สัมผัสกับอาหารสดใหม่ส่งตรงจากฟาร์มเกษตรอินทรีย์ โดย “พี่เอื้อง”

วันที่ 2 เมษายน 2563  1,698 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 236 เดือนมีนาคม 2563

“ถ้าเราไม่เริ่มกันตอนนี้ เราก็ไม่ได้ทำ เรื่องวิกฤติอาหารเป็นเรื่องที่พี่กลัวมาตลอด”

เสียงดังฟังชัดของพี่เอื้อง-พิมพ์รัตน์ ราษฎรินทร์ เจ้าของร้าน ImmAim Vegetarian and Bike Café คาเฟ่ที่เสิร์ฟอาหารมังสวิรัติให้กับชาวเชียงใหม่มาเกือบ 10 ปี ก่อนจะต่อยอดแนวความคิดมายังการทำช็อกโกแลตในแบรนด์ “Aimmika Chocolate” ช็อกโกแลตสไตล์วีแกนซึ่งเน้นรสชาติที่แท้จริงของช็อกโกแลตซิงเกิลออริจินจากผลโกโก้ที่ปลูกในประเทศไทย รวมถึงเชียงใหม่ที่มีให้ชิมกันอีกด้วย

“ไม่รู้ว่ามีใครคิดอย่างพี่ไหม แต่พี่ว่าวิกฤติอาหารมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในอนาคตถ้าเรายังใช้ชีวิตแบบนี้อยู่ พื้นที่การเกษตรอาจจะไม่เหลือ พี่เลยอยากเป็นส่วนเล็กๆ ที่จะทำให้การเกษตรเหล่านี้มันสามารถเดินหน้าต่อด้วยการเปิดร้านอาหารมังสวิรัติขึ้นมาเพื่อรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร เพราะพี่เชื่อว่าถ้าเกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรมกับเขา เกษตรกรก็สามารถไปต่อได้ มีแรงใจที่จะทำได้”

พี่เอื้องเล่าให้เราฟังถึงสาเหตุของการเปิดร้านอาหาร ก่อนจะเล่าต่อว่าตัวเองก็เป็นลูกหลานของเกษตรอำเภอมาก่อน ทำให้มีโอกาสได้คลุกคลีอยู่กับเกษตรกร วิธีทำการเกษตรใหม่ๆ มาตั้งแต่เด็กๆ และเห็นว่าทุกคนสามารถดูแลเลี้ยงชีพตัวเองได้ด้วยการทำการเกษตร แต่มาตอนนี้พื้นที่เกษตรเหลือน้อยเพราะคนถอดใจบ้าง ไปใช้ชีวิตในเมืองบ้าง ยังไม่รวมถึงภัยแล้งที่เกิดขึ้น ทำให้พี่เอื้องเริ่มคิดแล้วว่ามันไม่ใช่เรื่องปกติ

“แม้จะเห็นว่าพี่เปิดร้านอาหารมังสวิรัติ แต่พี่ไม่เคยมองว่าทุกคนต้องมากินอาหารมังสวิรัติ พี่แค่มองว่าอาหารประเภทนี้เป็นอาหารที่ทำให้เราสุขภาพดี และแน่นอนเมื่อเป็นอาหารมังสวิรัติ ความปลอดภัยจากสารเคมีก็เป็นเรื่องสำคัญ พี่จึงพยายามหาฟาร์มที่พร้อมมาร่วมมือกันปลูกผักอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมี”

แต่การปลูกผักอินทรีย์ หรือที่เราเรียกว่าออร์แกนิกนั้น กระบวนการได้การรับรองเครื่องหมายออร์แกนิกยังคงต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ อีกทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกษตรกรในเชียงใหม่ก็ใช้สารเคมีตามความเชื่อเมื่อสมัยหลาย 10 ปีก่อน พี่เอื้องจึงเน้นที่การให้คำปรึกษาและให้กำลังใจแก่เหล่าเกษตรกรด้วยการแนะนำวิธีในการทำให้เป็นมาตรฐาน พร้อมกับวิธีการเริ่มต้นการทำเกษตรอินทรีย์ อย่างตอนนี้ฟาร์มที่เรายืนอยู่ก็เป็นฟาร์มของรุ่นน้องพี่เอื้องที่กลับมาใช้ที่ดินของพ่อแม่ปลูกผัก ควบคู่ไปกับการทำงานประจำ

หลักๆ คือเราต้องให้กำลังใจพวกเขา การทำเกษตรอินทรีย์มันเป็นอะไรที่ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ของที่ขายในร้านพี่เลยไม่ใช่ออร์แกนิกแบบได้ใบรับรองทั้งหมด แต่เราจะพยายามเลือกใช้พืชผักอินทรีย์จากฟาร์มที่เราไว้ใจ ซึ่งเราเองก็มีวิธีใช้ธรรมชาติตรวจสอบ อย่างเช่นการปลูกพืชเป็นกำแพงเพื่อป้องกันสารเคมี หรือการให้เขาเลี้ยงปลาที่อ่อนไหวต่อสารเคมีไว้ในบ่อ ถ้าปลาอยู่ได้ก็แปลว่ามีความปลอดภัย ซึ่งการทำแบบนี้ทำให้เกษตรกรเขาได้เห็นผลเรื่อยๆ ไม่ท้อไปก่อนระหว่างทาง และเราก็รับซื้อของของเขาด้วย ให้ทุกคนทุกฟาร์มไปต่อได้”

โดยหัวใจหลักนั้นพี่เอื้องบอกว่าไม่ได้มองหาเกษตรกรที่ทำออร์แกนิกได้ดีแบบสมบูรณ์แบบ หากแต่ต้องการคนที่เข้าใจถึงสิ่งที่ทำว่าทำไมเราถึงไม่ต้องการ “สารเคมี”

เรียบเรียงจากบทความ Charming Chiang Mai หลงเสน่ห์ “เชียงใหม่”  โดย รตินันท์ สินธวะรัตน์ คอลัมน์ Cover Story นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 236 เดือนมีนาคม 2563


Tag: , มังสวิรัติ, เกษตรอินทรีย์, เชียงใหม่,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed