ข้อควรระวังในการสั่งอาหารเดลิเวอรี

วันที่ 7 พฤษภาคม 2563  3,116 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 238 เดือนพฤษภาคม 2563

เรื่อง : ผศ. ดร. นัฐพล ตั้งสุภูมิ  สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) ซึ่งเราจำเป็นต้องจำกัดการออกจากบ้านเพื่อไปทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการกินอาหารนอกบ้านด้วย คนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะในเขตเมืองต้องอาศัยบริการจัดส่งอาหารถึงบ้านหรือเดลิเวอรี (Delivery) ไม่ว่าจะจากแอปพลิเคชันต่างๆ หรือจากร้านอาหารเอง แถมยังมีโปรโมชันลดแลกแจกแถมยั่วน้ำลาย จนแทบเลือกไม่ถูกว่าจะสั่งอะไรมากินที่บ้านดี

แต่ท่ามกลางข่าวผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้หลายคนสงสัยว่าอาหารที่ถูกนำมาส่งถึงมือเรา รวมถึงอาหารที่เราไปซื้อกลับมากินที่บ้านนั้นปลอดภัยแค่ไหน

★ เชื้อโควิดจะติดมาในอาหารไหม 

ข้อมูลที่แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ซึ่งมีอยู่ในปัจจุบันยังไม่พบการติดต่อโควิด-19 ผ่านการกินอาหารที่มีเชื้อไวรัส เพราะไวรัสโคโรนาไม่สามารถเจริญและเพิ่มจำนวนในอาหารได้ แต่จะมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ ซึ่งต่างจากจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ และแม้ว่าเรากินอาหารที่มีเชื้อไวรัสโคโรนาเข้าไป ไวรัสก็จะถูกทำลายโดยสภาพความเป็นกรดในกระเพาะอาหารของเรา จึงไม่ทำให้เป็นโควิด-19

อาหารจึงไม่ได้เป็นสาเหตุหลักของการติดเชื้อ แต่การส่งผ่านเชื้อไวรัสจากผู้ป่วยสู่ผู้อื่นเกิดจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วยซึ่งมีเชื้อไวรัสอยู่ในนั้น โดยเฉพาะน้ำลาย เสมหะ น้ำมูก ที่ออกจากร่างกายผู้ป่วยจากการไอและจาม  ซึ่งอาจติดอยู่บนพื้นผิวสัมผัสต่างๆ และเข้าสู่ร่างกายของผู้รับเชื้อทางตา จมูก และปาก ทำให้ไวรัสเข้าไปถึงระบบทางเดินหายใจ ซึ่งมันจะสามารถเจริญเพิ่มจำนวนและก่อโรคได้ สุขลักษณะของผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาหารตั้งแต่การเตรียม การปรุง การเสิร์ฟ การจำหน่าย การจัดส่ง รวมไปถึงผู้บริโภคอย่างเราๆ นี่เองที่ทำให้เราอาจได้รับเชื้อจากผู้ที่ติดเชื้อ

การกินอาหารที่ซื้อหรือสั่งมาจากข้างนอกให้ปลอดโควิด-19 ท่ามกลางสถานการณ์การระบาด  ประกอบกับสภาพอากาศในหน้าร้อนเช่นนี้ จึงมีเรื่องที่ต้องพิจารณาและระมัดระวังมากกว่าสภาวะปกติ โดยต้องไม่ลืมว่าเชื้ออื่นๆ ที่อาจทำให้เราเจ็บป่วยได้จากการกินอาหารก็ยังมีอยู่นะครับ

ข้อควรระวังในการสั่งอาหารเดลิเวอรี

★ ควรระวังเรื่องใดบ้าง 

เริ่มจากเราควรเลือกซื้อจากร้านหรือผู้จำหน่ายที่มีสุขลักษณะที่ดีในการเตรียมและประกอบอาหาร รวมถึงสุขลักษณะส่วนบุคคลที่ดีด้วย คือไม่เป็นโรคหรือมีอาการเสี่ยงจะเป็นโควิด-19 รวมถึงโรคต่างๆ ที่ติดต่อผ่านอาหาร สวมหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์ป้องกันน้ำลายจากการจาม (Sneeze Guard) ล้างมือให้สะอาดอย่างถูกวิธีเพื่อฆ่าเชื้อและป้องกันการได้รับเชื้อ  การปรุงประกอบอาหารต้องทำให้แน่ใจว่าอาหารสุกจริงๆ คืออุณหภูมิใจกลางชิ้นอาหารถึง 75 องศาเซลเซียสเพื่อทำลายจุลินทรีย์

อาหารที่เสิร์ฟแบบเย็นต้องทำให้เย็นอย่างรวดเร็วทันทีหลังจากปรุงเสร็จ ถ้าเป็นอาหารที่ไม่ต้องปรุงประกอบด้วยความร้อน เช่น สลัด แซนด์วิช ปลาดิบ ข้าวปั้น ก็ต้องระวังเรื่องสุขลักษณะส่วนบุคคลมากขึ้น โดยเฉพาะการสัมผัสด้วยมือเปล่าหรือไอจาม  อันนี้ไม่เกี่ยวกับไวรัสโคโรนาโดยตรงนะครับ แต่เป็นหลักการประกอบอาหารให้ถูกสุขลักษณะโดยทั่วไปอยู่แล้ว โดยเฉพาะในฤดูร้อนซึ่งจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษเจริญในอาหารได้เร็วกว่าฤดูอื่นๆ

★ ภาชนะที่ใส่อาหารต้องมีฝาปิดมิดชิด และควรเป็นแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ไม่ควรเอากล่องหรือปิ่นโตไปเอง แม้จะดูไม่รักษ์โลกไปบ้าง แต่ก็เพื่อความปลอดภัยและความมั่นใจของทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ เพราะเป็นการลดจำนวนครั้งที่ทั้งเราและคนขายสัมผัสกับพื้นผิวต่างๆ ให้น้อยที่สุด มีการศึกษาพบว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสามารถมีชีวิตอยู่บนกระดาษลังได้ 1 วัน และบนพลาสติกและสเตนเลสได้นานถึง 3 วัน

★ ร้านอาหารควรจัดพื้นที่สำหรับคนที่มารับอาหารเป็นพื้นที่เฉพาะแยกจากครัว โดยให้พนักงานของร้านที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมและปรุงอาหารในครัวเป็นคนจัดอาหารสำหรับลูกค้าซื้อกลับหรือคนส่งอาหาร และต้องทำความสะอาดฆ่าเชื้อพื้นที่นี้อยู่ตลอด รวมถึงพนักงานที่ทำหน้าที่จัดอาหารก็ต้องล้างมือทุกครั้งหลังจากเอาอาหารให้คนที่มารับ

★ การจ่ายเงินค่าอาหาร ควรหลีกเลี่ยงการรับและจ่ายเงินสด เพราะการรับส่งเหรียญและธนบัตรอาจทำให้เกิดการส่งผ่านเชื้อระหว่างผู้จ่ายเงินและผู้รับเงิน แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องล้างมือทุกครั้งหลังจากรับและจ่ายเงินเสร็จ

★ การขนส่งอาหาร ควรมีกล่องเก็บความร้อนหรือความเย็นเพื่อควบคุมอุณหภูมิของอาหารในระหว่างการขนส่งไม่ให้ต่ำหรือสูงเกินไปจนเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ เจริญได้  ถ้าเป็นอาหารร้อนต้องให้มีอุณหภูมิอุ่นๆ สูงกว่า 63 องศาเซลเซียสอยู่ตลอด อาหารที่เสิร์ฟแบบเย็นขนส่งที่อุณหภูมิไม่เกิน 10 องศาเซลเซียส และควรใช้เวลาในการขนส่งไม่เกิน 30 นาที

กล่องควบคุมอุณหภูมิก็ควรเช็ดทำความสะอาดฆ่าเชื้อทั้งภายนอกและภายในอย่างน้อยวันละครั้งก่อนเริ่มใช้งาน และทางที่ดีควรมีกล่องสำหรับอาหารร้อนกับอาหารเย็นแยกกัน ถ้ามีก้อนน้ำแข็งเทียม (Ice Pack) ช่วยทำความเย็นก็ต้องทำความสะอาดฆ่าเชื้อเหมือนกล่องควบคุมอุณหภูมิ คนส่งอาหารต้องไม่มีอาการไข้ ไอ จาม ไม่ควรสัมผัสกับพนักงานของร้านอาหาร และล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อทุกครั้งหลังจากส่งอาหารถึงลูกค้าแต่ละคน

สำหรับผู้บริโภคอย่างเราการรับอาหารที่มาส่งควรหาวิธีที่ไม่ต้องสัมผัสโดยตรงกับผู้ส่งอาหาร หรือรักษาระยะห่างกันไม่ต่ำกว่า 2 เมตร โดยอาจบอกให้วางไว้ในจุดที่กำหนดให้หน้าบ้าน และไม่ควรให้พนักงานส่งอาหารเข้ามาในบ้านเพื่อลดความเสี่ยงให้น้อยที่สุดครับ

ในสภาวะแบบนี้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการป้องกันตัวเองและผู้อื่นจากการติดเชื้อจึงสำคัญที่สุด ถ้าทุกคนตระหนักอย่างไม่ตระหนกเราจะสามารถกินอาหารต่างๆ ได้อย่างเอร็ดอร่อยและปลอดภัยในบ้านของเรา…

จนกว่าสถานการณ์นี้จะผ่านพ้นไปครับ


Tag: , เดลิเวอรี่, โควิด-19,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed