เมื่อพูดถึง "ชีส" (ลากเสียง) เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คืออาหารที่มีความแปลกประหลาดมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นหลากรูปลักษณ์ สีสัน และกลิ่นที่ละมุน ฉุน ไปจนถึงเข้มขมคอ เรียกว่าใครไม่รักก็คงเกลียดกันไปเลย แต่เดี๋ยวก่อน! ความน่าสนใจของชีสยังไม่หมดแค่นั้นนะ

หนูชอบชีส?
หากไม่นับมนุษย์ตาดำๆ สิ่งมีชีวิตที่ชอบชีสเป็นชีวิตจิตใจต้องยกให้ "หนู" ตัวน้อยอย่างไร้ข้อกังขา แต่ทว่าหนูชอบชีสจริงหรือ? เพราะเราก็ไม่เคยเห็นคุณแม่ขาจับหนูด้วยชีสเลยสักครั้ง
คำตอบของคำถามนี้บอกได้แต่เพียงว่าพวกเราถูก "การ์ตูน" หลอกมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะที่เราเห็นเจ้าหนูทอมแบกเนยแข็งวิ่งหนีแมวเจอร์รี่ในทอมแอนด์เจอร์รี่ (Tom & Jerry) ล้วนเป็นเรื่องที่สร้างขึ้น ไม่ต่างกับที่เราเชื่อสนิทใจว่ากระต่ายชอบกินแครอตเหมือนในบักส์ บันนี (Bugs Bunny) ซึ่งผู้ที่ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังอย่าง ดร. เดวิด โฮลมส์ (David Holmes) จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ เมโทรโพลิแทน (Manchester Metropolitan University) กล่าวว่าอาหารที่หนูชอบจะเป็นพวกผัก ผลไม้ เมล็ดถั่ว หรือไม่ก็สัตว์ที่ตัวเล็กกว่า เว้นเสียว่าเวลาที่มันหิวจัดนี่แหละ ที่จะทำให้หนูตัวจี๊ดลุกขึ้นมากินทุกอย่างที่ขวางหน้า
ดังนั้นถ้าคิดจะเลือกกินเมื่อไร หนูไม่เลือกชีสเป็นอย่างแรกหรอกนะ

ชีสที่หายากที่สุด
เราต่างรู้กันดีว่าชีสเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม โดยเฉพาะนมวัว นมแพะ ไม่ก็นมควายน้ำสุดโด่งดังที่ทำเป็นชีสมอซซาเรลลา
แต่แหล่งชีสที่เขาว่ากันว่าเป็นแรร์ไอเท็มและหายากมากที่สุดในโลกนั้นกลับตกเป็นของ "ชีสจากนมกวางมูส" (Moose Cheese) เนื่องจากมีกวางมูสอยู่เพียง 3 ตัวในโลกที่ผลิตชีสได้ อีกทั้งยังเป็นเจ้าของชื่อน่ารักๆ อย่างกัลลาน (Gullan) เฮลกา (Haelga) และจูโน (Juno) โดยทั้งหมดอาศัยอยู่กับครอบครัวโจฮันสัน (Johannson) ในประเทศสวีเดน โดยแต่ละตัวจะทำหน้าที่ผลิตน้ำนมเป็นเวลาทั้งสิ้น 4 เดือน ตั้งแต่พฤษภาคมเรื่อยไปจนถึงกันยายน ซึ่งวิธีการคั้นน้ำนมก็ต้องเป็นไปอย่างละมุนละม่อม ด้วยการใช้มือบีบเบาๆ จนได้น้ำนมปริมาณ 5 ลิตรต่อตัวต่อวัน และได้ปริมาณชีสอยู่ที่ 300 กิโลกรัมต่อปี
ด้วยเหตุนี้สนนราคาจึงไม่ใช่เล่นๆ เพียงแค่ 23,500 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้นเอง (เสียงสูง)
ชีสที่แพงที่สุด
ถ้าคิดว่าชีสกวางมูสแพงแล้วล่ะก็ ขอบอกว่ายังมีชีสที่มีราคาสูงกว่านั้นอีกเท่าตัว!
เจ้าของชีสที่แพงที่สุดเป็นชีสรมควันจากน้ำนมลา (Donkey Cheese) ที่ผลิตได้ในเขตเมืองซาซาวิกา (Zasavica) ประเทศเซอร์เบียเท่านั้น ส่วนสาเหตุที่ทำให้ราคาถีบตัวได้สูงลิบลิ่วก็มาจากการผลิตที่ละเมียดละไม ด้วยการใช้มือบีบนมลาอย่างเบามือ 3 ครั้งต่อวันกว่าจะได้น้ำนมออกมา โดยชีสแต่ละกิโลกรัมจะต้องใช้นมลาถึง 25 ลิตร และที่สำคัญชีสนมลานี้ยังขึ้นชื่อเรื่องของคุณประโยชน์ ป้องกันโลกภูมิแพ้ และมีไขมันเพียง 1 เปอร์เซ็นต์
แต่ที่เด็ดที่สุดคือชีสนมลาเป็นอาหารบ้านเกิดของนักเทนนิสชื่อก้องมือวางอันดับ 1 ของโลกอย่างโนวัค ยอโควิช (Novak Djokovic) อีกด้วย

ชีสเปลี่ยนอารมณ์
เคยสังเกตกันบ้างไหมว่ามื้อไหนมีชีสมาร่วมแจมเมื่อไรความสุขมักจะตามมาเสมอ
นิตยสารวอลล์ สตรีท เจอร์นัล (Wall Street Journal) ได้เคยตีพิมพ์บทความสัมภาษณ์นักบำบัดจิตในหัวข้อ "วิธีรักษาสุขภาพจิตด้วยมื้ออาหาร" (A Road to Mental Health Through the Kitchen) ซึ่งในนั้นได้บอกไว้ว่าการที่เราได้เคี้ยวละเลียดชีสอย่างช้าๆ จะส่งผลดีต่อสมองและการรับรู้รส ขณะเดียวกันในชีสเองก็มีกรดอะมิโนที่จำเป็น โดยเฉพาะสารไทโรซีน (Tyrosine) ที่จะทำปฏิกิริยาต่อสมองโดยตรง โดยมีบทบาทสำคัญในการปรับอารมณ์ของเราให้ดีขึ้น กระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารอะดรีนาลีนสร้างความตื่นตัว อีกทั้งยังมีส่วนช่วยยับยั้งความอยากอาหารได้อย่างชะงัด
มิน่าล่ะกินชีสทีไรอิ่มแปล้ทุกที
กลิ่นชีส = กลิ่นเท้า?
เชื่อว่าบรรดาชีสเลิฟเวอร์หลายคนคงต้องเคยอึดอัดอยู่บ้าง เมื่อได้ยินเพื่อนสนิทคนข้างๆ บ่นอุบว่าชีสเหม็นบ้างล่ะ ดีไม่ดีก็พาลบอกว่าเหม็นเหมือนกลิ่นเท้าไปโน่น
เรื่องนี้นับว่ามีส่วนจริงเลยทีเดียว เพราะแบคทีเรียที่อยู่บนชีสกับที่ชอบอยู่บนเท้าเป็นชนิดเดียวกัน ซึ่งแบคทีเรียตัวที่ว่ามีชื่อเรียกแสนจะเก๋ไก๋และยาวเหยียดว่า "บริวิแบคทีเรียม ลินินส์" (Brevibacterium Linens) สามารถพบได้ในดิน บนผิวหนังมนุษย์ และถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการบ่มชีส และแน่นอนว่าคุณสมบัติหลักของแบคทีเรียตัวนี้ก็คือ "การทำให้เกิดกลิ่น"
เอาเป็นว่ากลิ่นบลูชีสและบรีชีสที่ว่าแน่ เจอกลิ่นเท้าเข้าไปก็ผงะไม่แพ้กัน!
แหล่งข้อมูล
Tag:
Nice To Know, ชีส
ความคิดเห็น