ในยามนี้ตู้เย็นเป็นตู้เก็บเสบียงสำคัญที่สุดของทุกบ้าน แต่ถ้าเก็บของไม่ถูกต้องตู้เย็นก็จะกลายเป็นที่อยู่ชิลๆ ของเชื้อโรคได้อย่างแน่นอนมาทบทวนข้อควรปฏิบัติตู้เสบียงของเรากันสักนิด
1. ช่องแช่แข็งอุณหภูมิ 0 องศาเซลเซียส เก็บของสดที่จะเก็บไว้กินได้นาน เช่น หมู กุ้ง ปลา วิธีเก็บควรตัดแบ่งหรือแยกเก็บให้ใช้ได้ในแต่ละครั้ง ห่อพลาสติกใส ใส่ถุงซิปล็อก หรือวางใส่กล่องเรียงให้เรียบร้อย
2. แยกเก็บเนื้อสัตว์กับอาหารแช่แข็ง เช่น ไอศกรีม ผลไม้แช่แข็ง โรตีแช่แข็ง ไว้คนละชั้นกับเนื้อสัตว์ ห้ามปะปนกันเด็ดขาด
3. ช่องด้านล่างของช่องแช่แข็ง อุณหภูมิ 0-2 องศาเซลเซียสแช่เนื้อสัตว์พร้อมปรุง หรือเป็นชั้นพักเนื้อสัตว์จากช่องแข็งเพื่อให้ละลาย
4. ชั้นกลางตู้เย็น อุณหภูมิ 5-7 องศาเซลเซียส เก็บอาหารได้ทุกประเภท เช่น ไส้กรอก โยเกิร์ตอาหารเหลือที่กินไม่หมด (ควรใส่กล่องหรือปิดพลาสติกใส) ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 1-2 วันและของแห้ง(ต้องใส่กล่องมีฝาปิดให้เรียบร้อย)
5. ชั้นล่างสุด กล่องใส่ผักผลไม้ อุณหภูมิ 7-10 องศาเซลเซียส ควรเก็บผักไว้ในถุงพลาสติกหรือถุงซิปล็อก แล้วรีดอากาศออกให้หมดจะเก็บได้นานขึ้น เก็บเห็ดในถุงกระดาษเพื่อจะไม่สูญเสียน้ำ
6. ผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนยและครีมต้องปิดไว้เสมอ เพราะมักดูดกลิ่นรสของอาหารอื่นๆ ในตู้เย็น เนยแข็ง (Cheese) ให้ห่อด้วยกระดาษฟอยล์หรือกระดาษขี้ผึ้งแทนการห่อด้วยพลาสติกยกเว้นพลาสติกที่ใช้ห่อนั้นใช้ได้กับอาหารไขมันสูงได้อย่างปลอดภัย
7. เมื่อเปิดอาหารกระป๋องแล้วส่วนที่เหลือต้องเทออกจากกระป๋องใส่กล่องที่อากาศเข้าไม่ได้
8. ของที่ใกล้หมดอายุให้วางไว้ด้านหน้าเพื่อหยิบใช้ก่อน
9. เขียนป้ายบอกของที่เก็บว่าคืออะไร เพราะเก็บไปสักพักจะจำไม่ได้ จะได้ไม่ต้องเปิดดูบ่อยๆ เขียนวันที่ซื้อหรือวันหมดอายุให้ชัดเจน
10. ควรหากล่องมาใส่ของที่ใกล้หมดอายุรวมไว้ด้วยกันเพื่อจะได้เห็น จำได้ และนำไปทำอาหารก่อน
นอกจากนี้ควรตรวจดูว่าตู้เย็นมีความเย็นสม่ำเสมอ และไม่ควรมีพฤติกรรมว่าคิดอะไรไม่ออกก็เปิดตู้เย็นเพื่อดูว่ามีอะไรกิน เพราะจะทำให้ตู้เย็นไม่เย็น และคนเปิดพลอยจะอ้วนไปด้วย
ขอบคุณรูปภาพจาก : @Kitchen
Tag:
, การถนอมอาหาร, การเก็บอาหาร,
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น