ทับทิมช่วยเพิ่มการทำงานของสมอง

วันที่ 6 กันยายน 2560  4,650 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 206 เดือนกันยายน 2560

ทับทิมช่วยเพิ่มการทำงานของสมอง

ในยุคของประชากรผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปกว่า 10 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.5 ของประชากรทั้งหมด (ข้อมูลจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. 2559) จากการเพิ่มขึ้นนี้ทำให้มีปัญหาด้านสุขภาพคือความเสื่อมของร่างกาย โดยเฉพาะสมอง เมื่ออายุมากขึ้นจะส่งผลให้สมองทำงานลดน้อยลงและความจำเริ่มถอยลง ทักษะการเรียนรู้ลดลง การคิดต่างๆ ช้าลง หรือเกิดโรคอัลไซเมอร์ (โรคสมองเสื่อม) จากการศึกษาในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมาพบว่า "ทับทิม" ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีสีแดงเข้มช่วยปกป้องสมองจากการทำลายของสารอนุมูลอิสระและสิ่งแวดล้อมได้

ทำไมการกินทับทิมจึงส่งผลต่อสมอง? นักวิจัยพบว่าสารที่มีอยู่ในทับทิมช่วยเพิ่มการทำงานของสมอง ลดการเกิดภาวะความจำเสื่อม และลดความเสื่อมของเซลล์ประสาทสมอง ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดเข้าสู่สมอง กระตุ้นการทำงานของสารสื่อประสาทในสมอง (Neurotransmitter) เพื่อนำคำสั่งของสมองไปยังเซลล์ประสาทอื่นๆ ของร่างกาย การที่สารสื่อประสาทในสมองทำงานได้ไม่ดีจะส่งผลให้เกิดสมาธิสั้น ขี้ลืม นอนหลับไม่สนิท ความจำในระยะสั้นไม่ดี และหากสารสื่อประสาทเสื่อมลงไปเรื่อยๆ อาจทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้งานวิจัยยังระบุถึงประโยชน์ของทับทิมต่อการลดการอักเสบ ซึ่งภาวะการอักเสบนี้เป็นอีกกลไกที่ส่งผลเสียต่อสมองและหลอดเลือดสมอง ทำให้หลอดเลือดสมองเกิดแตกได้และทำลายเซลล์ประสาท ทำให้เกิดความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ สารสำคัญที่มีอยู่ในทับทิม ได้แก่

  • วิตามินซี
  • วิตามินบี 5
  • กรดโฟลิก
  • วิตามินอี
  • วิตามินเค
  • ฟอสฟอรัส
  • แมกนีเซียม
  • สังกะสี
  • เหล็ก
  • ใยอาหาร
  • สารพฤกษเคมี กลุ่ม โพลีฟีนอล แอนโทไซยานิน กรดเอลลาจิกและพูนิคาลาจิน

วิธีกินทับทิมเพื่อผลประโยชน์สูงสุด

  • กินเมล็ดสดโดยกินเป็นผลไม้
  • ทำเป็นเมนูยำหรือใส่ในอาหารต่างๆ
  • โรยบนสลัด โยเกิร์ต ไอศกรีม หรือใส่น้ำเปล่าเพื่อกลิ่นและรสชาติที่ดี
  • ทำเป็นน้ำทับทิมสกัดเย็น
  • ทำแยมจากทับทิม

นอกจากอาหารเช่นทับทิมแล้ว สิ่งที่ช่วยให้ความจำดีขึ้นคือพฤติกรรมของแต่ละบุคคล เช่น การนอนหลับ ซึ่งควรนอนหลับพักผ่อนให้ได้วันละ 7-8 ชั่วโมง การหายใจลึกๆ เพื่อนำเอาออกซิเจนเข้าสู่สมอง การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การผ่อนคลายร่างกาย การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด การดื่มน้ำให้เพียงพอวันละอย่างน้อย 8 แก้ว การฝึกเล่นเกม ฝึกความจำ การเขียนหนังสือ เล่าเรื่องราวต่างๆ เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมอ..

เหล่านี้ก็จะยิ่งช่วยส่งเสริมให้สมองทำงานได้ดีและเสื่อมช้าลง


Tag: , Food for life, ทับทิม, โรคอัลไซเมอร์, ความจำเสื่อม,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed