ในยุคนี้มีข่าวสารมากมายและการเข้าถึงข่าวสารต่างๆ ข้อมูลที่มาจากโลกโซเชียลซึ่งมีทั้งที่เป็นจริงและไม่เป็นจริงล้วนทำให้เราเกิดความเครียด ตั้งแต่ต้นปีมีข่าวภัยธรรมชาติ การยิงกัน การระบาดของโรคโควิด-19 หรือแม้แต่เรื่องภาวะเศรษฐกิจ ทำให้หลายคนเกิดความวิตกกังวลจนอาจกลายเป็นปัญหาของสุขภาพได้
โรควิตกกังวลหรือ Anxiety Disordersเป็นหนึ่งในโรคทางจิตใจที่มีความรุนแรง เนื่องจากผู้ที่มีภาวะนี้จะมีความวิตกกังวลมากกว่าปกติ มีอาการที่แสดงออกทั้งทางร่างกายและพฤติกรรม โรควิตกกังวลนี้อาจส่งผลต่อการทำงานตลอดจนถึงการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงความสัมพันธ์กับคนอื่นๆรอบด้าน บางครั้งอาจรุนแรงจนไม่สามารถทำอะไรได้ และอาจอันตรายถึงขั้นทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น
ตัวอย่างอาการที่แสดงออกของโรควิตกกังวล
- ไม่มีสมาธิ กระวนกระวาย สับสน หงุดหงิดง่าย
- นอนไม่หลับ หลับยาก หรือตื่นบ่อย
- อ่อนเพลีย
- ง่วงนอนตอนกลางวัน
- มีความกลัวจนใจสั่น รู้สึกเหมือนหน้ามืด หายใจลำบาก
- มีอาการคลื่นไส้
- ปวดท้อง มวนท้อง ท้องเสีย
- เหน็บชาตามมือและเท้า
- เจ็บหน้าอก
- ปวดกล้ามเนื้อ
- เวียนศีรษะ ตาลาย
- เหงื่อออกมากกว่าปกติ
- รู้สึกเหมือนตัวเองใกล้จะเป็นบ้า
ปกติแล้วหากมีอาการเหล่านี้ในหลายๆข้อร่วมกันควรปรึกษาแพทย์ การรักษาของแพทย์ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัย อาจทำได้ตั้งแต่จิตบำบัด การรักษาด้วยยา การฝึกสมาธิ การฝังเข็ม การออกกำลังกาย
จากการศึกษาพบว่าอาหารมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาการของโรควิตกกังวล อาหารเป็นได้ทั้งตัวกระตุ้นให้อาการวิตกกังวลแย่ลง และเป็นตัวที่ช่วยในการบำบัดรักษาอาการวิตกกังวล
กลุ่มอาหารที่เร่งอาการวิตกกังวล
- กลุ่มอาหารที่มีสารกาเฟอีนผสมอยู่ สารกาเฟอีนจะกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางให้ทำงานรับรู้มากขึ้น หากเรามีความวิตกกังวลอยู่ก็จะยิ่งทำให้ความรู้สึกวิตกกังวลเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้น อาหารและเครื่องดื่มที่มีสารกาเฟอีนผสมอยู่ได้แก่ กาแฟ ชา น้ำอัดลมบางประเภท เครื่องดื่มชูกำลัง ยาแก้ไอ อาการที่แสดงออกมาหากได้รับสารกาเฟอีนสูง เช่น ปวดหัว ใจสั่น อารมณ์แปรปรวน
- แอลกอฮอล์ เป็นหนึ่งในเครื่องดื่มที่คนนิยมดื่ม แอลกอฮอล์จะส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดให้ขึ้นลงอย่างเร็วและทำให้เกิดกรดในเลือด ยิ่งทำให้เกิดความวิตกกังวล นอนหลับยาก และมีอาการเหนื่อยล้า
- ผงชูรส หรือ Monosodium Glutamate (MSG)ผงชูรสเป็นสารเพิ่มรสชาติที่มักใส่ในอาหารเอเชีย เช่นอาหารจีน อาหารเกาหลี อาหารญี่ปุ่น และอาหารไทย ผงชูรสจะไปกระตุ้นทำให้ระบบประสาททำงานเพิ่มขึ้นทำให้เกิดความวิตกกังวลเพิ่มสูงขึ้น
- น้ำตาลขัดสี มีวิจัยบางชิ้นระบุถึงน้ำตาลขัดสีว่าส่งผลให้เกิดอารมณ์แปรปรวน ขึ้นและลงเร็ว การเปลี่ยนแปลงของระดับอินซูลินทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นลงและส่งผลต่อความเครียด
อาหารกลุ่มที่ช่วยบำบัดอาการวิตกกังวล
- อะโวคาโด หนึ่งในพืชที่มีไขมันไม่อิ่มตัวสูง มีใยอาหารสูง มีวิตามินบี 6 ซึ่งช่วยผลิตสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์เช่น เซโรโทนิน(Serotonin) นอกจากนี้ยังมีวิตามินบีตัวอื่นๆอีกเช่น วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 ไนอะซินซึ่งล้วนแต่ช่วยเกี่ยวกับระบบประสาท การที่ร่างกายขาดวิตามินเหล่านี้จะส่งผลให้มีความเครียดและความวิตกกังวลเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ไขมันที่ดีที่มีอยู่ในอะโวคาโดยังช่วยลดความเครียด วิตามินอีช่วยในการมองเห็น ความคิดทางสมองทำงานได้ดีขึ้น ผิวพรรณสดใส ทำให้เส้นเลือดทำงานแบบมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
- ผลไม้ตระกูลเบอร์รี เช่น สตรอว์เบอร์รี บลูเบอร์รี เชอร์รี แบล็กเบอร์รี ราสป์เบอร์รี ผลไม้เหล่านี้มีวิตามินซีสูงและมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยปกป้องเซลล์ต่างๆ มีการศึกษาให้คนที่มีความวิตกกังวลกินผลไม้ตระกูลเบอร์รีวันละ 1 ถ้วยทุกวันเป็นประจำ พบว่าช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลลงได้ และมีการพักผ่อนที่ดีขึ้น
- เนื้อสัตว์ไขมันต่ำจะมีทริปโตเฟนซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่จำเป็นแก่ร่างกาย ซึ่งร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ สมองจะนำเอาทริปโตเฟนไปใช้ร่วมกับวิตามินบี 3 วิตามินบี 6 และแมกนีเซียมในการสร้างสารเซโรโทนินซึ่งเป็นสารสื่อประสาทสมองที่ช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น หลับอย่างสนิท ลดความเครียดและความกังวล ช่วยทำให้รู้สึกสงบมากขึ้น
- ถั่วเปลือกแข็ง เช่น อัลมอนด์ วอลนัตพิสตาชิโอ แมกคาเดเมีย พีแคน ถั่วเปลือกแข็งเหล่านี้อุดมด้วยแมกนีเซียมที่ช่วยบำบัดความเครียด หากร่างกายมีระดับแมกนีเซียมต่ำจะทำให้สารสื่อประสาทในสมองไม่สมดุล ดังนั้นจึงแนะนำให้กินถั่วเปลือกแข็งตามที่สมาคมโรคหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำคือวันละ 1 กำมือ
- โยเกิร์ต เป็นหนึ่งในอาหารที่เกิดจากการหมักโดยเชื้อจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์แก่ร่างกาย โยเกิร์ตจะช่วยปรับสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ทำให้ร่างกายแข็งแรงและมีความเครียดน้อยลง อาหารอื่นที่มีเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งมีประโยชน์คล้ายโยเกิร์ตเช่น ข้าวหมาก กิมจิ มิโซะ ชาหมักคอมบูชา ผักดองอื่นๆ
- ผักใบเขียวต่างๆ ในผักใบเขียวเข้ม เช่น ผักเคล ผักคะน้า ตำลึง ผักโขม บรอกโคลี กวางตุ้ง มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง มีแคลเซียมและวิตามินซีที่ช่วยให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเครียดความเหนื่อยล้า และช่วยทำให้เกิดความสุขเพิ่มขึ้น
นอกจากอาหารแล้วการที่จะช่วยโรคหรือภาวะการมีความวิตกกังวลสูงคือการพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวล หาเวลาออกกำลังกาย อ่านหนังสือ ทำอาหาร ปลูกต้นไม้ ฟังเพลงสบายๆพยายามอย่าไปคิดมากหรือติดอยู่กับสิ่งที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลจนเกินไป...
เพื่อสุขภาพที่ดีต่อทั้งร่างกายและจิตใจ
Tag:
, Food for life,
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น