อาการเริ่มต้นของสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ และเราจะรู้ได้อย่างไร?

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2562  2,639 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 232 เดือนพฤศจิกายน 2562

เชื่อว่าวัยเอจจิงหลายคนคงเคยพบเจอภาวะที่ว่า “วางแว่นไว้ที่ไหนนะ”  “เอ๊ะ! เดินเข้ามาแล้วจะหยิบอะไร” หรือ “คนนี้ชื่ออะไร” แต่ผ่านไปสักครู่ก็จำได้ สถานการณ์จะคลี่คลายและชีวิตก็ดำเนินไปตามปกติ แต่สำหรับบางคนอาจกังวลและคิดนึกไปว่าหรือนี่จะเป็นอาการเริ่มต้นของสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ และเราจะรู้ได้อย่างไร?

เช้าวันหนึ่ง ณ ศูนย์ฟิตเนสฝึกสมองผู้สูงอายุ (Cognitive Fitness Center) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศูนย์ฝึกสมองซึ่งเป็นต้นแบบในการทำกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุเพื่อชะลอและป้องกันภาวะสมองเสื่อม มีเสียงทักทายพูดคุยอย่างอารมณ์ดีของสมาชิกที่มาเข้าร่วมกิจกรรม G&C มีโอกาสพุดคุยกับ รศ. พญ. โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ คุณหมอผู้ดูแลศูนย์ฝึกสมองและเชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม เราเริ่มคุยกันถึงเรื่องการลืมตามวัย คุณหมออธิบายว่า

อาการเริ่มต้นของสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ และเราจะรู้ได้อย่างไร?

“พูดถึงเรื่องลืม คำว่าลืม ในความปกติก็มีความหลากหลาย มีดีกรีของความรุนแรงแตกต่างกัน ลืมแบบเอจจิงอายุเยอะนี่ ข้อมูลเข้าไม่ค่อยชัด เช่น จอดรถไว้ที่ไหนไม่แน่ใจ เอาแว่นไว้ที่ไหนจำไม่ได้ แต่ค่อยๆ ไล่แล้วหาเจอ อันนี้เป็นเรื่องอายุ ดีกรีจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าเขามีสมองดีมาก่อนแค่ไหน เขาใช้ความจำเป็นประจำหรือไม่ ถ้าใช้เป็นประจำก็ไม่ค่อยมีปัญหา ต่อให้อายุ 90 ก็มีปัญหานิดเดียว แต่คนที่เป็นแม่บ้านมาตลอดและไม่ค่อยใช้สมองพอถึงอายุ 60 เรื่องพวกนี้อาจจะเยอะมาก แต่ก็ไม่ถึงขนาดว่าเมื่อเช้าทำอะไร แต่ถ้าลืมโดยข้อมูลไม่เข้าหัวเลย เช่น ไม่รู้ว่าเราไปไหนมา ไม่รู้ว่าเมื่อเช้ากินอะไร อย่างนี้คือโรคแน่นอน”

คุณหมอเปรียบเทียบการหลงลืมตามวัยกับภาวะสมองเสื่อมเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นอีกว่าอาการหลงลืมตามวัยยังทำกิจกรรมได้ปกติ บางคนชอบบอกว่าตนเองความจำไม่ดี แต่สามารถบอกได้ว่าลืมอะไร บางครั้งอาจจะนึกคำพูดไม่ออกบ้างแต่เดี๋ยวก็จำได้และจะไม่หลงทางในสถานที่ที่คุ้นเคย บางครั้งอาจจะใช้เวลานึกเล็กน้อย ส่วนคนที่สมองเสื่อมจะนึกไม่ออกว่าตนลืมอะไร ความจำระยะสั้นแย่ลงจนสังเกตได้ ทั้งความจำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดและความสามารถในการสนทนา รวมทั้งนึกคำพูดไม่ออก นึกคำนานและใช้คำอื่นแทน เช่น เรียก “นาฬิกา” ว่า “อันที่ใช้บอกเวลา” เป็นต้น

อาการเริ่มต้นของสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ และเราจะรู้ได้อย่างไร?

คุณหมอบอกว่านี่เป็นอาการที่พอจะบอกได้ว่าการลืมของเรามีปัญหาไหม เมื่อถามต่ออีกว่าถ้ามีการตรวจพบว่าเป็นโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ซึ่งมีสาเหตุจากความเสื่อมของเนื้อสมองหรือเนื้อสมองตายจะมีวิธีการรักษาไหม คุณหมอตอบว่า "สมองตายแล้วคือตายเลย ไม่มีอะไรมากระตุ้นส่วนที่ตายได้ ฉะนั้นถ้าสมองตายไปแล้ว เป็นอัลไซเมอร์แล้ว สิ่งที่ทำได้คือชะลอไม่ให้ตายเพิ่ม ซึ่งการชะลอในปัจจุบันยาก็ไม่ออกฤทธิ์เท่าไร ชะลอได้ปีต่อปี"

"ถ้าเป็นอัลไซเมอร์ต้องยอมรับว่าไม่มีวิธีรักษา ฝึกสมองในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ก็ไม่ค่อยได้ผลแล้ว เพียงแต่ชะลอให้เขาอยู่ในชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้นเท่านั้นเอง การฝึกสมองมีประโยชน์กับคนที่ไม่เป็นอัลไซเมอร์และต้องทำเป็นประจำ"

เราจะมีวิธีการฝึกสมองอย่างไรเพื่อให้แข็งแรง เหมือนกับถ้าเราต้องการกล้ามเนื้อแข็งแรงก็ต้องออกกำลังกาย เช่น วิ่ง “การฝึกต้องฝึกในชีวิตประจำวันจะให้ผลดีที่สุด เพราะเราทำได้บ่อย เช่น ไปตลาดก็คิดเลขแข่งกับแม่ค้าดู ซื้อส้ม 4 ขีด กิโลกรัมละ 60 บาท ให้แบงค์ 1,000 จะทอนเท่าไร อันนี้เราใช้ทุกวัน สมองไม่ได้มีหน้าที่จำอย่างเดียว สมองมีหน้าที่หลากหลาย แต่ละด้านก็ใช้สมองคนละส่วน  ฉะนั้นวิธีฝึกได้ดีที่สุดคือต้องใช้สมองให้หลากหลาย วันนี้ไปตลาด พรุ่งนี้ไปโอนเงิน หรือวันนี้ใช้สมาธิว่าเราจะต้องดูหนังเรื่องนี้ให้จบ และพยายามวิเคราะห์ให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทุกอย่างในชีวิตเรา 1 วันใช้สมองแตกต่างกันไปเลย และถ้าเราใช้เป็นประจำทั้งวันก็จะยั่งยืนกว่าการมาเข้าคอร์ส”

บางคนอาจจะบอกว่าคิดเลขไม่เก่ง ทำอย่างอื่นได้ไหม คุณหมอบอกว่า “คำว่าไม่เก่งไม่มี” เพราะเราไม่ได้ให้คิดสมการยากๆ ที่เราคิดไม่ได้เพราะเราไม่ใช้ กิจกรรมที่ทำถ้าทำแล้วมีความสุขยิ่งดี เช่น การรวมกลุ่มกันไปทอดกฐิน คนนี้เป็นเหรัญญิก คนนี้ออกจดหมาย คนนั้นนัดหมายรถ คนนี้จัดการเรื่องอาหาร ทำบุญกลับมาอิ่มเอมใจ คุณหมอบอกว่านี่เป็นตัวอย่างที่อยู่ในกิจกรรมชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเป็นกิจกรรมที่มีค่ามากกว่าเราไปสร้างอะไรที่ทำขึ้นมาไม่ได้จริงและไม่มีความสุข

อาการเริ่มต้นของสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ และเราจะรู้ได้อย่างไร?

คุณหมอบอกเพิ่มเติมว่ากิจกรรมที่จะฝึกสมองในชีวิตประจำวันควรมี 4 องค์ประกอบหลัก คือใช้สมอง ใช้ร่างกาย เข้าสังคม และมีความสุข บางคนไปซื้อตำราคิดเลขกันสมองเสื่อมมาแล้วจำใจต้องทำ ไม่สนุกก็ไม่ได้ผล คุณหมอย้ำว่าทำอะไรก็ได้ที่ตนเองมีความสุขและอยู่บนองค์ประกอบหลักที่แนะนำไป

ถ้าเราใช้กิจกรรมในชีวิตประจำวันเป็นการฝึกสมองก็ไม่จำเป็นต้องไปซื้อตำราซูโดกุมาหัดคิดเลขหรือเรียนภาษาใหม่ๆ ที่ท้าทายสมอง คุณหมอบอกว่า “ไม่ใช่เช่นนั้น กิจกรรมใหม่ๆ ทุกอย่างที่เราอยากทำดีทั้งนั้น  ถือว่าออนท็อป นั่นคือสิ่งสำคัญของสมองเลย และยิ่งดีขึ้นไปอีก”

การฝึกสมองด้วยวิธีการเหล่านี้จะช่วยป้องกันอัลไซเมอร์ได้ไหม คุณหมอตอบว่า “ตอบไม่ได้ ทำดีกว่าไม่ทำ หมอขอพูดแบบนี้ดีกว่า ไม่มีเทคโนโลยีใดที่จะบอกว่าป้องกันสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ได้ สมมติเราทำแล้วจะเกิดเป็นอัลไซเมอร์ในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่เขาทำเลยไปเกิดใน 5 ปีข้างหน้า อย่างนี้เรียกว่าชะลอ หมอถึงบอกว่าทำดีกว่าไม่ทำ”

หลายคนถามถึงเรื่องอาหารว่ามีอาหารอะไรที่ช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมไหม คุณหมอบอกว่า “อาหารมี 2 อย่างคืออาหารที่บำรุงกับอาหารที่ไม่เป็นโทษ อาหารที่ไม่เป็นโทษสำคัญกว่าอาหารที่บำรุง หมายความว่าอาหารที่มีไขมันสูง เค็มไป หวานไป อาหารที่เป็นโทษเรางดซะ ร่างกายแข็งแรงมีผลดีมากกว่าการไปหาอะไรมากระตุ้นสมองเยอะค่ะ ไม่ว่าจะเป็นโกโก้ ขมิ้นชัน มีผลดี แต่ไม่รู้ว่าจะเข้าไปกระตุ้นสมองแค่ไหนไม่รู้ มันอาจจะไม่เข้าสมองสักเปอร์เซ็นต์ก็ได้ ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือควบคุมสิ่งดีๆ มากกว่า”

อาการเริ่มต้นของสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ และเราจะรู้ได้อย่างไร?

ในสถานการณ์โลกปัจจุบันที่มีผู้สูงอายุมากขึ้น อดถามคุณหมอไม่ได้ว่าประชากรโลกประสบภาวะการเป็นโรคสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์มากน้อยเท่าใด โดยเฉพาะในบ้านเรา คุณหมอบอกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่นอเมริกา อังกฤษ อัตราการเพิ่มขึ้นเริ่มชะลอตัวลงแล้ว ประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างเช่นในบ้านเราจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าในทุก 20 ปี ปัจจุบันคนไทยเป็นอัลไซเมอร์ประมาณ  8 แสนคน ซึ่งคุณหมอบอกว่าถือว่าเยอะประเทศสิงคโปร์กำลังประสบปัญหา ในประเทศญี่ปุ่นที่มีคนสูงอายุเกิน 100 ปีมากขึ้น แต่ผู้ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ชะลอตัวลงแล้ว ซึ่งจะเห็นว่าผู้สูงอายุญี่ปุ่นไม่ค่อยนั่งรถเข็น คุณหมอบอกว่าอาจเป็นเพราะเขาใช้สมองทุกวัน ที่ดีคือเขาออกแรงทุกวัน ออกกำลังกาย ทำโน่นทำนี่ ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่น

ใครรู้ตัวว่าเข้าสู่วัยเอจจิงห้ามนั่งนิ่งๆ แล้ว ต้องคิด อ่าน รีบหากิจกรรมใหม่ๆ สนุกๆ ทำโดยด่วน 
 


Tag: , Aging Gracefully, อัลไซเมอร์,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed