ถนนที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบของ “ส้ม-นัชชา เหตระกูล”

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563  6,807 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 235 เดือนกุมภาพันธ์ 2563

หากมองแค่นามสกุล ภาพของ “ส้ม-นัชชา เหตระกูล” ในความคิดของคนทั่วไปคือทายาทนักธุรกิจคนดังที่ชีวิตเพียบพร้อมในทุกด้าน แต่เมื่อได้พูดคุยถึงเบื้องหลังความสำเร็จของ Sushi Mori ร้านอาหารญี่ปุ่นที่วันนี้มีถึง 2 สาขา รวมถึงก้าวใหม่กับ Britannica Brasserie ร้านอาหารฝรั่งเศสที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา เพราะส้ม-นัชชาไม่ได้ใช้นามสกุลเป็นตัวช่วย และถนนสายนี้ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบมาตั้งแต่ต้น  

คุณส้มเล่าย้อนถึงวันที่เดินไปบอกคุณพ่อว่าไม่อยากทำธุรกิจที่บ้าน ขณะที่ไม่มีคำตอบให้กับทั้งคุณพ่อและตัวเองเช่นกันว่าอยากทำอะไร “คุณพ่อไม่ห้าม แต่อยากให้เราเริ่มจากศูนย์ คือไม่มีตัวช่วยนะ (ยิ้ม) ท่านบอกว่าให้เราทุกอย่างแล้ว โดยเฉพาะความรู้ ตอนนั้นเพิ่งเรียนจบก็ออกหางานทำเหมือนเด็กจบใหม่ทั่วไป ไม่ได้ใช้เงินที่บ้าน ไม่มีรถขับ จะไปไหนก็ใช้บริการสาธารณะ

ส้ม-นัชชา เหตระกูล

“ส้มเริ่มงานแรกในฝ่ายการตลาดของรายการโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ใครเห็นนามสกุลก็มักถามว่ามาทำงานเล่นๆ แบบในละครหรือ เราก็ได้แต่ตอบขำๆ ว่า ‘ทำจริงค่ะ’ ลักษณะของงานเป็นการประสานงานทั่วไป รู้สึกเฉยๆ ทำได้ แต่ไม่ได้ชอบเป็นพิเศษ ทำอยู่ประมาณ 6 เดือนก็มีเพื่อนที่รู้ว่าส้มชอบฟังวิทยุชวนไปเป็น AE รายการวิทยุ ได้เงินเดือน 14,000 บาท จากที่เคยสบายมาก่อนก็ถือว่าลำบากเหมือนกัน จะซื้ออะไรคิดแล้วคิดอีก บางทีมีห่อข้าวไปกินที่ทำงานด้วย กลายเป็นคนขี้งก (หัวเราะ) แต่เป็นช่วงที่สนุกกับงานมาก ได้ประสบการณ์หลายอย่าง สามารถทำยอดได้ตามเป้าและรายได้ก็เพิ่มขึ้น ประกอบกับเราเก็บเงินเก่ง แค่ 2 ปีก็มีเงินเก็บก้อนหนึ่งแล้ว

“ด้วยความที่เราเป็นคนชอบกินมาตั้งแต่เด็ก กินได้หลากหลาย และสังเกตว่าคนไทยชอบกินอาหารญี่ปุ่น จึงมองว่าธุรกิจนี้มีโอกาสเติบโตสูง บวกกับมีทำเลน่าสนใจย่านสาทรซึ่งเป็นย่านธุรกิจและเป็นกลุ่มเป้าหมายของเรา จึงตัดสินใจนำเงินมาลงทุนเปิดร้าน Sushi Mori ร่วมกับเพื่อน คิดว่าถ้าไม่เวิร์กก็ปิด เงินเก็บก็แค่หมด (หัวเราะ) แต่เราไม่ได้ติดลบ และยังได้ประสบการณ์เพิ่มมาอีกอย่าง

ส้ม-นัชชา เหตระกูล

“ช่วงแรกที่เปิดร้านส้มยังทำงานประจำควบคู่ไปด้วย จนถึงจุดที่เหนื่อยก็เริ่มกังวลว่าจะทำงานได้ไม่เต็มที่เลยเดินไปบอกเจ้านายว่าขอลาออก ซึ่งเจ้านายแนะให้ลาแบบ without pay เพื่อให้เราได้คิดทบทวน ตอนนั้นเลยมีเวลามานั่งที่ร้านทั้งวัน เหมือนได้ปลดล็อกตัวเองจากที่ไม่เคยรู้ว่าอยากทำอะไร เราตอบตัวเองได้แล้วว่าเรามีความสุขเมื่ออยู่ในร้านอาหาร เวลาลูกค้าชมเราก็ดีใจ เวลาลูกค้าติเราก็กระตือรือร้นรีบปรับปรุง มีพลังที่จะทำให้ดียิ่งขึ้นในทุกวัน

“ช่วงจบปริญญาตรีใหม่ๆ จะเรียนต่อก็ยังไม่รู้จะเรียนอะไร คิดแค่ว่าหางานทำแล้วเก็บเงินเยอะๆ ไว้ก่อน ค่อยๆ ต่อจิ๊กซอว์ทีละชิ้นจนกว่าภาพจะใหญ่ขึ้น วันที่ตัดสินใจบอกคุณพ่อถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตที่ทำให้ได้ประสบการณ์มากมาย แน่นอนว่ามันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการทำงานในครอบครัว แต่เราโชคดีมากที่หาตัวเองเจอในเวลาไม่นาน ได้ทำงานในฝัน (รายการวิทยุ) มีเจ้านายในฝัน (เจ้านายที่ใส่ใจลูกน้อง) วันที่เรามีลูกน้องก็อยากให้โอกาสกับเขาเหมือนกับที่ตัวเองเคยได้รับ”

ส้ม-นัชชา เหตระกูล

นอกจากจะให้ความสำคัญกับทีมเวิร์กที่เป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ คุณส้มยังมองว่าการขยายธุรกิจคือช่องทางที่เปิดโอกาสให้พนักงานได้เติบโต “ส้มจะให้โอกาสคนในก่อนรับสมัครคนใหม่ ให้โอกาสเขาไปฝึกฝนแล้วมาทดสอบให้ได้ตามมาตรฐาน  แม้ธุรกิจของเราจะยังเป็น Startup ที่ต้องเรียนรู้อีกมาก แต่การมีทีมเวิร์กที่ดี มีพนักงานที่พร้อมลุยไปด้วยกัน พนักงานมีความสุข เรามีความสุข ธุรกิจก็ Feel Good”

หากจะกล่าวว่าความสำเร็จของ Sushi Mori เกิดจากความมุ่งมั่นที่จะมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าและพนักงาน รวมถึงการคาดการณ์ทิศทางของตลาดได้อย่างแม่นยำก็คงไม่ผิดความจริงนัก ส่งผลสู่การขยายสาขา 2 ที่ศูนย์การค้าเกษรวิลเลจ และต่อยอดด้วย Britannica Brasserie ร้านอาหารฝรั่งเศสที่มีบรรยากาศชวนนั่ง ซึ่งคุณส้มออกแบบตกแต่งและควบคุมงานด้วยตัวเอง รวมถึงการคัดสรรวัตถุดิบที่หลายชนิดต้องเดินทางไกลไปถึงแหล่งผลิตเพื่อให้เห็นกระบวนการทุกขั้นตอนและเปรียบเทียบรสชาติที่ดีที่สุดก่อนนำเข้ามาใช้ในร้าน

แม้หลายคนจะมองว่าธุรกิจร้านอาหารมีการแข่งขันสูง แต่มุมคิดของเธอต่างออกไป นั่นคือตลาดที่มีการแข่งขันสูงคือตลาดที่มีโอกาสเพราะมีกำลังซื้อ อาหารไม่ได้เป็นแค่ปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต แต่คือพื้นที่สำหรับการสังสรรค์ทุกโอกาส ในอนาคตธุรกิจนี้จะยิ่งเติบโตและมีนวัตกรรมเข้ามาสร้างสีสันไม่สิ้นสุด ซึ่งคุณส้มไม่ได้มองเฉพาะการลงทุนในประเทศ แต่ยังมองหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศควบคู่ไปด้วย

Britannica Brasserie

“เราไม่คิดว่าใครเป็นคู่แข่ง หากอยู่ในธุรกิจเดียวกันย่อมจะส่งเสริมกันมากกว่า ทุกร้านมีคอนเซ็ปต์และกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง ถ้าจะแข่งก็แข่งกับตัวเอง ต้องพัฒนารสชาติและบริการตลอดเวลา สำหรับใครที่ยังไม่รู้เป้าหมายในชีวิตลองก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซน ให้โอกาสตัวเองได้ทำสิ่งต่างๆ ถ้าเจอสิ่งที่ดีก็ขอให้อยู่กับเรานานๆ แต่ถ้าเจอสิ่งไม่ดีก็ขอให้ได้อะไรจากมัน ค่อยๆ ต่อจิ๊กซอว์ไปทีละชิ้นจนกว่าจะเห็นภาพที่สมบูรณ์”  

ถนนที่น่าเดินบางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องโรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป เพราะยังมีอีกหลายองค์ประกอบที่ท้าทายให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างไม่รู้เบื่อ


Tag: , Food in Biz, ส้ม นัชชา,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed