สำหรับคนไทยเราเมื่อนึกถึงประเทศเนปาล หลายคนอาจนึกถึงเมืองโบราณปาตันและบักตะปูร์ หรือไม่ก็ภูเขาหิมะสูงเสียดฟ้า อันเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย แต่สำหรับคนเนปาลเองแล้วยามเมื่อต้องการพักผ่อนตากอากาศเขาจะไปที่ไหนกันนะ คำตอบง่ายๆ คือเขาจะชวนกันขึ้นไปเที่ยวบนภูเขาสูงปกคลุมด้วยป่าสนและมีวิวทิวทัศน์น่าประทับใจ ผมกำลังพูดถึง “เมืองทานเซน” (Tansen) เมืองเอกของตำบลปัลป้า (Palpa District) ในภาคกลางของเนปาลนั่นเองครับ
เมืองทานเซนอาจไม่อยู่ในสารบบหรือโปรแกรมทัวร์ใดๆ ของคนไทย แต่ผมโชคดีที่ได้พบเจอเมืองนี้โดยบังเอิญ เพราะมีอยู่ครั้งหนึ่งไปเดินทางแบกเป้เที่ยวจากกรุงกาฐมาณฑุ (เมืองหลวงของเนปาล) นั่งรถมุ่งหน้าทางตะวันตกสู่เมืองโปขรา (ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเทรกกิงปีนภูเขาหิมะสูงของเนปาล) เพื่อต่อไปยังเมืองลุมพินี (สถานที่ประสูติพระพุทธเจ้า) การเดินทางด้วยรถจี๊ปขับเคลื่อน 4 ล้ออันยาวไกล ผ่านหนทางคดเคี้ยวนับพันๆ โค้งเหมือนไม่รู้จบ ช่างทำให้รู้สึกอ่อนล้าเหนื่อยกาย แต่ก็อิ่มเอมใจในขณะเดียวกัน เพราะได้ยลภาพทิวทัศน์ธรรมชาติพิสุทธิ์บนขุนเขาสูงของเนปาลอย่างเต็มอิ่ม และระหว่างทางนั้นเองที่ผมต้องแวะค้างอ้างแรมที่เมืองทานเซนในตำบลปัลป้าท่ามกลางอากาศหนาวเย็นของปลายฤดูใบไม้ร่วง เช็กอินเข้าพักในรีสอร์ตเล็กๆ สร้างด้วยไม้สนสไตล์ล็อกเคบิน (บ้านไม้ซุง) แสนน่ารัก แม้จะไม่หรูแต่ก็ดูดี เรียบง่าย และอบอุ่นในยามดึกด้วยฮีตเตอร์ทำความร้อนเครื่องเล็กๆ บวกกับชานมอุ่นๆ แบบเนปาลีที่ช่วยให้เอาชนะความหนาวบนขุนเขาที่มีป่าสนห่มคลุมไว้ราวผืนพรมธรรมชาติ
ทานเซนจัดวางตำแหน่งตัวเองอยู่กึ่งกลางระหว่างกาฐมาณฑุและเมืองโปขรา (อยู่ห่าง 176 กิโลเมตรจากกาฐมาณฑุ, 110 กิโลเมตรจากเมืองโปขรา, 55 กิโลเมตรจากลุมพินี) เป็นเมืองท่องเที่ยวที่คนเนปาลีรู้จักดี บนความสูงกว่า 1,350 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ทานเซนทอดกายอยู่ในโอบกอดของขุนเขา ปล่อยให้ผู้คนสลักเสลาผืนดินด้วยนาขั้นบันไดเป็นเชิงชั้นและทำสวนปลูกพืชผลอย่างข้าวโพด ข้าวฟ่าง ถั่ว และผลไม้ไว้เก็บกินเก็บขายตามวิถีพอเพียง บนเชิงเขาสูงรอบๆ ตัวเมืองปกคลุมด้วยป่าสนสูงชะลูด เคียงคู่รีสอร์ตน้อยใหญ่รอรับนักท่องเที่ยวด้วยไมตรี บ้านเรือนสองข้างแนวถนนที่ทอดลงเขาสู่ตลาดแต้มสีฉูดฉาดทั้งฟ้า เขียว เหลืองส้ม แดง เล่นสีจัดจ้านอย่างไม่อายใคร สะท้อนความสนุกในทีและอารมณ์ดีของผู้คน ร้านค้าเล็กๆ บนเขามีแผงขายแตงกวาใบเขื่อง มะเขือเทศแดงสุกปลั่ง แอปเปิลใบโต อีกทั้งขนมขบเคี้ยวและน้ำอัดลมขวดเล็กๆ ตามประสาเมืองบนภูเขา แต่อย่าไปถามหาน้ำแข็งนะ เพราะเป็นของหายากยิ่งกว่าทอง
