เรื่องเล่าเคล้ารสไทยในรั้ว Le Cordon Bleu Dusit ตอนที่ 3 : เครือข่ายศิษย์เก่า เลอ กอร์ดอง เบลอ ด้วยสายสัมพันธ์ของริบบิ้นสีน้ำเงิน

วันที่ 12 พฤษภาคม 2563  5,382 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 237 เดือนเมษายน 2563

ด้วยระยะเวลาการเรียนหลักสูตรวิชาการครัวไทยที่ใช้เวลานานถึง 9 เดือน สิ่งที่นักเรียนทุกคนจะได้รับกลับไปเมื่อเรียนจบจากเลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต จึงไม่ใช่แค่ความรู้เรื่องอาหารไทยระดับเข้มข้นที่สามารถนำไปต่อยอดได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ทุกคนล้วนต้องเรียนรู้การทำงานเป็นทีม ช่วยกันแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดีของการเป็นเชฟ ตามมาด้วยสังคมแบบ “ครอบครัวใหญ่” ที่พร้อมจะสนับสนุนกันในแวดวงอาหารอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่เครือข่ายของเรายังครอบคลุมไปในอีกหลายประเทศทั่วโลกในฐานะของศิษย์เก่าเลอ กอร์ดอง เบลอ (Le Cordon Bleu Alumni) ซึ่งเราได้เห็นพวกเขาผ่านตาหลายต่อหลายครั้งทั้งในฐานะเชฟ เซเลบริตีเชฟ และเจ้าของร้านอาหารมากมาย

เช่นเดียวกับเชฟอติคุณ ตันตระกูล Chef de Partie เชฟหนุ่มรุ่นใหม่ฝีมือดีที่เซอร์ไพรส์เราด้วยการเฉลยว่าที่เห็นมาดผู้ช่วยเชฟสุดแข็งขันในคลาสเรียนดังเช่นทุกวันนี้ เขาเคยเป็นศิษย์เก่าของหลักสูตรวิชาการครัวไทยมาก่อน และการพลิกบทบาทจากนักเรียนสู่การเป็นอาจารย์นั้นนับว่าท้าทายมากทีเดียว

“ตอนเป็นนักเรียนเป็นความทรงจำที่ดีมากครับ ก่อนหน้านี้เรารู้แค่ว่าเราชอบกินอาหารไทยและทำอาหารไทย แต่เมื่อได้มาเรียนจริงเราก็ได้เรียนรู้ทักษะการทำอาหารและขนมไทยอย่างถ่องแท้ ได้เจอเชฟผู้สอนที่มีความเอาใจใส่และสอนอย่างมืออาชีพ เมื่อได้รับหน้าที่เป็นอาจารย์ก็ยิ่งทำให้อยากแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่เคยได้รับให้แก่ลูกศิษย์ด้วย ด้วยความที่คลาสของเรามีทั้งนักเรียนไทยและต่างชาติซึ่งมีพื้นฐานเรื่องอาหารไทยแตกต่างกัน ในฐานะอาจารย์จึงต้องหาความรู้อยู่เสมอและเป็นมืออาชีพ รวมถึงเป็นแบบอย่างที่ดีเหมือนกับที่เชฟเคยมอบสิ่งเหล่านี้ให้กับเรา”

“ก่อนหน้านี้เคยเรียนคอร์สการทำขนมปังมาก่อนค่ะ ทำให้อยากรู้ว่าอาหารไทยสามารถนำมาประยุกต์กับขนมปังแล้วทำออกมาเป็นเมนูใหม่ได้หรือไม่ และเราอยากทำร้านอาหารด้วย ซึ่งการเป็นผู้ประกอบการเราควรมีความรู้ตั้งแต่พื้นฐานก่อนนำไปใช้จริง อีกอย่างเรามองว่าอาหารไทยประยุกต์จะเกิดเป็นเทรนด์ได้ในอนาคตและขยายสู่ระดับสากลมากขึ้น ซึ่งการเรียนที่นี่เชฟจะเริ่มสอนตั้งแต่พื้นฐาน ทุกคนที่มาเรียนมีประสบการณ์มาไม่เท่ากัน แต่เชฟไม่ได้มองว่านักเรียนคนไหนที่ด้อยกว่าใคร ใครเก่งกว่าใคร แต่เป็นการเรียนแบบที่พาให้ทุกคนเข้าใจพร้อมกันได้ทั้งหมด อีกอย่างคือเรื่องมิตรภาพที่สำคัญ เรามีเพื่อนที่ดีคอยช่วยเหลือกันค่ะ” เภสัชกรหญิงภัทรวดี ชัยมงคล นักเรียนหลักสูตรวิชาการครัวไทย

 

 “ผมเคยมาเที่ยวประเทศไทยเมื่อปีก่อนครับ แล้วรู้สึกตื่นเต้นกับอาหารไทยมาก และนั่นทำให้ผมอยากเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมและอาหารการกินของคนไทยให้มากขึ้น ผมชอบส้มตำมากครับ (หัวเราะ) ตัวผมเองตั้งใจจะเปิดร้านอาหารไทยที่เกาหลีใต้ จึงอยากเรียนรู้เรื่องรสชาติอาหารไทยที่แท้จริง นี่คือเหตุผลสำคัญที่เลือกเรียนที่เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต ซึ่งช่วงเวลาการเรียนคลาสสาธิตสนุกมากๆ เชฟผู้สอนเป็นเชฟอาหารไทยที่เก่งมากจริงๆ ครับ” ชาวเกาหลีใต้ นักเรียนหลักสูตรวิชาการครัวไทย

สิ่งที่เราได้เห็นตลอดการสังเกตการณ์ครั้งนี้คือความมุ่งมั่นตั้งใจของนักเรียนทั้งในคลาสสาธิตและคลาสปฏิบัติการ ความเข้มข้นจริงจังจากเชฟผู้สอน ซึ่งบอกเลยว่าหลักสูตรวิชาการครัวไทยของเลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต นั้นเป็นเหมือนการเปิดโลกอาหารไทยที่แสนลึกลับซับซ้อนให้คนทุกชาติทุกภาษาได้เข้าใจมากขึ้น นักเรียนที่ผ่านการเรียนอันสุดเข้มข้นตลอด 9 เดือนนี้จะได้รับ “ประกาศนียบัตรหลักสูตรวิชาการครัวไทย” (Diplôme de Cuisine ThaÏe) โดยโรงเรียนสอนการประกอบอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต ที่ได้รับการรับรองโดยกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเหมือนพาสปอร์ตที่จะพาไปสู่แวดวงอาหารได้ทั่วโลกอย่างมืออาชีพ เพราะการเริ่มต้นที่เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต เมนูไหนคุณก็ทำได้

ริบบิ้นสีน้ำเงินเป็นเครื่องการันตี

ขอขอบคุณ

  • เชฟวิไลรัตน์ กรนพเกล้า  เชฟผู้สอนหลักสูตรวิชาการครัวไทย (Thai Cuisine Chef Instructor)
  • เชฟศุภพิชญ์ โอภาสวิศัลย์ เชฟผู้สอนหลักสูตรวิชาการครัวไทย (Thai Cuisine Chef Instructor)
  • เชฟอติคุณ ตันตระกูล เชฟ เดอ ปาร์ตี (Chef de Partie
  • โรงเรียนสอนการประกอบอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต

เรียบเรียงจากบทความ The Taste of Siam เรื่องเล่าเคล้ารสไทยในรั้ว Le Cordon Bleu Dusit  โดย พิจิกา ยะหัตตะ คอลัมน์ Cover Story นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 237 เดือน เมษายน 2563


Tag: , อาหารไทย, เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต, โรงเรียนสอนทำอาหาร,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed