มีคำพูดแบบตลกร้ายในหมู่นักเดินทางที่ชอบพูดกันว่า “หากคุณไปเที่ยวประเทศอินเดียเป็นครั้งแรกมันจะมีความรู้สึกเกิดอยู่แค่ 2 อย่างเท่านั้น คือถ้าคุณไม่รักก็จะไม่อยากไปประเทศนี้อีกเลย” ผมฟังคำพูดนี้แล้วนึกสะท้อนใจทุกทีว่าสำหรับคนที่ไม่ชอบอินเดียนั้นเพราะอะไร เพราะคุณมองในแง่มุมไหนของเขา มองที่ความยากจนเหรอ หรือมองที่ความไม่สะอาดของท้องถนนในบางเมือง ผมอยากให้คุณเปิดใจให้กว้าง แล้วลองตามผมเดินทางไปยัง “กัลกัตตา” (Calcutta) เมืองที่แม่น้ำคงคาไหลออกทะเลสู่อ่าวเบงกอล เมืองที่ผู้คนเกือบห้าล้านคนใช้ชีวิตต่อเติมสีสันและจังหวะลมหายใจของมหานครใหญ่นี้ให้น่าอยู่และน่ารัก
ในเมืองกัลกัตตามีสถาปัตยกรรมวัดวาอารามและวังเก่าให้ชมหลายแห่ง
ผมเป็นคนหนึ่งที่หลงรักอินเดียตั้งแต่ได้ไปสัมผัสครั้งแรกเมื่อ 10 กว่าปีก่อน จากนั้นชื่อของอินเดียก็อยู่ในใจและในลิสต์ท่องเที่ยวของผมเสมอมา โดยเวลาไปเที่ยวอินเดียผมจะทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้ว ทิ้งตัวตนไว้ที่บ้าน แล้วออกไปสนุกกับความเป็นอินเดียให้สุดเหวี่ยงทั้งอาหารข้างถนน การนั่งรถแท็กซี่ รถไฟ นอนโรงแรมจิ้งหรีด เดินเที่ยวตลาด หรือแม้แต่ถอดรองเท้าเดินไปในเมืองเหมือนที่ชาวบ้านเขาทำกัน ผมมองว่าเรื่องแบบนี้คือความสนุกเมื่อเราได้ทำอะไรใหม่ๆ ที่แตกต่างให้ชีวิตไม่จำเจ ขณะเดียวกันผมก็ทำตัวผสมกลมกลืนกับคนท้องถิ่น อินเดียในทัศนะของผมจึงเป็นประเทศที่น่าสนุกที่สุดประเทศหนึ่งในโลก เช่นเดียวกับการเดินทางไปเยือน “กัลกัตตา” เมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตก ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวง ในสมัยที่อังกฤษยึดอินเดียเป็นอาณานิคมก็ใช้เมืองนี้เป็นศูนย์กลางการปกครองอยู่นานมาก กระทั่งภายหลังจึงย้ายเมืองหลวงไปที่เดลีมาจนทุกวันนี้ กัลกัตตาจึงเป็นอินเดียในแบบที่ไม่เหมือนใคร เพราะนอกจากจะมีความเป็นวิถีอินเดียแท้ๆ อยู่อย่างชัดเจนแล้วยังมีความเป็นเมืองใหญ่ที่กำลังโต ผสานกับกลิ่นอายสถาปัตยกรรมอังกฤษที่ยังมีอยู่เกลื่อนเมือง นี่คือเมืองแห่งความหลากหลายโดยแท้
ตัวเมืองเก่ากัลกัตตาทำให้เรารู้สึกเหมือนย้อนเวลาหาอดีตได้
รถแท็กซี่สีเหลืองหลังคาโค้งและรถรางยังคงเป็นพาหนะหลักของคนเมืองนี้
ในอดีตคนอินเดียเรียกเมืองนี้ว่ากัลกัตตา (Calcutta) แต่พออังกฤษเข้ามายึดครองก็เปลี่ยนชื่อเมืองเป็น “โกลกาตา” (Kolkata) เพราะอ้างว่าแบบเดิมฝรั่งออกเสียงยาก ซึ่งเป็นเพียงข้ออ้าง เหตุจริงๆ คือการแสดงอำนาจอย่างหนึ่งของเจ้าอาณานิคมที่ต้องการบอกให้รู้กลายๆ ว่าฉันเป็นเจ้านายแกนะ ขนาดชื่อเมืองฉันยังเปลี่ยนได้เลย อะไรทำนองนี้ครับ ช่วงที่อังกฤษใช้กัลกัตตาเป็นเมืองหลวงของอินเดีย เมืองนี้มีความเจริญมากทั้งในแง่การปกครอง การศึกษา สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม แต่หลังจากได้รับเอกราชและเกิดความวุ่นวายในประเทศกัลกัตตาก็ตกอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย เกิดความยากจน ปัญหาขยะ อาคารต่างๆ ถูกปล่อยทิ้งขาดการดูแลจนทรุดโทรม และเพิ่งจะมาฟื้นตัวได้ไม่นานนี้เองครับ เวลาไปเที่ยวกัลกัตตาจึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมบ้านเมืองเขาดูสีออกมอๆ ทึมๆ บางหลังเก่ามาก คนอยู่กันไปได้อย่างไร ฮ่าๆ ถ้าคุณรู้จักนิสัยคนอินเดีย คุณจะตอบได้ทันทีว่าที่เขาอยู่ได้เพราะมีนิสัยพอเพียงจริงๆ ครับ และถ้อยทีถ้อยอาศัย อะไรใช้ได้ก็ใช้ไปก่อน กัลกัตตาจึงเป็นเมืองที่ยังมีลมหายใจ แม้จะเก่าแต่ก็อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวและวิถีชีวิตผู้คน นอกจากนี้นักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางไปสิกขิม (Sikkim) ก็ต้องมาขึ้นเครื่องบินที่นี่ ไปลงที่เมืองบักโดกรา (Bagdogra) เพื่อต่อรถไปสิกขิมอีกทอดหนึ่ง กัลกัตตาจึงคลาคล่ำไปด้วยนักแบกเป้ท่องโลกมากหน้าหลายตา
ตำรวจม้าออกลาดตระเวนดูแลความสงบในยามเช้าตรู่
ตามหัวมุมถนนต่างๆ ยังคงมีที่สักการะบูชาเทพฮินดู อันเป็นศาสนาประจำชาติ
ผมยังจำเช้าวันหนึ่งในกัลกัตตาได้ มันคือต้นเดือนมกราคมที่อากาศเย็นเยียบ หมอกลงทั่วเมือง อากาศสดชื่นมากครับ ผมออกจากโรงแรมที่พักเล็กๆ นั่งรถแท็กซี่ที่ไม่มีแอร์และไม่มีมิเตอร์ค่าบริการ ตะลอนๆ ไปเรื่อยๆ แท็กซี่เมืองนี้มีเอกลักษณ์คือหลังคาจะโค้งๆ และสีเหลืองทั้งคัน (เป็นมรดกอย่างหนึ่งจากยุคอังกฤษ) สุดท้ายผมก็ไปจบที่ “ตลาดดอกไม้” (Flower Market) ซึ่งจะว่าไปก็คล้ายปากคลองตลาดบ้านเราสมัยก่อน ที่นี่ขายดอกไม้อย่างเดียวจริงๆ แต่มีดอกไม้นานาชนิดให้เลือก ทั้งซื้อชั่งกิโลขาย ซื้อเป็นพวงมาลัย เป็นพวงยาวๆ เอาไปไหว้เทพเจ้า หรือจะซื้อจัดช่อ จัดลงตะกร้าเล็กๆ เอาไปมอบเป็นของฝากของขวัญเขาก็ทำได้หมด ยามเช้าอย่างนี้ตลาดดอกไม้คึกคักมาก ทั้งพ่อค้าแม่ค้าและลูกค้าต่างตะโกนซื้อขายดอกไม้กันอย่างสนุกสนาน พอเห็นคนหน้าตี๋อย่างเราเดินเข้าไปในวงล้อมคนผิวเข้มเท่านั้น ความโกลาหลเล็กๆ ก็เกิดขึ้นทันที เพราะเขาต่างกรูเข้ามาขอถ่ายรูปยังกับเราเป็นดารา ฮ่าๆ เลยต้องช่วยซื้อพวงมาลัยเป็นกำลังใจ
Flower Market คึกคักที่สุดในยามเช้า เหมือนตลาดดอกไม้ไทยเปี๊ยบ
ดอกไม้หลากสีและรอยยิ้มน่ารักๆ ของแม่ค้าที่ Flower Market
คนอินเดียนิยมดอกไม้สดมากกว่าดอกไม้พลาสติก
ที่ตลาดดอกไม้นี้อยู่ใกล้กับแม่น้ำฮูกลี (Hooghly River) ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของคนฮินดูในประเทศนี้ เมื่อไปยืนอยู่ริมน้ำก็ต้องตกตะลึง เพราะมีสะพานเหล็กขนาดมหึมาทอดข้ามแม่น้ำอยู่ตรงหน้าพอดี ชื่อว่า “สะพานนิว โฮราห์” (New Howrah Bridge) ที่ทำให้เราดูตัวจิ๋วไปเลย คงเพราะมันยาวถึง 1,500 เมตร และสูงถึง 82 เมตร ว่ากันว่าแต่ละวันมีรถยนต์แล่นผ่านกว่า 100,000 คัน และผู้คนเดินสัญจรข้ามไปมากว่า 150,000 คน พอจะจินตนาการออกหรือยังครับว่ากัลกัตตามีคนเยอะแค่ไหน แต่ที่เจ๋งกว่านั้นคือสะพานนิว โฮราห์ เป็นสะพานแขวนราวเหล็กที่ยาวเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยถือเป็น 1 ใน 4 สะพานหลักที่ผู้คนใช้ข้ามแม่น้ำฮูกลีล่ะครับ ถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึกสักใบ แชะ! อ้อลืมเล่าไปว่าที่ริมน้ำเราจะเห็นกิจกรรมมากมายทั้งหญิงชายมาอาบน้ำ คนมาตักน้ำไปใช้ แถมยังมี “สาธุ” นั่งอยู่เต็มไปหมด คนที่ไม่เคยไปอินเดียอาจจะงงว่า “สาธุ” คืออะไร? บางคนคิดว่าสาธุเป็นขอทานที่นั่งแบบมือขอเงินอยู่ริมถนน แต่จริงๆ ไม่ใช่นะครับ พวกนี้จริงๆ คล้ายกับนักพรตพเนจร แต่งตัวคล้ายฤๅษี หนวดเครายาว ห่มผ้าสีต่างๆ กัน และมักนั่งขอบริจาคทานอยู่ในจุดสำคัญๆ ซึ่งของที่พวกเขาได้รับก็มีทั้งเงิน อาหาร และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ถ้าเห็นสาธุก็ไม่ต้องกลัวนะครับ เขาก็คนเหมือนเรานั่นล่ะ
สะพานนิว โฮราห์ ข้ามแม่น้ำฮูกลี สาขาหนึ่งของแม่น้ำคงคา
โชคดีเหลือเกินเพราะช่วงที่ผมไปตรงกับเดือนมกราคม ซึ่งตรงกับงานเทศกาลสำคัญที่สุดงานหนึ่ง เรียกว่า “มาคาร์สังครานติ” (Makar Sankranti) หรือพิธีอาบน้ำชุบตัวในแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ เดินต่อจากตลาดดอกไม้ไปไม่ไกลจะพบกับท่าน้ำที่มีคนหลายพันคนกำลังลงอาบน้ำพร้อมกัน อะเมซิ่งสุดๆ ครับ เพราะพิธีนี้มีแค่ 3 วัน แต่จะมีผู้คนกว่า 2 ล้านชีวิตมาลงอาบน้ำที่กัลกัตตา แต่หากนับรวมทั้งอินเดียแล้วก็คงมีไม่น้อยกว่า 10-20 ล้านคนที่ลงอาบน้ำในเทศกาลสำคัญนี้ เพราะเชื่อว่าคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์มาก เมื่อลงอาบแช่แล้วจะนำความสวัสดีมาสู่ชีวิต และเป็นทางลัดที่จะทำให้เขาได้พบเทพเจ้าแน่นอนเมื่อสิ้นชีพครับ
การอาบชุบตัวในแม่น้ำคงคาที่กัลกัตตาถือว่าจะได้ขึ้นไปพบเทพเมื่อสิ้นชีวิตแล้ว
ทุกปีจะมีพิธีอาบน้ำชุบตัวในแม่น้ำคงคา จึงมีคนเดินทางมากัลกัตตานับล้านคน
สถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในกัลกัตตาซึ่งห้ามพลาดชมด้วยประการทั้งปวงคือ “วิกตอเรียเมโมเรียลฮอลล์” (Victoria Memorial Hall) ศูนย์กลางการปกครองสมัยอาณานิคมอังกฤษซึ่งสร้างขึ้นด้วยหินอ่อนสีขาวเลียนแบบทัชมาฮาล การเข้าชมวิกตอเรียเมโมเรียลฮอลล์ทำให้เรานึกถึงพระที่นั่งอนันตสมาคมในกรุงเทพฯ เพียงแต่ของกัลกัตตาเขาใหญ่กว่าสัก 4-5 เท่า แถมยังมีประวัติว่าหลังจากอินเดียได้รับเอกราชแล้วก็มีวิกตอเรียเมโมเรียลฮอลล์กับป้อมแดง (Red Fort) ในโอลด์เดลีเป็น 2 สถานที่แรกซึ่งคนอินเดียเขามาโบกธงชาติกันอีกครั้งด้วยความดีใจ การมาเที่ยวที่นี่นอกจากจะได้ซึมซับประวัติศาสตร์แล้วยังจะได้ชื่นชมสถาปัตยกรรมหินอ่อนขนาดมโหฬารที่ยืนหยัดท้ากาลเวลามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1921 เพื่อรำลึกถึงพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษที่สวรรคตไปเมื่อปี ค.ศ. 1901 โดยพระนางได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “มหารานีแห่งอินเดีย” คู่กับการบริหารเครือจักรภพอังกฤษไปพร้อมๆ กันด้วย ถือว่าพระนางเป็นจักรพรรดินีเหล็กที่ฝ่าฟันเหตุการณ์ต่างๆ มาอย่างโชกโชนทีเดียว
Victoria Memorial Hall อาบแสงยามเช้าดูแปลกตา
Victoria Memorial Hall เคยเป็นศูนย์กลางการปกครองของอังกฤษยุคอาณานิคม
ลายสลักหินอ่อนของ Victoria Memorial Hall ดูแล้วเหมือนในยุโรปเปี๊ยบ
บรรยากาศในกัลกัตตายังคงมีกลิ่นอายยุคอาณานิคมอังกฤษอยู่ทั่วไป
ช่วงหัวค่ำของวันนั้นผมวนกลับไปที่วิกตอเรียเมโมเรียลฮอลล์เพื่อซื้อตั๋วเข้าไปชมแสงสีเสียงที่เปิดแสดงให้นักท่องเที่ยวชมทุกวัน โดยเขาจะยิงไฟแสงสีต่างๆ เข้าไปที่ตัวอาคารโดยตรง พร้อมกับมีเสียงบอกเล่าประวัติของที่นี่ให้ฟังอย่างได้อรรถรสดี ความหนาวเริ่มโรยตัวลงห่มคลุมกัลกัตตาอีกครั้งแต่ผมยังไม่พร้อมจะเข้านอน เพราะภาพมากมายในวันนี้ยังคงวนเวียนอยู่ในสมอง “กัลกัตตา” คืออีกเมืองที่ผมจะกลับไปอีกหลายครั้ง เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นของการทำความรู้จักกับ “The City of Joy” หรือ “เมืองแห่งรอยยิ้มและความสุข”... ตามฉายาที่ใครหลายคนตั้งให้กัลกัตตาครับ
ยามค่ำคืนจะมีการแสดงแสงสีเสียงที่ Victoria Memorial Hall ด้วย
Traveler’s Guide
- Best Season : เดือนตุลาคม-มกราคม และเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ฟ้าใส อากาศเย็นสบายดี
- Getting There : เดินทางได้ไม่ยาก เพราะจากไทยมีเที่ยวบินตรงสู่กัลกัตตาใช้เวลาบินประมาณ 3.30 ชั่วโมง เช่น การบินไทย, IndiGo, Druk Air, Bhutan Airlines และ Air Asia เป็นต้น
- Overnight : แนะนำโรงแรม 5 ดาว New Kenilworth Hotel (www.kenilworthhotels.com) จากที่นี่นั่งรถแท็กซี่ไปไม่เกิน 10 นาทีก็จะถึงแม่น้ำฮูกลีและตลาดดอกไม้แล้วล่ะ
- More Info : www.incredibleindia-tourism.org
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม : ตามรอยพระพุทธเจ้าจาก India ถึง Nepal สังเวชนียสถาน 4 ตำบล
Tag:
, Far Away, อินเดีย,
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น