ถนนสายเล็กๆ จากรีสอร์ตบนภูเขานำผมลงสู่ย่านกลางเมืองที่ “พระราชวังทานเซน ดูร์บาร์” (Tansen Durbar) ศูนย์กลางการปกครองครั้งอดีตของอาณาจักรมาการ์ส (Magars Kingdom) ช่วงศตวรรษที่ 17-18 ครั้งเนปาลยังแบ่งออกเป็นนครรัฐย่อยๆ อาณาจักรนี้เคยเข้มแข็งถึงขนาดส่งทหารไปยึดกาฐมาณฑุได้มาแล้ว แต่หลังจากมีกษัตริย์ปกครอง 22-24 องค์ก็เริ่มเสื่อม กระทั่งเนปาลล้มระบอบกษัตริย์และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ กบฏพรรคเหมาก็เข้ามาทำลายพระราชวังทานเซน ดูร์บาร์ จนยับเยิน เพราะพวกนี้คิดว่าพระราชวังคือสัญลักษณ์ของระบอบกษัตริย์ที่กดขี่ประชาชน อย่างไรก็ตาม วันนี้พระราชวังได้รับการบูรณะให้งดงามดังเดิมแล้วด้วยศิลปะบาโรก (Baroque Art) ตามศิลปะยอดฮิตในอิตาลีช่วงศตวรรษที่ 17
จากพระราชวังผมเดินเล่นเลี้ยวเข้าสู่ถนนสายการค้ากลางเมืองทานเซน ภาพคึกคักของพ่อค้าแม่ขายและสินค้าหลากหลายละลานตาก็ปรากฏทั้งผ้าถุง ผ้านุ่ง ผ้าพันคอ เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ผลไม้นานาชนิด ขนมนมเนย เครื่องเทศ เครื่องมือเกษตร เครื่องเขียน โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ไฟฟ้า ฯลฯ รวมถึงร้านตัดผมชายในห้องเล็กๆ ที่มีเก้าอี้นั่งให้ลูกค้าแค่ตัวเดียว ร้านข้างๆ เป็นโต๊ะเย็บจักรซ่อมเสื้อผ้า หรือจะเป็นร้านขายขนมแป้งทอดแบบเนปาลีก็มีให้ชิมในราคาแค่ไม่กี่รูปี
ไฮไลต์ของการมาเยือนทานเซนคือการไปสัมผัสสถานที่เร้นลับกลางป่าลึกริมแม่น้ำกาลิกันดาคี (Kali Gandaki River) จนได้รับการขนานนามว่า “ทัชมาฮาลแห่งเนปาล” (Nepal’s Taj Mahal) ผมกำลังพูดถึง “พระราชวังรานีฆาต” (Ranighat Durbar : ฆาต หรือ Ghat ในภาษาเนปาลีแปลว่า “ท่าน้ำ”)
อนุสรณ์สถานแห่งความรักนี้อาจมีขนาดยิ่งใหญ่ไม่เท่าทัชมาฮาลในอินเดีย ซึ่งจักรพรรดิชาห์ชะฮันราชวงศ์โมกุลสร้างให้แก่หญิงสุดที่รักพระนางมุมตัช ทว่าเมื่อเราพูดถึงเรื่อง “ความรัก” ขนาดก็ไม่สำคัญ แต่ความจริงใจและความรักผูกพันมั่นคงต่างห่างย่อมสำคัญกว่า
ความรักคือสื่อและพลังยิ่งใหญ่อันเป็นรากฐานก่อให้เกิดพระราชวังงดงามนี้ เมื่อเจ้าเมืองปัลป้านามว่ากัดก้า ชัมเชอร์ รานา (Khadga Shamsher Rana) ดำริให้สร้างพระราชวังรานีฆาตขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1896 ให้แก่ภรรยาสุดที่รัก ทัช กุมารี (Taj Kumari) ทว่าการเข้าถึงที่นี่มิใช่เรื่องง่าย จากเมืองทานเซนผมต้องหารถขับเคลื่อน 4 ล้อกำลังสูง ขับฝ่าหนทางออฟโรดกลางป่าทึบไปเกือบ 2 ชั่วโมง แต่พ่อหนุ่มนักซิ่งพลขับก็ขับแบบไม่กลัวรถพัง แถมยังเปิดเพลงร็อกไปตลอด ท้ายที่สุดทั้งกันชนรถ บันไดข้าง และท่อไอเสียก็หลุดเป็นชิ้น ต้องจอดซ่อมอยู่หลายรอบ สุดท้ายต้องเดินขึ้นลงเขาไปอีก 30 นาทีจนถึงพระราชวังโบราณซึ่งตั้งอยู่บนโขดหินมหึมาริมแม่น้ำกาลิกันดาคี บัดนี้น้ำลดระดับในฤดูแล้ง เผยให้เห็นหาดทรายใหญ่ 2 ฝั่ง มีเสียงเด็กๆ เล่นน้ำกันเจี้ยวจ้าวแว่วมาตามสายลม
แสงสุดท้ายของวันสีส้มอ่อนๆ กำลังจะลับเหลี่ยมเขาพอดีขณะที่ผมไปถึงพระราชวังรานีฆาต รอบๆ มีกำแพงหินเป็นแนวยาวล้อม ด้านหน้ามีบันไดสูงนำขึ้นสู่สวนดอกไม้ล้อมรอบเวียงวัง เด่นด้วยสถาปัตยกรรมยุโรปคล้ายคฤหาสถ์เจ้าขุนมูลนายผู้มั่งคั่ง โดยใช้สีฟ้าและขาวเป็นหลัก วังนี้สวยด้วยศิลปะโรมัน ทั้งหลังคาหน้าจั่วสามเหลี่ยม ลายปูนปั้น ซุ้มโค้ง และเสาโรมันเรียงรายด้านหน้า ให้ความรู้สึกหนักแน่นมั่นคง ภายในมี 25 ห้อง พร้อมด้วยหอสวดมนต์และหอคอยชมวิวแม่น้ำ ส่วนภายในยังเข้าชมได้แต่ไม่มีเฟอร์นิเจอร์แล้ว ผมอาจจะคิดไปเอง แต่ก็สัมผัสได้ถึงกลิ่นอายความรัก อดีต และคุณค่าด้านสถาปัตย์โบราณ บนระเบียงด้านข้างชั้น 2 ซึ่งหันออกสู่แม่น้ำ เป็นจุดชมวิวอาทิตย์อัสดงแสนคลาสสิก จินตนาการย้อนไปได้ถึงคืนวันอันดื่มด่ำแห่งความรักของคนทั้งสอง
คืนนั้นผมกลับไปนอนพักที่รีสอร์ตบนเขาในทานเซนด้วยความเหนื่อยอ่อน ทว่าลมเย็นที่พัดตึงเข้ามาในห้องตลอดคืนก็คืนความสดชื่นให้อย่างวิเศษ ขอบคุณทานเซนเมืองเล็กน่ารักที่นำผมไปสัมผัสอีกส่วนเสี้ยวของเนปาล ซึ่งผมไม่เคยคิดว่าจะมีอยู่จริง
Traveler’s Guide
- Best Season : เที่ยวได้ตลอดปี เพราะอากาศเย็นสบายตลอด ช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคมจะหนาวจัด
- Getting There : เมืองทานเซนอยู่ห่างจากกาฐมาณฑุ 306 กิโลเมตร ห่างจากเมืองโปขรา 122กิโลเมตร และห่างจากเมืองลุมพินี 85 กิโลเมตร เดินทางไปถึงได้ด้วยรถยนต์ โดยใช้รถอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้รถ 4WD เกือบตลอดทางผ่านภูเขาถนนคดเคี้ยว หรือนั่งรถบัสจากเมืองโปขราก็ได้ ขึ้นรถที่ Pokhara Bus Station สถานี Mustang ส่วนรถบัสจากกาฐมาณฑุขึ้นที่สถานี Gongabu Bus Park
- Overnight : แนะนำ 3 แห่ง มาตรฐานดี คือ Bajra Hotel ถนน Campus Road โทร. 977-75-520443, Siddhartha Gautam Hotel ย่าน Bishalbazar โทร. 977-75-520280, Hotel Srinagarย่าน Kailashnagar โทร. 977-75-20045, 997-75-20595 (www.hotelsrinagar.com)
- More Info : www.nepalvista.com/travel/tansen.html
Tag:
, สถานที่ท่องเที่ยว, เนปาล,
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น