เรื่องเล่าของเสวย

วันที่ 18 ตุลาคม 2560  4,851 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 197 เดือนธันวาคม 2559

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คงมีมาให้พสกนิกรชาวไทยฟังอย่างไม่รู้เบื่อ เมื่อแต่ละเรื่องล้วนเป็นเรื่องที่งดงาม สดใส และเรียกรอยยิ้มที่หายไปของพวกเราให้กลับคืนมาอีกครั้ง เช่นเดียวกับอีกหนึ่งเรื่องเล่า “ของเสวย” ซึ่งจะมาเผยมุมอร่อยที่ทุกคนคิดถึง

เรื่องเล่าของเสวย

★ เมนูยอดฮิต “ไข่พระอาทิตย์” 

เชื่อว่า “ไข่พระอาทิตย์” คงกลายเป็นเมนูสามัญประจำบ้านของใครหลายคนกันไปแล้ว เพราะเมนูนี้ไม่เพียงแต่จะทำได้ง่ายแบบรวดเดียวอิ่มเท่านั้น หากแต่ยังเป็นสิ่งแสดงถึงสายใยรักระหว่างพ่อกับลูกอีกด้วย

เมนูนี้ปรากฏครั้งแรกในหนังสือที่มีชื่อว่า “สูตรอาหารต้นตำรับข้าวหอมมะลิไทยในครัวนานาชาติ” อันเป็นหนังสือของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่จัดพิมพ์เพื่อประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ภายในหนังสือเล่มนี้ได้อัญเชิญลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีมาบันทึกไว้เพื่อบอกเล่าถึงที่มาของเมนูสุดอร่อยว่า

“เมื่อข้าพเจ้ายังเด็ก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยทรงประกอบอาหารพระราชทานเรียกว่า ‘ไข่พระอาทิตย์’”

วิธีทำนั้นก็ให้เลือกไข่ไก่มา 1 ฟอง ก่อนจะตอกและนำมาตีให้เข้ากันเหมือนเวลาทำไข่เจียว แต่ไม่ต้องออกแรงมาก หลังจากนั้นให้ใส่ข้าวหอมมะลิ 1 ทัพพี ปรุงรสด้วยซอสปรุงรสหรือน้ำปลาตามชอบ (พระองค์โปรดใช้น้ำปลามากกว่า) คลุกให้เข้ากัน ก่อนจะตั้งกระทะ ใส่น้ำมันเล็กน้อย เทส่วนผสมไข่ลงในกระทะ รอจนสุก ความอร่อยของเมนูนี้จะอยู่ที่ขอบไข่กรอบๆ ส่วนตรงกลางนั้นจะฉ่ำๆ เล็กน้อย

ส่วนคำถามถึงที่มาของชื่อนั้น สมเด็จพระเทพฯ ทรงเฉลยในตอนท้ายด้วยการทูลถามเสด็จพ่อให้หายข้องพระทัย จนได้ความว่าพื้นผิวของดวงอาทิตย์จะมีรอยขรุขระคล้ายกับเมล็ดข้าว ซึ่งเหมือนกับหน้าตาของเมนูนี้นั่นเอง

เรื่องเล่าของเสวย

★ พระกระยาหารโปรด 

เมื่อพูดถึงพระกระยาหารโปรดหลายคนต้องคิดถึงอาหารสุดหรู หรืออาหารที่มีวิธีการทำซับซ้อนอย่างแน่นอน แต่ความจริงแล้วเมนูดังกล่าวกลับไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด เมื่อพระองค์ทรงโปรดอาหารที่เรากินกันธรรมดาทั่วไป ดังเห็นได้จากบทสัมภาษณ์ของคุณหญิงประสานสุข ตันติเวชกุล ต้นเครื่องพระตำหนักจิตรลดาฯ จากหนังสือ “เครื่องต้น ก้นครัว” ครัวจิตรลดา จัดทำโดยสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ที่เล่าไว้ว่า

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ท่านเสวยง่ายค่ะ เสวยได้ทุกอย่างที่ตั้งเครื่องถวาย เพียงแต่ไม่ทรงโปรดรสจัดทุกประเภทเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องต้นเกี่ยวกับอะไร ไม่ลำบากเลย ไม่หนักใจเลยค่ะ"

ตัวอย่างพระกระยาหารโปรดนั้น ในหนังสือ "ใกล้เบื้องพระยุคลบาท" โดย ลัดดา ซุบซิบ แจงให้ฟังว่า คือ ผัดผักทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น ผัดคะน้า ผัดถั่วงอก ผัดถั่วลันเตา โดยเน้นใส่ผักเยอะๆ เนื้อสัตว์น้อยๆ ผักที่พระองค์ไม่ทรงโปรดก็มีเช่นกัน ได้แก่ ผักชี ต้นหอม และตั้งฉ่าย นอกจากนี้ยังมีเมนูอื่นๆ อย่าง ซุปอาสาเรน (ซุปใส่ไข่) แกงจืดเซ่งจี๊ ผัดไก่เล่าปี่ ปูเค็มต้มกะทิ หลนปลากุเรา ผัดเผ็ดปลาดุกทอดฟู กล้วยหักมุกเชื่อม ไอศกรีม ผลไม้ ร่วมด้วยเครื่องดื่มอย่างโอวัลตินที่พระองค์เสวยวันละหลายครั้ง

แต่สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดขอยกให้กับพระราชจริยวัตรอันงดงามและเรียบง่ายของพระองค์ที่ทรงเสวยแต่พออิ่มเท่านั้น เมื่อตักอาหารแล้วก็จะไม่รับเพิ่ม อย่างที่คุณหญิงประสานสุขกล่าวว่า

"สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงโปรดเสวยเพียงชามเดียว ไม่ตักเติมอีก เพราะฉะนั้นเมื่อตักทีแรก จะต้องกะให้พอดีกับภาชนะ หมดแล้วไม่ทรงเติม...

"พระองค์ท่านเสวยอย่างนี้ตลอดเวลา ไม่เคยเห็นตักซ้ำอีกค่ะ”

เรื่องเล่าของเสวย

★ ไม่เสวย "ปลานิล" 

“ก็เลี้ยงมันมาเหมือนลูก แล้วจะกินมันได้อย่างไร” รับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หลังจากที่มีผู้กราบบังคมทูลถามว่าทำไมพระองค์จึงไม่เสวยปลานิล และมักโบกพระหัตถ์ให้นำออกไปทุกครั้งเมื่อมีคนนำมาตั้งเครื่องเสวย

ความจริงแล้ว "ปลานิล" คือพันธุ์ปลาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานให้กับคนไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 โดยปลานิลเข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2508 เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโต ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่นได้ทูลเกล้าฯ ถวายปลาน้ำจืดในตระกูลทิลาเปีย (Tilapia) จำนวน 50 ตัวให้กับพระองค์ จากนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก็ทรงพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ใหม่ว่า "ปลานิล" ที่แปลว่า "ปลาสีดำ" เพื่อให้จดจำได้ง่ายตามลักษณะเด่น อีกทั้งคำนี้ยังออกเสียงพ้องกับคำว่า "Tilapia Nilotica Linn" อันเป็นชื่อทางวิทยาศาสตร์ของปลาชนิดนี้อีกด้วย

ส่วนความผูกพันระหว่างพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและปลานิลนั้นคงไม่ต้องอธิบายให้มากความ เพราะพระองค์ทรงเลี้ยงปลาชนิดนี้ในบ่อน้ำภายในสวนจิตรลดาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ปลานิลจึงนับเป็นหนึ่งในโครงการแรกๆ ของโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ก่อนที่พระองค์จะนำปลานิลพระราชทานให้กับกรมประมงเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไป และปล่อยลงสู่แหล่งน้ำต่างๆ ทั้งนี้เนื่องจาก ปลานิลเป็นปลาที่โตง่าย สามารถแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว

ที่สำคัญเนื้อปลานิลยังมีรสชาติดี เหมาะสำหรับเป็นอาหารของพสกนิกรซึ่งเป็นที่รักของพระองค์

แหล่งข้อมูล

  • บทความ “ไข่พระอาทิตย์ สูตรพระราชทานในหลวง” สืบค้นที่ http://www.egg-thailand.com
  • บทความ "ความเรียบง่ายและพอเพียงในเครื่องเสวย ของในหลวง ร.9" สืบค้นที่ http://food.mthai.com
  • บทความ "ปลาพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" สืบค้นที่ http://web.ku.ac.th
  • บทความ "เหตุใดในหลวงจึงไม่โปรดเสวยปลานิล" สืบค้นที่ http://irrigation.rid.go.th
  • บทความ “ปลานิล” ปลาพระราชทานจากรัชกาลที่ 9 สร้างอาหารแก่คนไทย สืบค้นที่ http://www.manager.co.th/

Tag: , ปลานิล, ไข่พระอาทิตย์,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed