์ ตระกูลก้องสมุท แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท

Note : แม้ว่า Anti-Aging จะเป็นศาสตร์แขนงใหม่ แต่กระแสการดูแลและฟื้นฟูร่างกายของตัวเองนั้นมาแรงและกระจายไปในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงในไทย ซึ่งขณะนี้จะเห็นว่าโรงพยาบาลชั้นนำจะมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลให้คำปรึกษาอย่างเจาะลึก อีกทั้งปัจจุบันหลายสถาบันยังเปิดสอนหลักสูตรเกี่ยวกับด้านนี้ อาทิ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ น่าชื่นใจที่ในวันข้างหน้าเราจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูเพิ่มขึ้นอีกมากมายเลยทีเดียว

เรียบเรียงจากบทความ Stay Young & Healthy! ถึงเวลากิน (เพื่อ) ชะลอวัย โดย พิจิกา ยะหัตตะ คอลัมน์ Cover Story นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 240 เดือน กรกฎาคม 2563


Tag: , Cover story, อาหารชะลอวัย,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed