“ผมไม่ได้เป็นคนรักกาแฟครับ”
คำตอบของคุณลี อายุ จือปา สร้างความประหลาดใจให้กับเราอยู่ไม่น้อย เพราะถึงแม้จะไม่ได้เป็นคอกาแฟ แต่เชื่อเถอะว่าชื่อของ “อาข่า อ่ามา” (Akha Ama) ต้องคุ้นหูใครหลายคนอย่างแน่นอน เมื่อกาแฟไทยที่ต้องมาเชียงใหม่ถึงจะได้จิบนั้นก็กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ในเดือนนี้ (มีนาคม) และกำลังจะเจริญเติบโตอย่างงดงามใน Akha Ama Living Factory บ้านหลังใหญ่ในอำเภอแม่ริมที่คุณลีบอกว่าเป็นความภาคภูมิใจสูงสุด เพราะที่นี่ไม่ได้เป็นแค่คาเฟ่อย่าง 2 สาขาแรก แต่ยังเป็นทั้งโรงคั่ว โรงเก็บกาแฟ และพื้นที่สำหรับทดลองสิ่งใหม่ๆ ไม่หยุดนิ่งสมชื่อ รวมทั้งอาหารที่กำลังจะพร้อมเสิร์ฟเร็วๆ นี้
แต่แล้วคุณลีก็ไม่ปล่อยให้เราสงสัยนาน เพราะประโยคต่อมาคุณลีก็คลายสงสัยให้เราว่าเพราะตัวเขาเองไม่ใช่คอกาแฟที่มาเปิดร้านกาแฟ หากแต่เป็นนักพัฒนาสังคมที่มองหาช่องทางที่จะพัฒนาชุมชน หลังจากคิดมาหลายตลบ คุณลีก็ได้คำตอบว่า “กาแฟ” เป็นหนึ่งในหนทางที่จะทำให้ชาวเขาและคนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่สูงได้มีโอกาสสร้างรายได้ ซึ่งนับเป็นเรื่องที่เขาคิดไม่ผิดแม้แต่น้อย เพราะจากกาแฟที่เคยผลิตได้เพียง 1,800 กิโลกรัมในปีแรกได้กลายเป็น 30,000 กิโลกรัมในปีที่ผ่านมา
“ตอนนั้นผมมองว่าอะไรที่จะทำให้ชุมชนอยู่ได้ คงต้องเริ่มที่การสร้างเศรษฐกิจให้กับเขา ก่อนจะตามด้วยการศึกษา ขณะเดียวกันต้องพัฒนาสิ่งแวดล้อมด้วย ผมก็เลยทำเป็นแผนธุรกิจ (Business Model) ขึ้นมาเสนอ ก่อนจะได้ทุนจากครอบครัวชาวสวิสมาทำกาแฟอาข่า อ่ามา ถ้าถามว่าทำไมถึงใช้ชื่อนี้ก็เป็นเพราะชื่อนี้แสดงอัตลักษณ์ความเป็นรากเหง้าของเรา คำว่า ‘อาข่า’ ก็คืออย่างที่เรารู้กันว่าเป็นตัวแทนของคนพื้นที่สูง ส่วน ‘อ่ามา’ แปลว่าแม่ ไม่ใช่ ‘อาม่า’ อย่างที่คนชอบเรียกกันนะครับ คงเพราะออกเสียงได้ง่ายกว่า (หัวเราะ)”
จากนั้นคุณลีเล่าต่อว่าอาข่า อ่ามา เป็นกาแฟที่เกิดจากการทำงานใกล้ชิดกับชุมชน โดยให้เกษตรกรลงทุนวัตถุดิบด้วยการทำกาแฟให้ดีให้มีคุณภาพ เพียงเท่านี้ก็จะได้รับผลตอบแทน ซึ่งนั่นไม่ใช่แค่การประกันรายได้ให้กับเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ในการทำการเกษตร เพื่อให้พวกเขาสามารถมีรายได้หลักจากการปลูกกาแฟ ส่วนพื้นที่ที่เหลือเขาก็ยังสามารถทำการเกษตรปลูกพืชผสมผสานเพื่อเป็นทั้งรายได้เสริม หรือไม่ก็ปลูกเพื่อกินเองไปพร้อมๆ กัน
“ถ้าถามว่าจุดเด่นของกาแฟอาข่า อ่ามา คืออะไร ตอนนี้มันไม่ใช่แค่ว่ารสชาติเพียงอย่างเดียวแล้ว เพราะผมเชื่อว่ากาแฟที่มีรสชาติดีผู้บริโภคทุกคนสามารถไปซื้อหาเข้าร้านที่ไหนก็ได้ แต่ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่ว่ากาแฟเรารสชาติไม่ดีนะ กาแฟเรามีรสชาติที่ดีและมีคุณภาพดีเลยล่ะ คุณภาพของเราดีขึ้นในทุกๆ ปี เรามีองค์ความรู้ด้านกาแฟที่สามารถส่งต่อไปยังชุมชนอื่นๆ ได้ในอนาคต
“ผมอยากให้ทุกคนมองว่ากาแฟของเราเป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้ทุกคนได้เลือกมีส่วนร่วมสนับสนุนชุมชนผู้ปลูกกาแฟ เราไม่ได้ขายความน่าสงสาร ที่สำคัญตอนนี้เราเป็นกาแฟของ ‘คนรุ่นใหม่’ การที่เราทำกาแฟมา 10 ปีทำให้เราได้คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นรุ่นลูกมาทำงานสืบสานต่อจากที่พวกเขาเคยเห็นรุ่นพ่อแม่ทำกันมา ตอนนี้เราเลยได้คนที่พูดภาษาเดียวกับเรามาพัฒนากาแฟร่วมกัน เป็นเด็กรุ่นใหม่ที่มีใจและรักที่จะทำจริงๆ ดังนั้น ตอนนี้ถ้าถามอีกทีผมคงต้องบอกว่าผมขาดกาแฟไม่ได้แล้วครับ กาแฟมีส่วนสำคัญในการสร้างอาชีพให้กับคนพื้นที่สูง ตอนนี้กาแฟเลยเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต”
ได้ยินแบบนี้เราเลยไม่พลาดถามว่าคนกรุงเทพฯ จะมีโอกาสได้พบกับสาขาของอาข่า อ่ามา บ้างไหม? คุณลีก็ตอบว่า “คงต้องอยู่กับความพร้อมของน้องๆ แล้วครับ เพราะเราอยากจะค่อยๆ เติบโตอย่างมั่นคง”
คงต้องลุ้นกันแบบยาวๆ เลยทีเดียว
เรียบเรียงจากบทความ Charming Chiang Mai หลงเสน่ห์ “เชียงใหม่” โดย รตินันท์ สินธวะรัตน์ คอลัมน์ Cover Story นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 236 เดือน มีนาคม 2563
Tag:
, ร้านกาแฟ, เชียงใหม่,
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น