จุดเริ่มต้นของ “ไอศกรีม” ของหวานดับร้อนจากวัฒนธรรมอันหลากหลาย

วันที่ 14 เมษายน 2563  12,621 Views

ภาพประกอบ : ไอศกรีมอัญชันราดซอสซอลต์คาราเมลน้ำตาลมะพร้าว

“ไอศกรีม” ของหวานคู่หน้าร้อนที่แท้จริง ในวันที่อุณหภูมิสูงปรี๊ดยังมีขนมหวานชนิดนี้คอยปลอบประโลม ทั้งเย็นสดชื่น หวานหอม จะกินรสไหนก็ฟินไปหมด นึกไปนึกมาก็อยากรู้เหมือนกันว่าเจ้าไอศกรีมนี่มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ใครสงสัยตาม G&C มาอ่านกันเลย

ความเป็นมาอันหลากหลายของ “ไอศกรีม”
"ไอศกรีม” หรือ “ไอติม” ที่เราเรียกจนติดปากมีต้นกำเนิดมาจากตำนานอันหลากหลาย (แถมหลายชาติพันธุ์ด้วย) อาทิ ในยุคจักรพรรดิเนโรห์แห่งอาณาจักรโรมัน พระองค์ได้พระราชทานเลี้ยงไอศกรีมแก่บรรดาทหารในกองทัพ ซึ่งในสมัยนั้นไอศกรีมยังเป็นเพียงเกล็ดน้ำแข็ง (หิมะ) เอามาผสมน้ำผึ้งและผลไม้ ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นไอศกรีม “ซอร์เบต์” ในปัจจุบันนั่นเอง

อีกตำนานไอศกรีมของประเทศจีนมีเรื่องเล่าว่า ในสมัยก่อนนมถือเป็นของแพงและหายาก จึงได้มีคนคิดค้นวิธีเก็บรักษาโดยการนำไปฝังในหิมะ จนทำให้เกิดเป็นไอศกรีมต้นแบบแรกของโลกขึ้น ซึ่งเป็นเวลาไล่เลี่ยกับที่ประเทศอินเดียยุคราชวงศ์โมกุลในรัชสมัยจักรพรรดิอักบัร ได้คิดค้น Kulfi (คุลฟี) ไอศกรีมแท่ง (สมัยก่อนใช้น้ำแข็งจากเทือกเขาหิมาลัย) ผสมนมสดเคี้ยวเข้มข้น น้ำตาลและกลิ่นต่างๆ อาทิ เครื่องเทศ ถั่ว ผลไม้ ดอกไม้ ซึ่งสมัยนั้นถือว่าเป็นอาหารสำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น แต่ปัจจุบันคุลฟีหากินได้ทั่วไปในอินเดียและประเทศภูมิภาคเดียวกัน

บางตำนานในประเทศอิตาลีกล่าวว่า มาร์โก โปโล พ่อค้าและนักสำรวจชาวเวนิสนำสูตรไอศกรีมกลับมาจากเมืองจีนเพื่อพัฒนาและเผยแพร่ ต่อมาราวประมาณ ค.ศ. 1533 ในงานเฉลิมฉลองพระราชพิธีอภิเษกสมรสของแคเทอรีน เดอเมดิซี แห่งเวนิส กับกษัตริย์เฮนรี่ที่ 2 ของฝรั่งเศส มีการเสิร์ฟของหวานกึ่งแช่แข็งที่ทำจากครีมข้นหวาน (คล้ายไอศกรีม) ให้กับแขกเหรื่อ ซึ่งเหตุการณ์นี้ถือเป็นการเผยแพร่ไอศกรีมให้ชาวโลกได้รู้จักเป็นวงกว้างมากขึ้น

ประเทศอังกฤษก็มีเรื่องเล่าขานเกี่ยวไอศกรีมเช่นกันเมื่อครั้งสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 มีพ่อครัวถวายครีมแช่แข็งที่ปรุงรสจากสูตรลับแด่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทว่าพระองค์ก็ถูกปลงพระชนม์โดยโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ (ผู้นำทางการทหาร) ระหว่างสงครามเมืองอังกฤษ 1 (ค.ศ. 1642-1651) พ่อครัวจึงต้องลี้ภัยไปทวีปยุโรปและได้นำสูตรลับไอศกรีมนี้ไปเผยแพร่จนเป็นที่รู้จักของชาวบ้าน

ไอศกรีมในเมืองไทย
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)  เรือกลไฟจากสิงคโปร์บรรทุก “น้ำแข็ง” เข้ามาสู่ประเทศไทยครั้งแรกเพื่อถวาย พระองค์ไม่อยากเชื่อว่าน้ำจะแข็งและกลายมาเป็นรูปร่างได้ จึงได้เกิดสุภาษิต “ปั้นน้ำเป็นตัว” ขึ้นมา (เจอจากบันทึกบางฉบับ)

ต่อมาในช่วงรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนำไอศกรีมมาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักในคนไทยหลังเสด็จประพาสประเทศอินเดีย ชวา และสิงคโปร์ การทำไอศกรีมจึงได้ริเริ่มขึ้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง “ความทรงจำหลังจากเสด็จประพาสสิงคโปร์ พ.ศ. 2414” ของรัชกาลที่ 5 ความว่า

“ไอศกรีมเป็นของวิเศษในเวลานั้น เพราะเพิ่งได้เครื่องทำน้ำแข็งอย่างเล็กๆ ที่สำหรับเขาทำกันตามเมืองนอกเข้ามาถึงเมืองไทย ทำบางวันน้ำก็แข็ง บางวันก็ไม่แข็ง มีไอศกรีมตั้งเครื่องแค่บางวัน จึงเห็นเป็นของวิเศษ”

ด้วยความที่ทำยากและหารับประทานยากนั่นเอง ที่ทำให้ไอศกรีมเป็นของเสวยสำหรับเจ้าขุนมูลนายเท่านั้น

ไอศกรีมสู่สามัญชน
ไอศกรีมได้แพร่หลายในหมู่ประชาชน เมื่อมีการตั้งโรงงานผลิตน้ำแข็งขึ้นในเมืองไทย โดยไอศกรีมสมัยนั้นผลิตมาจากนมและครีม (สูตรของฝรั่ง) เป็นหลัก จึงทำให้มีราคาสูง และมีขายเฉพาะในภัตตาคารแถบที่ราชวงศ์อาศัยอยู่เท่านั้น จนประมาณปี พ.ศ. 2446 ชาวบ้านได้ลิ้มลองไอศกรีมสูตรบ้านๆ (แต่อร่อย) ครั้งแรก เป็นน้ำเชื่อมปั่นจนกลายเป็นเกร็ดหิมะ ต่อมาจึงได้พัฒนาเป็น “น้ำแข็งไส”หรือ “ไอติมกด”เป็นเกล็ดน้ำแข็งราดด้วยน้ำเชื่อมรสต่างๆ อัดใส่พิมพ์เสียบไม้

ไอศกรีมหลอด หรือไอศกรีมแท่ง ได้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นการนำน้ำหวานหลายรส (ปัจจุบันใช้น้ำอัดลม) ใส่พิมพ์โลหะทรงกระบอก และเขย่าในถังน้ำแข็งใส่เกลือ เมื่อเริ่มแข็งจึงเสียบไม้แล้วรับประทาน นอกจากนั้นไอติมหลอดยังมีแบบใส่กะทิด้วย (แต่ไม่เข้มข้น) ใส่เครื่องต่างๆ อาทิ ถั่วเขียว ถั่วดำ เผือด ลอดช่อง มันต้ม แล้วแต่สูตรของแต่ละบ้านพัฒนาจนกลายมาเป็น “ไอศกรีมกะทิ”ที่ใช้กะทิสดแทนนมหรือครีม เวลากินตักเป็นลูกๆ เป็นที่มาของ “ไอติมตัก”จะตักใส่ถ้วย โคน ขนมปัง ภาชนะใดก็ว่าไป

ต่อมาบริษัทป็อป ผู้ผลิตไอศกรีมรายแรกของเมืองไทย ซื้อเครื่องทำไอศกรีมเข้ามาโดยใช้สูตรของต่างประเทศ (ใส่นมและใส่ครีม) นอกจากนั้นบริษัทป็อปยังเป็นเจ้าแรกที่ขายไอศกรีมบนรถสามล้อโดยคนขายจะบีบแตรเสียงเป็ดเพื่อเรียกลูกค้า น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของรถไอศกรีมที่เราเห็นในปัจจุบันนั่นเอง ผ่านไปไม่กี่ปีร้านไอศกรีมของต่างประเทศก็เริ่มมาเปิดในเมืองไทยมากขึ้นจนเป็นที่นิยมมาถึงทุกวันนี้

แต่ไม่ว่าจะของไทยหรือเทศก็อร่อยไม่แพ้กันเลย

ที่มา :

- หนังสือ ไอศกรีมโอมเมด หวานชื่นฉ่ำ รวยชื่นใจ สำนักพิมพ์พีเพิลมีเดียบุ๊ค

Origin and History of Ice Cream


Tag: , ของหวาน, เมนูฤดูร้อน, ไอศกรีม,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed