ท่องเที่ยว “ตรัง” สไตล์ลึกซึ้ง

วันที่ 18 กันยายน 2560  3,655 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 206 เดือนกันยายน 2560

เรียกว่าเราเอาแคมเปญปีนี้ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมาต่อยอดเป็นชื่อเรื่องเลยแหละ เราไม่ได้อยากให้ทุกคนไปถึง “เมืองตรัง” แล้วรู้สึกว่ามีแต่ “หมูย่าง” หรือ “วิวาห์ใต้สมุทร” เหมือนอย่างที่แล้วมา

เมืองตรัง

สองเดือนก่อนหน้านี้เราพาลงลึกไปถึงรากเหง้าของคนตรังผ่านชุมชนเก่าทับเที่ยงและอาหารการกินมาแล้ว แต่เรารู้สึกเสียดายหากไม่ได้พูดถึงสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ที่ได้ไปเที่ยวมา จึงขออภัยไว้ล่วงหน้าที่ชวนกลับไปเที่ยวตรังอีกรอบ แต่จะพาไปในมุมที่ลึกซึ้งขึ้นอีกหน่อย (นั่นไงเข้าชื่อเรื่องได้สักที ฮ่าๆ)

เมืองตรัง

ผู้เฒ่ากำลังหาปลาในอ่างเก็บน้ำคลองท่างิ้ว

เราขอพาออกไปนอกเมืองอยู่หน่อยๆ สถานที่ท่องเที่ยวใหม่ล่าสุดของเมืองตรังซ่อนตัวอยู่ในอ่างเก็บน้ำคลองท่างิ้ว อำเภอห้วยยอด ซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เราต้องเดินทางไปที่อ่างเก็บน้ำก่อนเดินทางต่อด้วยเรือหัวโทงของชาวบ้าน แต่ไม่ใช่การเดินทางที่ลำบาก น้ำของอ่างเก็บน้ำค่อนข้างนิ่งจึงสะท้อนภาพของท้องฟ้าและป่าสองข้างทางอย่างสวยงาม ปลายทางอยู่ที่น้ำตกบ่อเจ็ดลูก เพิ่งทำเส้นทางที่ไม่ทำลายธรรมชาติและให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปได้ง่ายขึ้น แล้วเสร็จและเปิดให้เที่ยวเป็นทางการเมื่อต้นปี 2560 นี่เอง

เมืองตรัง

ท่าเทียบเรือของน้ำตกบ่อเจ็ดลูก

จากท่าเรือเรานั่งเรือหัวโทงใช้เวลาราว 20 นาทีก็มาถึงท่าเทียบเรือ จากนั้นเดินเท้าต่ออีกประมาณ 10 นาที น้ำตกแห่งนี้มีจุดให้เล่นน้ำได้บ้างแต่ไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นจุดชมวิวที่สวยงาม โดยเฉพาะจุดที่กลายเป็นชื่อเรียกของน้ำตก ซึ่งมาจากลักษณะน้ำตกที่มีหลุมบ่อใหญ่ 7 บ่อ จากต้นน้ำบนเทือกเขาบรรทัด

เมืองตรัง

น้ำตกบ่อเจ็ดลูก

เมืองตรัง

น้ำตกกะช่อง

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เคยเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เองมาที่ตำบลท่างิ้วเพื่อเยี่ยมเยือนค่ายทหาร ตชด. ทำให้ที่นี่พัฒนาขึ้นมาเป็นอ่างเก็บน้ำและมีเรื่องราวประวัติศาสตร์ของการสู้รบกับคอมมิวนิสต์ในปักษ์ใต้ซ่อนตัวอยู่

เมืองตรัง

อ่างเก็บน้ำคลองท่างิ้ว

จากนั้นเราเดินทางสู่น้ำตกกะช่อง ในอำเภอบ้านนาโยง ซึ่งมีเรื่องราวของการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในปักษ์ใต้เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2502 ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และได้ทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” และ “สก” ไว้บนหน้าผาหินของน้ำตก ปัจจุบันกลายเป็นที่พักผ่อนของคนตรังเนื่องจากไม่ไกลจากตัวเมือง

เมืองตรัง

ลำธารชั้นล่างของน้ำตกกะช่อง

ไม่ไกลกันเรามาที่บ้านเขาหลัก ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศหมู่บ้านที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ป่า โดยชาวบ้านใช้วิธีการจัดการท่องเที่ยวชุมชน ลงทุนทุกอย่างเองทั้งหมด ให้รายได้เป็นของชุมชนร่วมกัน พานักท่องเที่ยวล่องเรือคายักชมลำน้ำและป่า ชาวบ้านจะเตรียมข้าวปลาอาหารให้เราได้กินก่อนล่องเรือ ล่องเรือของที่นี่ไม่มีเกาะแก่งที่ยากต่อการพายเหมือนล่องแก่งทางภาคเหนือ พายง่ายสบายหายห่วง

เมืองตรัง

อาหารพื้นบ้านจากบ้านเขาหลัก

เมืองตรัง

ล่องแก่งบ้านเขาหลัก

อีกความลึกซึ้งคือกลุ่มมีดพร้านาป้อ ผลิตภัณฑ์โอทอป ซึ่งเตรียมสร้างพิพิธภัณฑ์ที่รวมเรื่องราวของมีดพร้า จากคำบอกเล่าของบังเด่น ชิตจันทร์ มีดพร้ามีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่าเกิดจากความบังเอิญที่ทำให้ได้มีดที่คมและคงทน จนถูกพัฒนาสืบต่อจนถึงปัจจุบัน มีดพร้ากลายเป็นเครื่องมือจำเป็นใช้ทำสวนทำนาทำไร่ น่าเสียดายที่แต่ละบ้านไม่ได้ทำกันแล้ว เหลือเพียงโรงงานแห่งนี้แหละที่รวมเอาช่างฝีมือมาทำร่วมกันภายใต้แบรนด์มีดพร้านาป้อส่งขายตามจังหวัดเพื่อนบ้านและงานโอทอป เร็วๆ นี้บังเด่นวางแผนเตรียมสร้างพิพิธภัณฑ์ในพื้นที่ของโรงงานเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของมีดพร้าให้เป็นที่รู้จัก

เมืองตรัง

มีดพร้านาป้อ

เก็บกระเป๋าเสื้อผ้าแล้วลองท่องเที่ยว “ตรัง” สไตล์ลึกซึ้งดู เราว่าน่าสนใจทีเดียว บางครั้งเราก็ไปเที่ยวแต่แหล่งท่องเที่ยวเหมือนๆ กันไปหมด เที่ยวทะเล กินติ่มซำ กินหมูย่าง เที่ยวงานวิวาห์ใต้สมุทร แต่มักจะหลงลืมความเป็น “ตรัง” ที่มีมากกว่านั้น

เมืองตรัง

เหมือนอย่างที่ชุมชนทับเที่ยงรื้อฟื้นเรื่องราวของชุมชนแล้วออกมาเล่าให้นักท่องเที่ยวได้รับรู้ ลึกซึ้ง และเก๋ไก๋จะตายไป (แอบเอาแคมเปญมาใช้อีกแล้ว ฮ่าๆ)


Tag: , Travel, ตรัง, ท่องเที่ยว,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed