ส่วนใหญ่สารให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ (Non-Nutritive Sweeteners) จะให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลซูโครสหรือน้ำตาลทราย 100-1,000 เท่า ส่วนมากแล้วจะไม่ให้พลังงาน ขณะที่บางชนิดให้พลังงานน้อยมาก เช่น แอสปาร์แตม
สารให้ความหวานแต่ละชนิดเหล่านี้จะให้ความหวานลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน เช่น ความเข้มข้นของความหวาน (เทียบเป็นกี่เท่าของน้ำตาล) ความคงตัวของความหวานเมื่อผ่านความร้อน ผลของการเคลือบที่ผิวฟันและรสชาติที่ยังคงอยู่ในปาก (Coating of the Teeth and Aftertaste Effect) ส่วนมากสารให้ความหวานที่ได้รับการอนุมัติให้บริโภคมักมาจากการสังเคราะห์ (Artificial Sweeteners) แต่ก็มีชนิดที่มาจากธรรมชาติ เช่น สเตเวียหรือหญ้าหวาน
สารให้ความหวานที่มาจากการสังเคราะห์แต่ละชนิดในแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ทาง FDA ได้อนุมัติให้ใช้มีอยู่ 7 ชนิด ได้แก่ Acesulfame K, Advantame, Aspartame, Neotame, Saccharin, Sucralose และ Stevia ส่วนประเทศในสหภาพยุโรปการอนุมัติจะกว้างมากกว่าทาง FDA โดย EU ได้อนุมัติสารให้ความหวาน Cyclamate ใช้ได้ด้วย ส่วน Stevia อนุมัติให้ใช้ได้บางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และถูกจัดให้เป็น Food Additive โดยได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้มานาน 10 ปีแล้ว แต่เมื่อไม่นานมานี้ Stevia ได้รับการอนุมัติให้ใช้จาก European Food Safety Authority (EFSA) และ US FDA แล้ว
แม้ว่าสารให้ความหวานแทนน้ำตาลจะไม่มีพลังงาน หรือบางชนิดมีพลังงานน้อยมาก และค่อนข้างมีความปลอดภัย แต่ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากเกินกำหนด ดังนั้นจึงมีเกณฑ์กำหนดปริมาณสูงสุดต่อวันที่สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัยโดยไม่เกิดอันตรายใดๆ (Acceptable Daily Intake; ADI)
EFSA= European Food Safety Authority, FDA = Food and Drug Administration, SCF= Scientific Committee on Food (European Commission)
ข้อดีของสารให้ความหวานแทนน้ำตาล
- ไม่เพิ่มความอยากอาหารและไม่เพิ่มพลังงาน
- ช่วยลดพลังงานที่ได้รับเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารที่มีพลังงานสูง
- ช่วยลดน้ำหนักได้เล็กน้อย รวมทั้งช่วยลดมวลไขมันและเส้นรอบวงเอวได้
- ส่งผลดีต่อระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหารและอินซูลินทั้งในผู้ที่มีสุขภาพดีและผู้ที่เป็นเบาหวาน
- ไม่ถูกหมักในช่องปากโดยเชื้อแบคทีเรียและลดอัตราการสูญเสียแร่ธาตุของฟันจึงไม่ทำให้ฟันผุ
การใช้สารให้ความหวานควรใช้ด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่เป็นไมเกรน ผู้ป่วยโรคลมชัก และเด็ก โดยเฉพาะในเด็กต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะเด็กมักบริโภคอาหารและเครื่องดื่มในปริมาณมากเมื่อเทียบกับปริมาณที่แนะนำต่อน้ำหนักตัว
จากการศึกษาทางระบาดวิทยาในกลุ่มประชากรเด็กพบว่ามีความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างการบริโภคเครื่องดื่มที่มีสารให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการกับการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว การใช้สารให้ความหวานที่สังเคราะห์มีความสัมพันธ์กับการกระตุ้นไมเกรนในกลุ่มผู้ที่มีความเปราะบาง มีการศึกษาชาวเดนมาร์กในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์จำนวน 59,334 คน พบว่าการบริโภคเครื่องดื่มที่มีสารให้ความหวานสังเคราะห์มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด
ส่วนผู้เป็นเบาหวานแนะนำให้บริโภคสารให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการในปริมาณเล็กน้อย เนื่องจากมีหลักฐานใหม่ที่ระบุถึงผลเสียเมื่อบริโภคในระยะยาวในกลุ่มประชากรบางส่วน นอกจากนี้ต้องระวังอาหารที่ฉลากระบุไว้ว่า “Sugar Free” เนื่องจากอาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่าไม่มีน้ำตาล จึงบริโภคในปริมาณมาก ซึ่งอาจจะมีสารให้ความหวานที่ให้พลังงานอยู่ก็ได้ เช่น Sorbitol หรือ Mannitol รวมทั้งอาจมีแป้งและไขมันเป็นส่วนประกอบในปริมาณมากแทน ซึ่งย่อมมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้
American Diabetes Association หรือ ADA ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้สารให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการไว้ดังนี้ คือไม่แนะนำให้ใช้ในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี ส่วนหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรใช้ได้ในปริมาณที่น้อยที่สุดหรือจำกัดการใช้ แม้ว่า FDA จะประกาศว่าใช้ได้อย่างปลอดภัยแล้วก็ตาม สำหรับ Cyclamate, Saccharin และผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบควรหลีกเลี่ยงจะดีที่สุด ขณะที่สารให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการตัวอื่นๆ สามารถใช้ในปริมาณที่พอเหมาะได้ หรือไม่ใช้เลยจะดีที่สุด เนื่องจากในปัจจุบันยังขาดข้อมูลการศึกษาในระดับสเกลใหญ่ สำหรับผู้ที่เป็นไมเกรนและผู้ป่วยโรคลมชักควรใช้ในปริมาณพอเหมาะหรือไม่ควรใช้เลย
ดังนั้นจึงต้องใช้และบริโภคสารให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างระมัดระวัง
Tag:
, Food for life,
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น