“ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” คงเป็นประโยคที่คนไทยอ้างถึงความสมบูรณ์บนผืนแผ่นดินของเราเสมอมา แต่สำหรับพื้นที่สูงทางภาคเหนือที่ห่างไกลความเจริญ ความอุดมสมบูรณ์ที่ว่าแทบจะไปไม่ถึง แต่ด้วยน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีพระราชดำริจัดตั้งมูลนิธิโครงการหลวงก็นับเป็นการพลิกฟื้นชีวิต ทำให้พื้นที่เหล่านี้กลายเป็นแผ่นดินทองแหล่งรวมผลิตภัณฑ์อาหารชั้นดีและองค์ความรู้ด้านการเกษตรที่กำลังเป็นแบบอย่างของนานาประเทศ
★ The Road of Royal Project : เส้นทางของมูลนิธิโครงการหลวง ★
เชื่อว่าหลายคนคงยังไม่รู้ว่า “มูลนิธิโครงการหลวง” (Royal Project Foundation) นับเป็นหนึ่งในโครงการส่วนพระองค์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำริเองและทรงงานเองทั้งหมด
จุดกำเนิดของมูลนิธิโครงการหลวงเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 ขณะที่พระองค์ทรงเสด็จประพาสต้นบนดอยแล้วทอดพระเนตรเห็นการปลูกฝิ่นของชาวเขาและเห็นว่าเป็นภัย แต่จะให้พวกเขาเลิกปลูกไปเลยก็จะพาลทำให้ชาวเขาไม่มีอาชีพ ด้วยความห่วงใยพระองค์ท่านจึงรีบรับสั่งให้หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี (ประธานมูลนิธิโครงการหลวงในปัจจุบัน) ที่ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปถวายงานในครั้งนั้นให้รีบหาพืชมาทดแทนการปลูกฝิ่น ซึ่งพืชชนิดแรกๆ ก็มีตั้งแต่ถั่วแดง (Red Kidney Bean) จากแคลิฟอร์เนียที่ให้ผลผลิตดี เมล็ดใหญ่ อันเป็นที่มาของชื่อ “ถั่วแดงหลวง” (“หลวง” แปลว่า “ใหญ่”) หรือจะเป็นท้อ (Peach) ที่นำพันธุ์พื้นเมืองมาผสมกับพันธุ์จากฟลอริดาจนได้ผลผลิตที่ได้ราคาดีไม่แพ้ฝิ่น (แต่ใช้พื้นที่น้อยกว่า) จากความสำเร็จดังกล่าวก็นับเป็นก้าวเล็กๆ ที่ทำให้พระราชดำริของพระองค์เป็นรูปเป็นร่าง จนก่อตั้งเป็นมูลนิธิโครงการหลวงเป็นผลสำเร็จในปี พ.ศ. 2535
จากนั้นโครงการหลวงก็ค่อยๆ เติบโตขึ้นจากการร่วมมือของหลายภาคส่วน โดยเฉพาะจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่แบ่งงานกันทำในส่วนของไม้ผล ไม้ดอก และผักตามลำดับ แต่โครงการส่วนใหญ่ล้วนเริ่มต้นจากศูนย์เลยก็ว่าได้ เพราะจุดประสงค์หลักของโครงการคือการหาพืชเมืองหนาวสำหรับการปลูกบนพื้นที่สูง ขณะเดียวกันก็ควรจะเป็นพืชพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเปิดตลาดและให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่มีราคาดี ขณะเดียวกันคนไทยเองก็จะได้ลิ้มลองอาหารที่ไม่เคยชิมที่ไหน
อีกทั้งการทำการตลาดเริ่มแรกยังน่ารักแบบสุดๆ เพราะมีตั้งแต่การนำตะกร้าใส่ผักสลัด (ของยอดฮิตตลอดกาล) ที่ปลูกได้ไปวางตามหน่วยงานใหญ่ๆ ขายให้แก่พนักงาน จนในที่สุดก็มาได้สถานที่ตลาดขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) อย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน และอีก 10 สาขาในกรุงเทพฯเช่นเดียวกับศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 38 แห่งที่กินพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูนที่กลายเป็นแหล่งความรู้และอาหารที่สำคัญมากกว่า 100 ชนิด
ดังนั้นเพื่อให้ทุกคนเข้าใจและรักโครงการหลวงมากยิ่งขึ้น เราได้ ดร. ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดมูลนิธิโครงการหลวง และผู้เชี่ยวชาญเรื่องการปลูกสตรอว์เบอร์รีมาบอกเล่าเรื่องราวลึกแต่ไม่ลับเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แสนอร่อยของโครงการหลวงให้เราได้ซึมซับความอร่อยกันยิ่งขึ้น
★ ข้าวดอย (Highland Rice) : ต้นข้าวบนพื้นที่สูง ★
ปกติแล้วเราคงคุ้นชินกับภาพของแปลงนากว้างใหญ่ไพศาลที่มีต้นข้าวเขียวชอุ่มอยู่ในดินชุ่มน้ำ แต่สำหรับข้าวดอยแล้วคงต้องบอกว่า “น้ำ” แทบไม่ต้องใช้
เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารหลักแล้ว แม้พื้นที่จะอยู่สูงข้าวแสนอร่อยของเราก็สามารถเจริญเติบโตได้อย่างงดงาม แถมยังมีเหลือกินเหลือใช้อีกต่างหาก ด้วยภูมิปัญญาการปลูกข้าวของชาวเขาที่มักเลือกใช้พันธุ์ข้าวมากกว่า 2 พันธุ์ในทุกการปลูก เพื่อลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติ แต่นั่นทำให้ข้าวโตแบบสะเปะสะปะ ระยะสุกแก่ก็ไม่พร้อมกัน ทั้งยังส่งผลให้คุณภาพลดลงอีกด้วย ด้วยเหตุนี้โครงการหลวงจึงเข้าไปศึกษาเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ที่บริสุทธิ์และเหมาะสมแก่การปลูกในพื้นที่มากที่สุด พร้อมกับให้ความรู้และรับซื้อผลิตภัณฑ์
ข้าวที่ปลูกบนดอยมี 2 รูปแบบคือการปลูกแบบสภาพไร่ หรือ “ข้าวไร่” เป็นข้าวที่ปลูกตามไหล่เขา และไม่มีคันนาสำหรับเก็บกักน้ำ นิยมใช้พันธุ์ข้าวท้องถิ่นในการปลูก และการปลูกแบบสภาพนาที่เรียกกันว่า “ข้าวนาน้ำน้อย” เป็นการปลูกข้าวโดยขังน้ำหลังปักดำประมาณ 2-3 สัปดาห์ก่อนจะระบายน้ำออกให้แห้ง ซึ่งการปลูกแบบนี้นอกจากจะเป็นการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าแล้ว ระยะวันในการเก็บเกี่ยวยังสั้นกว่าอีกด้วย
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ข้าวดอยโครงการหลวงแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ข้าวกล้องดอย ข้าวดอยซ้อมมือ และปลายข้าวกล้อง โดยมีพันธุ์หอมนิลและข้าวเหนียวก่ำเป็นพันธุ์หลัก
★ สตรอว์เบอร์รี (Strawberry) : เปลี่ยนเปรี้ยวให้เป็นหวาน ★
เมื่อคิดถึงรสชาติของสตรอว์เบอร์รีไทยแท้ผลเล็กขึ้นมาเมื่อไร เชื่อว่าหลายคนคงหยีตาขึ้นมาพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ความจริงแล้วสตรอว์เบอร์รีเหล่านั้นเป็นพันธุ์มาจากสหรัฐอเมริกา (นำเข้ามาในปี พ.ศ. 2522) ที่มีข้อดีฉีกกฏความเปรี้ยวปรี๊ดอยู่ที่ความทนทานสามารถสู้ไวรัสในบ้านเราได้อย่างเข้มแข็ง
แต่โครงการหลวงก็ไม่ปล่อยให้เราทนเปรี้ยวไว้นาน เพราะหากนึกถึงความหวานเราคงนึกถึงสตรอว์เบอร์รีญี่ปุ่นเป็นอันดับต้นๆ ด้วยเหตุนี้โครงการหลวงจึงนำพันธุ์จากญี่ปุ่นมาศึกษาและพัฒนากันอย่างเต็มรูปแบบที่โครงการหลวงดอยปุย โดยมีอาจารย์จากญี่ปุ่นมาดูปีละ 2 ครั้งในช่วงเดือนเมษายนและกันยายน ซึ่งกว่าจะได้พันธุ์แท้ก็ต้องผ่านกระบวนการปลูกและชิม ชิมและปลูก จนได้ป๊อปปูลาโหวตที่ถูกใจทุกคนมากที่สุด ซึ่งไม่ได้ต่างจากการปลูกและการดูแลรักษาที่เรียกว่าเป็น “งานประณีต” เลยทีเดียว
เรื่องราวการปลูกสตรอว์เบอร์รีนั้นเริ่มตั้งแต่การเตรียมแปลงที่ต้องให้ได้ระดับพอดีกับขนาดของต้น เนื่องจากต้นสตรอว์เบอร์รีเป็นไม้พุ่มเตี้ย ขยายต้นด้วยวิธีการไหลเป็นกอใหม่ (หรือเรียกกันว่าต้นไหล) และมีรากค่อนข้างตื้น ทำให้เกษตรกรต้องดูแลเหง้า (ยอดส่วนที่ติดกับรากและใบ) ของต้นแม่พันธุ์เป็นพิเศษ เพราะถ้าเหง้าอยู่ใต้ดินเกินไปก็จะทำให้ต้นเน่าทั้งแผง ขณะเดียวกันถ้าเหง้าอยู่สูงเกินไปก็จะทำให้ต้นแห้งไม่อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งผลสตรอว์เบอร์รีก็โดนน้ำไม่ได้เพราะจะช้ำและเน่าง่าย เอาเป็นว่าเกษตรกรจะต้องคอยดูแลจับตาทุกฝีก้าว
สำหรับใครที่อยากลองชิมดาวเด่นของสตรอว์เบอร์รีในตอนนี้ต้องยกให้กับพันธุ์พระราชทาน 80 ที่มีจุดเด่นอยู่ที่สีแดงสด เนื้อผลแน่น ทั้งกลิ่นและรสมีความหอมหวาน และอย่าลืมเตรียมพบกับพันธุ์พระราชทาน 88 ที่ว่ากันว่าผลใหญ่และหวานกรอบเลยทีเดียว
★ เสาวรส (Passion Fruit) : จับดอกจึงออกผล ★
หากเป็นเมื่อสัก 10 ปีก่อนเราแทบไม่คุ้นกับผลไม้ที่ชื่อเสาวรสแม้แต่น้อย เพราะไม่ได้โชว์โฉมให้เห็นหน้าค่าตากันสักเท่าไร ทั้งที่ความจริงแล้วผลไม้ชนิดนี้เข้ามาจากประเทศบราซิลราวๆ 30-40 ปีก่อน
เสาวรสเป็นพันธุ์ไม้เขตร้อนประเภทเถาเลื้อย มีอยู่ 2 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ผลสีเหลืองที่นิยมปลูกกันในบริเวณพื้นที่ราบภาคตะวันตกและพันธุ์สีม่วงที่นิยมปลูกกันในพื้นที่สูงกว่า 800 เมตรเหนือระดับทะเลปานกลาง แม้ดูเหมือนว่าเสาวรสจะเป็นพืชปลูกง่ายและเก็บผลได้เร็ว แต่ขั้นตอนการพัฒนาก็มีช่วงสะดุดอยู่เล็กน้อย เมื่อชาวเขาเผ่าม้งที่นำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกตอนแรกขาดการควบคุมจนต้นที่เกิดมากลายพันธุ์ไปเกือบหมด โครงการหลวงจึงอาสาเข้ามาพัฒนาพันธุ์อย่างจริงจังในช่วง 2 ปีหลังด้วยการทดลองปลูกในโรงเรือนเพื่อป้องกันไม่ให้มดไต่และไรตอม นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าสุดน่ารักเกี่ยวกับดอกบานๆ ของเสาวรสที่บางดอกไม่สามารถผสมพันธุ์ได้เอง เราก็มีวิธีด้วยการจับรวบจากโคนดอกขึ้นมาข้างบนในคราวเดียว เพียงเท่านี้ดอกก็จะหุบแล้วก็กลายเป็นผลกลมๆ ที่รอคอย
ด้วยความตั้งใจในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โครงการหลวงก็ได้กระซิบมาว่าตอนนี้มีเสาวรสพันธุ์ผลสีม่วงเกรดพรีเมียม ผลกลมสวย เนื้อในสีเหลือง มีความหวานซ่อนอยู่ข้างใน กำลังรอให้ทุกคนเป็นเจ้าของจับจองในเร็วๆ นี้
★ อะโวคาโด (Avocado) : ไม้ผลลูกผสม ★
แม้อะโวคาโดจะเป็นน้องใหม่มาแรงในโลกอาหารสุขภาพ เพราะอุดมด้วยวิตามินและไขมันที่มีประโยชน์ แต่สำหรับโครงการหลวงแล้วอะโวคาโดนับเป็นไม้ผลเก่าแก่ของโครงการเลยทีเดียว
การปลูกอะโวคาในประเทศไทยเริ่มต้นราวๆ 30 ปีที่แล้ว เมื่อมีอาจารย์ใจดีท่านหนึ่งนำพันธุ์อะโวคาโดจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาปลูกแถวๆ อำเภอปากช่อง แต่ถ้านับสืบย้อนไปมากกว่านั้นคนทางเหนือเล่ากันว่าเห็นอะโวคาโดมาตั้งแต่ตอนมีมิชชันนารีขึ้นเขามาสอนศาสนาซึ่งไม่น่าจะต่ำกว่า 100 ปีมาแล้ว ก่อนที่โครงการหลวงนำพันธุ์มาเผยแพร่ในช่วงปี พ.ศ. 2523 ลงปลูกบริเวณตำบลบ้านปง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้กลายเป็นพื้นที่ปลูกอันดับ 1 ของประเทศ โดยมีตำบลหนองเขียว อำเภอเชียงดาว ตามมาเป็นอันดับ 2
ลักษณะพิเศษของอะโวคาโดคือเป็นพืชเขตร้อนกึ่งหนาว เหมาะแก่การปลูกในบริเวณที่มีความสูงประมาณ 600-1,000 เมตร ทางภาคเหนือจึงเป็นพื้นที่อันแสนจะเหมาะเจาะ ฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่เราจะเห็นอะโวคาโดหน้าตาแปลกๆ (บ้างก็เหมือนแตงกวา) นั่นเกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ไปมา ทำให้โครงการหลวงเข้าไปพัฒนาพันธุ์และให้ความรู้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง พันธุ์ที่ส่งเสริมกันก็มีปีเตอร์สัน (Peterson) บัคคาเนีย (Buccaneer) บูท 7 (Booth-7) และพันธุ์ยอดนิยมทรงมาตรฐานอย่างแฮส (Hass) ที่พี่เกษตรกรเล่าว่าชอบกินน้ำมากที่สุด เพราะพอแล้งเมื่อไรก็มีงอนออกลูกน้อยทันที
★ เห็ดพอร์โทเบลโล (Portobello) : เห็ดดอกโตสุดอร่อย ★
จากการบ่มเพาะมานานกว่า 40 ปีทำให้ผลิตภัณฑ์เห็ดเมืองหนาวนับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของโครงการหลวง นอกจากจะทำรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างเป็นกอบเป็นกำแล้ว การเพาะเห็ดยังเป็นการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างคุ้มค่า เช่นเดียวกับผู้บริโภคอย่างเราที่มีโอกาสได้ชิมผลิตภัณฑ์เห็ดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเห็ดหลินจือ เห็ดหอม เห็ดแชมปิญอง เห็ดปุยฝ้าย (ยามาบูชิตาเกะ) รวมทั้งเห็ดพอร์โทเบลโลดอกโตเนื้อแน่นที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด
เห็ดพอร์โทเบลโลจัดอยู่ในตระกูลเห็ดกระดุมเช่นเดียวกับเห็ดแชมปิญอง เห็ดในตระกูลนี้สามารถเพาะในวัสดุที่เป็นฟางข้าวและอ้อยได้ โครงการหลวงจึงริเริ่มผลิตเห็ดชนิดนี้โดยนำเข้าจากออสเตรเลียเมื่อปี พ.ศ. 2553 เพาะครั้งแรกที่ดอยอ่างขาง ก่อนส่งไปยังเกษตรกรบ้านขอบด้งดูแลกันอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งมาพร้อมการทดลองเล็กๆ ให้เหล่าเห็ดเจริญเติบโตในแสงสีต่างๆ ตอนนี้แสงสีที่เห็ดชอบมากที่สุดก็คือสีฟ้า หลังจากเคยประท้วงออกดอกน้อยหลังจากอยู่ในแสงสีเหลืองมานานสองนาน
เมื่อได้เติบโตในแสงที่ชอบแล้ว ผลผลิตพอร์โทเบลโลจึงดีวันดีคืน โดยมีออร์เดอร์จากสิงคโปร์มารับตลอด แต่คนไทยก็ไม่ต้องน้อยใจไป เพราะที่ร้านโครงการหลวงก็มีให้เราได้ซื้อหากันอย่างแน่นอน
★ ชาออร์แกนิก (Organic Tea) : ชาดีดูที่ยอดชา ★
การพัฒนาชาของไทยเริ่มต้นเมื่อราวๆ พ.ศ. 2480 ก่อนที่โครงการหลวงจะนำชาจีนมาส่งเสริมให้ชาวเขาปลูก เนื่องจากเห็นว่ามีภูมิอากาศที่เหมาะสมลงตัว โดยชาจีนที่แนะนำให้ปลูกนั้นมี 2 พันธุ์ด้วยกัน ได้แก่ พันธุ์หย่วนจืออู่หลง มีลักษณะใบเล็กสีเขียวเข้ม ขอบใบเป็นหยักละเอียดคลายฟันเลื่อย เป็นพันธุ์ที่ให้กลิ่นหอมและรสชาติดี และพันธุ์เบอร์ 12 โดดเด่นที่ลำต้นสูง กิ่งก้านยาว และใบกว้างกว่า ส่วนขอบใบก็หยักเช่นเดียวกัน แต่มีความหยาบกว่า ข้อดีของพันธุ์นี้คือให้ผลผลิตสูงและมีใช้น้ำน้อยกว่าพันธุ์แรก
แหล่งปลูกชาของโครงการหลวง ได้แก่ อ่างขาง ม่อนเงาะ ขุนวาง และห้วยน้ำขุ่น นอกจากนี้ยังมีการผลิตชาออร์แกนิกบริเวณสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง โดยปลูกบริเวณแปลง 2000 ไร่ ซึ่งชาวเขาเผ่าปะหล่องเคยปลูกผักร่วมกับแปลงชา แต่ภายหลังจากต้นชามีอายุ 2 ปีจึงมีนโยบายหยุดการปลูกผักในแปลงดังกล่าว ก่อนจะส่งผลให้ต้นชาเริ่มเจริญงอกงาม เพราะได้รับการดูแลรักษาอย่างดี ทั้งยังได้รับปุ๋ยและน้ำจากการดูแลรักษาผลผลิตผักไปพร้อมกันอีกด้วย
นอกจากชาจีนที่แปรรูปออกมาเป็นชาแดงและชาเขียวแล้ว โครงการหลวงยังมีชาสมุนไพรรสชาติดีให้จิบกันอีกด้วย
★ ฟิก (Fig) : มะเดื่อเพิ่มพลัง ★
ถ้าเทียบกับผลไม้ชนิดอื่นๆ ที่ริเริ่มปลูกในโครงการหลวงคงต้องบอกว่าฟิกเป็นหนึ่งในผลไม้ที่น่ารัก อยู่ง่าย โตไว เก็บผลได้ตลอดทั้งปี ไม่ได้ต้องการความหนาวเย็นมากนัก
พันธุ์ของลูกฟิกที่ปลูกในประเทศไทยมีที่มาจากหลายประเทศด้วยกัน อาทิ ตุรกี ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ปลูกกันมากที่มูลนิธิโครงการหลวงดอยอินทนนท์มาประมาณเกือบ 10 ปีแล้ว แต่เวลานั้นคนไทยไม่นิยมกินฟิกสดและมักเลือกกินลูกฟิกแห้งจากต่างประเทศกันมากกว่า ทำให้ลูกฟิกของโครงการหลวงเหลือไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัม แต่โชคยังดีที่ 2-3 ปีให้หลังคนไทยรู้จักและกินฟิกสดกันมากขึ้น เช่นเดียวกับเมนูจากลูกฟิกที่มีให้เห็นตามร้านอาหารต่างๆ
นอกจากนี้ลูกฟิกยังเป็นไม้ผลที่มีคุณค่ามหาศาล ช่วยเสริมสร้างพลังวังชา ในสมัยโบราณนักรบชาวโรมันก็กินฟิกแห้งระหว่างรบ ที่สำคัญยังเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางจิตใจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา เพราะทุกครั้งที่พระองค์ทรงพระประชวรเมื่อไร่ สมเด็จย่าฯ ก็จะนำลูกฟิกมาให้พระองค์ท่านเสวยแทบทุกครั้ง
★ กาแฟ (Coffee) : กาแฟดอยของโครงการหลวง ★
หากมองย้อนประวัติศาสตร์การปลูกกาแฟของไทยเรียกว่าลุ่มๆ ดอนๆ อยู่พอสมควร เพราะต้นกาแฟเจอโรคราสนิมที่กัดกินใบจนอยู่ไม่ไหว เกษตรกรจึงล้มเลิกการปลูกกันไปหลายครั้งหลายหน
แต่แล้วความหวังก็กลับมาอีกครั้งเมื่อหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวงได้พบกับนายอำเภอจากประเทศปาปัวนิวกินีที่ตั้งคำถามกับหม่อมเจ้าภีศเดชว่าทำไมถึงไม่ปลูกกาแฟ ทั้งๆ ที่สภาพอากาศทางภาคเหนือก็ไม่ได้แตกต่างจากบ้านเขาเลย (แต่ที่นั่นต้องหลบมนุษย์กินคน!) จากคำถามสั้นๆ ที่ดูเหมือนไม่ตั้งใจ แต่กลับเป็นการจุดประกายให้โครงการหลวงนำเมล็ดกาแฟอะราบิกามาทดลองปลูกอย่างจริงจัง ราวๆ ปี พ.ศ. 2515-2517 กาแฟที่โครงการหลวงนำเข้ามาเป็นตัวแรกคือกาแฟบลูเมาท์เทน (Blue Mountain) ลงปลูกที่สวนสองแสน ดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ แล้วพัฒนาต่อยอดพันธุ์กาแฟอีก 2-3 โครงการ โดยมีศูนย์การวิจัยหลักอยู่ที่ศูนย์วิจัยและส่งเสริมกาแฟอะราบิกาบ้านแม่หลอด อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
กาแฟที่โครงการหลวงนำเข้ามาเพื่อแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านมีหลากหลายพันธุ์ด้วยกัน อาทิ ทิปปิกา (Typica) ที่ปลูกในเอธิโอเปียและเยเมน เบอร์บอน (Bourbon) คาทุย (Catuai) และคาทูรา (Catura) จากบราซิล รวมทั้งไฮบริโด เดอ ติมอร์ (Hibrido de Timor) ที่เกิดจากการผสมกันเองตามธรรมชาติของโรบัสตาและอะราบิกาในประเทศติมอร์ ส่วนสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดต้องยกให้กับคาติมอร์ (Catimor) ซึ่งเกิดจากการผสมระหว่างไฮบริโด เดอ ติมอร์ และคาทูรา เนื่องจากมีความทนทานและเหมาะกับสภาพอากาศบ้านเรามากที่สุด
ปัจจุบันโครงการหลวงมีศูนย์วิจัยกาแฟกว่า 38 แห่ง โดยเฉพาะที่โครงการหลวงป่าเมี่ยง (ที่ต้นกาแฟจะถูกปล่อยให้โตตามธรรมชาติใต้ต้นเมี่ยง) โครงการหลวงตีนตก และโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น ขณะเดียวกันก็รับซื้อกาแฟจากชาวบ้านอีกทางหนึ่งด้วย ดังนั้นถ้าใครอยากลิ้มลองรสชาติกาแฟที่เกิดจากความตั้งใจและทุ่มเทของชาวบ้านแล้วล่ะก็ สามารถแวะไปชิมและซื้อติดมือกลับบ้านได้ที่ร้านกาแฟโครงการหลวงตลาด อ.ต.ก.
★ ประมงและปศุสัตว์ (Happy Animal) : สิ่งมีชีวิตอารมณ์ดี ★
นอกจากพืชผักผลไม้แล้วโครงการหลวงยังส่งเสริมให้เลี้ยงสัตว์เมืองหนาวอีกด้วย แต่ทั้งหมดยังอยู่ในปริมาณที่ไม่โตมากนัก เพื่อเป็นการให้สัตว์น้อยใหญ่ได้มีความสุขในพื้นที่ของตนเองและให้เกษตรกรได้มีเวลาเรียนรู้วิธีการเลี้ยงกันไป
ผลิตภัณฑ์ที่สำคัญในตอนนี้ก็มีไก่เบรสจากฝรั่งเศสที่ชอบอยู่บนที่สูงอากาศดี ปลาสเตอร์เจียนที่นำพันธุ์มาจากรัสเซีย จีน และไต้หวัน นำมาทำคาเวียร์แบบไทยๆ เรนโบว์เทราต์จากเยอรมนีที่มีบ่อใหญ่อยู่ที่ดอยอินทนนท์ เนื่องจากปลาเทราต์ต้องอยู่ในบ่อที่มีอุณหภูมิติดลบ เลยต้องปิดบ่อเพื่อรักษาความเย็น เพราะถ้าอากาศร้อนปลาจะไม่กินอาหาร ซึ่งช่วงเวลาเปิดบ่อจะอยู่ในช่วงกันยายนนี้พอดิบพอดี
นอกจากนี้ยังมีน้องใหม่อย่างปูขนที่สภาวะตอนนี้ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะอัตราการรอดอยู่ที่ครึ่งต่อครึ่ง เราจึงได้แต่แอบลุ้นว่าจะได้มีโอกาสชิมปูขนที่เกิดในแผ่นดินไทยหรือไม่
★ Food for Future : ก้าวต่อไปของโครงการหลวง ★
จากการทำงานมาอย่างยาวนาน สิ่งที่ล้ำค่าที่สุดในตอนนี้ก็คือองค์ความรู้ที่ได้จากการพืชพันธุ์ใหม่ที่ไม่คิดว่าจะหาปลูกหากินได้ในบ้านเรา โครงการหลวงจึงเป็นพื้นที่ตัวอย่างที่ต่างชาติกำลังให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นพม่า ลาว อัฟกานิสถาน โดยเฉพาะภูฏานที่สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุกได้มาขอพระราชทานแนวทางความรู้ รวมถึงชื่อ “โครงการหลวง” (Royal Project of Bhutan) ไปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งคนไทยอาจมีโอกาสได้เห็นความก้าวหน้าในเร็ววันนี้
เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะทยอยออกสู่สายตาในทุกๆ ปี อย่างในปีนี้เราจะได้เห็นมันเทศญี่ปุ่นและข้าวโพดหวานสีม่วงเป็นพระเอก ขณะเดียวกันก็อาจจะมีอีกหลายชนิดที่ต้องจากไปอย่างสาลี่ ที่ให้ผลผลิตน้อยเนื่องจากอากาศเย็นไม่พอ แต่ถึงกระนั้นงานของโครงการหลวงยังมีอีกก้าวที่ท้าทายยิ่งกว่า เพราะอย่าลืมว่าโครงการหลวงมีหน้าที่ส่งเสริมให้ความรู้แก่เกษตรกรอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำต่อไปนอกจากการร่วมมือกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) เพื่อเผยแพร่ความรู้ไปยังจังหวัดต่างๆ แล้ว การกำหนดเทรนด์อาหารใหม่ๆ ให้แก่ผู้บริโภคก็เป็นเรื่องที่โครงการหลวงให้ความใส่ใจ โดยเฉพาะงานเกษตรอินทรีย์ (ออร์แกนิก) ควบคู่กับการคิดค้นหาวิธีเพิ่มผลผลิตด้วยการใช้พื้นที่ให้น้อยที่สุด (ไม่ต้องแผ้วถางที่ทางเพิ่ม) ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการรักษาต้นน้ำลำธารให้คงอยู่กับเราไปนานๆ นั่นเอง
เห็นทีคงต้องยกมือสมัครเป็นแฟนคลับโครงการหลวงกับเขาเสียแล้ว
แหล่งข้อมูล
- บทสัมภาษณ์ ดร. ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด มูลนิธิโครงการหลวง
- สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแกน้อย
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองเขียว
- ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก
- www.hrdi.or.th
Tag:
, ผลิตภัณฑ์โครงการหลวง, โครงการหลวง,
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น