มะเร็งเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากเซลล์ของร่างกายมีความผิดปกติไปจากเดิม ซึ่งส่งผลให้เซลล์มีขนาด มีการเจริญเติบโต และมีการแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์อย่างรวดเร็วและมากจนผิดปกติ และร่างกายควบคุมไม่ได้ เซลล์เหล่านี้จึงเจริญลุกลามพร้อมกับแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย ส่งผลให้เซลล์ที่ปกติของเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต่างๆ เหล่านี้ได้รับผลกระทบ กลายเป็นเซลล์ผิดปกติ ไม่สามารถทำงานได้ตามหน้าที่ปกติ จนเป็นสาเหตุในการสูญเสียการทำงานและส่งผลให้เสียชีวิตได้
รายงานของ World Cancer Research Fund International ปี 2015 อาหารและปัจจัยที่ส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็ง ได้แก่
- น้ำหนักตัวเกินและอ้วน (Overweight and Obesity) เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งเต้านม มะเร็งท่อน้ำดีและถุงน้ำดี มะเร็งตับ มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น
- เนื้อสัตว์แปรรูป (Processed Meat) เช่น เบคอน แฮม ไส้กรอก เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งกระเพาะอาหาร
- เนื้อแดงปริมาณสูง (Red Meat) เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะ เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
- อาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง (High Glycemic Load) เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งมดลูก (Endometrium)
- อาหารที่มีสารพิษจากเชื้อราชื่อว่า “อะฟลาท็อกซิน” (Aflatoxin) เช่น ถั่วและธัญพืชเมล็ดแห้ง พริกแห้ง ผลไม้แห้ง พริกไทยป่น เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งตับ
- อาหารที่มีการถนอมอาหารด้วยเกลือ (Food Preserved by Salting) เช่น ผักดอง เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งกระเพาะอาหาร
- แอลกอฮอล์ (Alcohol) เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งช่องปากและลำคอ มะเร็งหลอดอาหารและมะเร็งกระเพาะอาหาร
- ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทเบตา-แคโรทีน (Beta-carotene Supplements) เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอด
ความต้องการของผู้ที่เป็นมะเร็ง
อาหารหมู่ที่ 1 : ข้าว แป้ง น้ำตาล
สารอาหาร คาร์โบไฮเดรต
เน้นคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการทำให้สุก เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของคนที่เป็นมะเร็งค่อนข้างจะต่ำ ดังนั้นอาหารควรผ่านความร้อนและปรุงสุกใหม่ รับประทานทันที ไม่ควรทิ้งไว้นานหรือวางทิ้งไว้ พยายามเลือกธัญพืชหรือธัญชาติที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือขัดสีที่น้อยเพื่อให้ได้สารอาหารและสารพฤกษเคมีที่มากกว่า พยายามปรุงประกอบอาหารให้ได้ข้าว แป้ง ที่อ่อนนุ่ม เพื่อให้ย่อยและดูดซึมง่าย ปริมาณ 8-12 ทัพพีต่อวัน
อาหารหมู่ที่ 2 : เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่วเมล็ดแห้ง
สารอาหาร โปรตีน
มีความสำคัญมาก เนื่องจากในคนที่เป็นมะเร็งมีอัตราการสลายโปรตีนของร่างกายเพิ่มขึ้นกว่าคนปกติ จึงจำเป็นต้องได้รับโปรตีนที่มีกรดอะมิโนจำเป็นต่อร่างกายให้ได้เพียงพอ โปรตีนยังทำหน้าที่ช่วยรักษาระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้มีระบบที่ดี หากร่างกายไม่ได้รับโปรตีนเพียงพอจะยิ่งเร่งการสลายโปรตีนของกล้ามเนื้อออกมา แหล่งโปรตีนที่มีกรดอะมิโนจำเป็น เช่น เนื้อปลา เนื้ออกไก่ ไข่ นม ถั่วซีก (ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วขาว ถั่วดำ) ถั่วเปลือกแข็ง หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านการปรุงสุกหรือให้ความร้อนที่ไม่พอเหมาะ ปริมาณ 1-1.5 กรัม/กิโลกรัมต่อวัน หรือวันละ 8-15 ช้อนกินข้าว
อาหารหมู่ที่ 3 : ไขมันและน้ำมัน
สารอาหาร ไขมัน
เนื่องจากร่างกายมีความต้องการพลังงานสูงขึ้น ร่วมกับการอักเสบของร่างกายเพิ่มขึ้น อาหารกลุ่มไขมันมีความสำคัญทั้งเรื่องการให้พลังงาน ช่วยดูดซึมวิตามิน และไขมันที่มีกรดโอเมกา-3 ช่วยลดการอักเสบ ขณะเดียวกันไขมันบางประเภทอาจยิ่งเร่งให้เกิดการอักเสบได้ ดังนั้นจึงควรเลือกไขมันให้ได้ทั้งคุณภาพและปริมาณที่เหมาะสม เลือกไขมันและน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวเป็นหลัก เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันเมล็ดชา น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา น้ำมันจากเมล็ดแฟลกซ์ ถั่วเปลือกแข็ง หลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ ปริมาณ 20-35 % ของพลังงาน
อาหารหมู่ที่ 4 : ผัก
สารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุ
ผักและผลไม้รวมกันควรให้ได้ 400 กรัมต่อวัน เลือกผักหลากหลายสีสัน และหากเลือกผักออร์แกนิกได้จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการได้รับสารตกค้างจากยาฆ่าแมลง พยายามเลือกผักที่ผ่านการปรุงสุก เช่น นึ่ง ต้ม อบ เพราะจะย่อยง่ายกว่าและหลีกเลี่ยงเชื้อต่างๆ ที่อาจติดมากับผักที่ไม่สะอาดได้ เลือกผักที่มีคุณสมบัติเป็นสมุนไพรในเมนูอาหาร เช่น กระเทียม หัวหอม ใบกะเพรา ใบแมงลัก ใบโหระพา ผักตระกูลกะหล่ำซึ่งมีสารอาหารสำคัญในการต้านการอักเสบ ผักตระกูลกะหล่ำ ได้แก่ บรอกโคลี ดอกกะหล่ำ กะหล่ำปลี และคะน้า ผักกลุ่มแครอต มะเขือเทศ มีเบตา-แคโรทีนและไลโคปีนช่วยลดเซลล์มะเร็ง ปริมาณ ผัก 3-5 ฝ่ามือต่อวัน
อาหารหมู่ที่ 5 : ผลไม้
สารอาหาร วิตามินและแร่ธาตุ
เลือกผลไม้หลากหลายสี เพราะแต่ละสีให้คุณสมบัติที่ดีต่อสุขภาพต่างกัน เช่น สีม่วง สีเขียว สีขาว สีส้ม สีแดง ล้างผลไม้ให้สะอาดเพื่อลดยาฆ่าแมลงหรือสารเคมีที่อาจตกค้าง หรือพวกเชื้อราต่างๆ ที่อาจติดมาได้ ควรปอกเปลือกเพื่อช่วยลดสารเคมีต่างๆ ผลไม้ที่มีสีม่วงแดงมีรงควัตถุชื่อว่า “แอนโทไซยานิน” ซึ่งช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดเซลล์มะเร็ง เช่น พืชตระกูลเชอร์รี เบอร์รีต่างๆ องุ่น ผักผลไม้สีส้มมีสารเบตา-แคโรทีน ลูทีน และซีแซนทีน สารต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ส้ม ฟักข้าว ปริมาณวันละ 2-3 ส่วน โดย 1 ส่วนประมาณ 1 ฝ่ามือ
ตารางพลังงานและสารอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งตามคำแนะนำของ ESPEN ปี 2014 และ World Cancer Research Fund International ปี 2015
ตารางแสดงผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์จากการทำบำบัดรักษามะเร็ง
Tag:
, Food for life, โรคมะเร็ง,
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น