ขนมไทย : ความอร่อยที่แตกต่างในแต่ละภาค Part 2 (ตอนจบ)

วันที่ 7 กรกฎาคม 2563  9,295 Views

อ่านเพิ่มเติม >> ขนมไทย : ความอร่อยละเมียดละไมที่มีมาช้านาน (Part 1)

ภาพประกอบ : ขนมเสน่ห์จันทน์

ครั้งที่แล้ว G&C ได้พาคุณไปรู้จักกับประวัติความเป็นมา ประเภท และวัตถุดิบหลักของขนมไทย คราวนี้เรากลับมาพร้อมกับขนมไทย 4 ภาค ซึ่งแน่นอนว่าในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างที่ผสมผสานไปด้วยประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อของคนท้องถิ่นนั้นๆ หากลองสังเกตจะพบว่า ขนมไทยมักอยู่คู่กับวิถีชีวิตงานบุญและงานพิธีกรรมต่างๆ อยู่เสมอ

ขนมไทยภาคเหนือ
ชาวเหนือมักจะทำขนมในวันเทศกาลสำคัญ หรืองานบุญทั้งหลาย เช่น เข้าพรรษา สงกรานต์ ซึ่งวัตถุดิบหลักๆ ที่ใช้เลยคือ “ข้าวเหนียว” และเลือกใช้วิธีการต้ม ส่วนผสมที่มีอยู่ทุกๆ งานบุญเลยคือ ขนมเทียน(ขนมจ๊อก) หากพูดถึงขนมที่ได้รับความนิยมทั่วไปของภาคเหนือก็จะมี  ขนมปาด ข้าวอีตู (ข้าวเหนียวแดง) ข้าวแต๋น ขนมเกลือ เป็นต้น และมีขนมบางชนิดที่รับประทานกันในช่วงหน้าหนาวอย่าง  ข้าวหนุกงา ข้าวเกรียบว่าว (ข้าวแคบ) ลูกก่อ ถั่วแปะยี ถั่วแระ เป็นต้น

ขนมไทยภาคกลาง
ส่วนมากขนมไทยของภาคกลางมักทำจาก “แป้งข้าวเจ้า” เช่น ข้าวตัง นางเล็ด ข้าวเหนียวมูน และก็มีขนมชาววังที่สูตรได้เล็ดลอดและเผยแพร่ออกมาสู่ชาวบ้าน ได้แก่ ขนมกลีบลำดวน ลูกชุบ หม้อข้าวหม้อแกง ฝอยทอง ทองหยิบ นั่นเอง ซึ่งขนมพวกนี้นอกจากจะนิยมใช้ในงานบุญแล้วส่วนใหญ่เราจะเห็นอยู่ในงานแต่งอีกด้วย

ภาพประกอบ : ขนมตระกูลทอง

ขนมไทยภาคอีสาน
หลายคนคงสงสัยว่า ภาคอีสานนี้มีขนมด้วยเหรอ จริงๆ ก็มีนะ แต่จะเป็นขนมในลักษณะที่ทำง่ายๆ อย่าง ข้าวจี่ ข้าวเหนียวนึ่งจิ้มน้ำผึ้ง และในงานบุญต่างๆ ชาวอีสานมักจะนิยมทำข้าวประดับดิน (คล้ายข้าวต้มมัด) ขนมปาด (คล้ายขนมเปียกปูน) และและขนมหมก (คล้ายขนมเทียน) ในเดือนที่ 3 ของทุกๆ ปี ทางภาคอีสานจะมีงานประเพณีชื่อว่า “ประเพณีบุญข้าวจี่” ซึ่งแต่ละบ้านก็มักจะทำข้าวจี่ไปทำบุญกันอย่างล้นหลาม

ขนมไทยภาคใต้
คนใต้ก็นิยมทำขนมในช่วงวันสำคัญเช่นกัน (เทศกาลวันสารท เดือนสิบ) ซึ่งชาวใต้จะนิยมทำขนมลา ขนมพอง ขนมไข่ปลา (ขนมกง) ขนมแดง ขนมบ้าหรือขนมลูกสะบ้า ขนมเจาะรู ไปทำบุญ และยังมีขนมพื้นบ้านอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ ขนมหน้าไข่ ขนมด้วง ขนมคอเป็ด เป็นต้น ส่วนประเพณีลากพระ ตักบาตรหน้าล้อ ชาวใต้จะใช้ขนมห่อต้ม และห่อมัดมาทำบุญ นอกจากนี้ยังมีประเพณีให้ทานไฟ ที่ให้ชาวบ้านก่อไฟ และเชิญพระสงฆ์มาผิง ขนมที่ใช้ในการก็จะมี ขนมเบื้อง ขนมครก ขนมกรอก ขนมจูจุน กล้วยแขก ข้าวเหนียวกวน ขนมกรุบ นั่นเอง

วิวัฒนาการของขนมไทย
ขนมไทยถูกพัฒนาจนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากคุณท้าวทองกีบม้าภรรยาเชื้อชาติญี่ปุ่น-โปรตุเกสของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ผู้เป็นกงสุลประจำประเทศไทยในสมัยนั้น และเป็นต้นกำเนิดขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ซึ่งยังคงเป็นที่นิยมจนกลายมาเป็นขนมมงคลอีกด้วย ปัจจุบันขนมไทยมีการพัฒนาไปมากทั้งผสมผสานกับเทคนิคตะวันตก (การอบ) และเปลี่ยนวิธีการนำเสมอ เช่น นำรสขนมไทยมาทำเป็นไอศกรีม หรือนำมารวมกับขนมชาติอื่นให้ทันสมัยขึ้น อาทิ บัวลอยไข่หวานบิงซู และยังมีขนมไทยประยุกต์อื่นๆ อีกมากมาย จนหลายคนอาจไม่รู้เลยว่าเมนูใดเป็นขนมไทยแท้

ที่มา :


Tag: , ขนมมงคล, ขนมโบราณ, ขนมไทย,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed