คิดอย่างไรให้ก้าวทันโลกในวัยที่เปลี่ยนไป

วันที่ 5 กันยายน 2562  3,249 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 230 เดือนกันยายน 2562

เมื่อวันเกิดเวียนมาครบรอบปี คำอวยพรที่ได้รับจะเริ่มเปลี่ยนไปตามอายุ จนเมื่อรู้สึกตัวอีกทีคำอวยพรนั้นก็พาเราไปสู่อีกวัยหนึ่ง วัยที่เราอาจจำหน้าคนได้คลับคล้ายคลับคลา หรือฟังวัยรุ่นคุยกันแล้วต้องแปล

จะอย่างไรก็ตามเมื่อถึงโมเมนต์นั้นเรารู้สึกอย่างไร? บ่ายวันหนึ่ง G&C ได้มีโอกาสคุยกับคุณหมู-ประภาส ทองสุก รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สื่อสารองค์กร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ที่เพื่อนรอบข้างบอกว่าแอกทีฟตลอดเวลา และสนใจเรียนรู้เทคโนโลยีอย่างเท่าทัน เราเริ่มคุยกันว่าสัญญาณอะไรที่คุณหมูรู้สึกว่าเราได้ไปสู่วัยเอจจิงแล้ว ซึ่งคุณหมูตอบอย่างอารมณ์ดีว่า

คุณหมู-ประภาส ทองสุก

“พอนอนหลับแล้วตื่นเราก็ต้องแก่ลงเป็นของธรรมดาอยู่แล้ว ถ้าเราเข้าใจพุทธศาสนาจะรู้ว่าเราแก่ลงทุกนาที พอเราอายุ 40 กว่าก็เริ่มรู้ตัวแล้วว่าสูงวัย เราเริ่มวิ่งได้ไม่เท่าเดิม ผมว่าความรู้สึกนี้มาก่อน แต่พอหลัง 45 แล้วเริ่มแน่นอน ตอนเป็นเด็กผมเป็นนักบาสเกตบอล พอกลับไปเล่นแทบเล่นไม่ได้เลย ความคิดมันไป แต่มือมันไม่ไป เราแค่ส่งลูกได้ แต่มือกับเท้าเราไม่ไป”

รู้สึกตกใจไหม? คุณหมูบอกว่า “ก็ต้องยอมรับความจริง รู้สึกกังวลนิดหน่อย เพราะเราสูญเสียบางอย่างในวัยหนุ่มสาวไป ความสูญเสียนั้นก็ตั้งแต่รูปร่าง อ้วนขึ้น พละกำลังเริ่มถดถอย เจ็บป่วยมากขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าใจไหม บางคนรับไม่ได้เลย ไม่พูดคำว่าแก่เลย แต่ผมรับได้ แก่คือแก่ไม่เป็นไร แต่เราจะประพฤติตัวให้เหมาะสมอย่างไรมากกว่า”

แก่แล้วแต่ต้องทำงานกับผู้ร่วมงานที่อายุน้อยกว่าที่เรียกได้ว่าเติบโตมาไม่เหมือนกัน รู้สึกและปรับตัวอย่างไร? คุณหมูคุยอย่างสบายๆ ว่าเมื่อก่อนเราก็เป็นเด็กเหมือนกัน ทำงานกับคนที่อายุมากกว่า อะไรที่เราไม่ชอบในอดีตจะไม่ทำเช่นนั้น ผู้ใหญ่บางคนบอกว่าต้องเชื่อเขานะเพราะอายุมากกว่า ตอนนั้นเราไม่ชอบมาก เพราะเอาอายุมาข่มกัน พอเราเป็นผู้ใหญ่จะไม่ทำเช่นนั้นเด็ดขาด ในความคิดเขาคนเราต้องต่อสู้กันด้วยความคิดมากกว่า 

ผู้บริหารคนนี้บอกว่ามีสิ่งหนึ่งที่ใช้กับลูกน้องเสมอ คือเวลาเดินเข้ามาหาแล้วอย่าถามผมว่าคิดอย่างไร ให้บอกความคิดมาก่อนว่าคุณคิดอย่างไรแล้วค่อยมาคุยกัน เขาบอกว่าเขาไม่อยากเป็นฮีโร่ที่ต้องตัดสินใจทุกอย่าง ยิ่งอายุมากยิ่งควรถอยกลับลงมา เปลี่ยนหน้าที่เป็นโค้ชหรือผู้รับฟังมากกว่าทำทุกอย่างเอง แม้ว่าจะเห็นภาพหมดแล้วว่าเป็นอย่างไร และเราก็ควรจะให้เด็กได้มีบทบาทหรือเป็นผู้เล่นบ้าง เพราะตอนเราเป็นเด็กเราก็อยากเป็นผู้เล่น และที่เรามีวันนี้ได้ก็เพราะผู้ใหญ่เปิดโอกาสให้เราทำ

ส่วนพฤติกรรมบางเรื่องของเด็กที่ผู้ใหญ่สมัยนี้อาจจะไม่เข้าใจหรือรู้สึกรำคาญอยู่บ้าง  เช่น การคุยโทรศัพท์มือถือตลอดเวลาแม้จะยืนเบียดอยู่ที่ประตูรถไฟฟ้า

คุณหมูหัวเราะพร้อมกับบอกว่า “ผมไม่รู้สึกตื่นเต้นกับเรื่องเหล่านี้เท่าไร ผมคิดว่าในวัยเด็กผมก็เป็นเช่นนี้ ผมนั่งกินข้าวไป อ่านหนังสือไป จนแม่ดุผมแรงๆ ว่าโตขึ้นจะไปทำอะไรกิน หนังสือที่ผมอ่านในวันนั้นคือพล นิกร กิมหงวน ซึ่งปัจจุบันก็เปลี่ยนเป็นมือถือ เป็นแท็บเล็ต สิ่งที่เราควรทำคือต้องเข้าใจบริบทในยุคสมัยนั้นๆ มากกว่าจะไปเรียกร้องว่ามันไม่เหมือนในยุคที่เราเติบโตมา ผมคิดว่าไม่แฟร์นะที่จะไปบอกว่าเด็กพวกนี้ไม่ได้เรื่อง สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรทำคือเอาเขามาเปรียบเทียบกับในวัยของเรา เพราะสังคมมันไม่เหมือนกัน”

คุณหมูยังเน้นว่าคนเราเติบโตมาต่างยุคต่างสมัยกัน จะเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพียงแต่อาจจะขัดหูขัดตาเราบ้าง ถ้าไม่เป็นภัยกับสังคม ไม่ละเมิดสิทธิของใคร ก็เป็นเรื่องที่เขารับได้

แล้วการทำงานกับผู้ร่วมงานที่เด็กกว่าซึ่งเติบโตมาคนละบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมมีช่องว่างในการทำงานไหม? คุณหมูบอกว่าโชคดีที่เขาเรียนจบครุศาสตร์ แม้จะทำงานแบงก์แต่ก็ยังสอนหนังสืออยู่ อยู่กับคนที่เด็กกว่ามาตลอดจึงเข้าใจ การทำงานหรือการสอนหนังสือก็ต้องมีกติกา ซึ่งต้องอธิบายและตกลงให้เข้าใจร่วมกันก่อน เขายกตัวอย่างว่าถ้าสอนหนังสือ 45 นาทีก็จะตกลงกันเลยว่าภายใน 45 นาทีขอให้ตั้งใจเรียน ถ้าใครมีธุระก็ออกไปคุยให้เรียบร้อยแล้วกลับมาเรียน อย่ารบกวนคนอื่น เหมือนกับพนักงานที่เพิ่งเข้ามาทำงานก็ต้องอธิบายว่าการทำงานในออฟฟิศคืออะไร คุณหมูให้ข้อคิดในการทำงานร่วมกับคนที่มีอายุน้อยกว่าได้อย่างน่าสนใจว่า

“บางครั้งผมก็หงุดหงิดบ้างที่เด็กไม่มีระเบียบวินัย แต่ก็อย่าคิดว่าทำไมไม่มีระเบียบวินัยเหมือนเรา เราอย่าไปตั้งโจทย์แบบนี้ ผมคิดว่าเราอย่าทำตัวเป็นคนสูงวัย มนุษย์ลุง มนุษย์ป้า ในความคิดของเขาที่ไม่รับอะไรเลย มันคงไม่น่ารักหรอกถ้าเราต้องอยู่ในสังคมที่มีแต่คนเจเนอเรชันใหญ่กว่าเรา แล้วเราไปทำตัวให้เป็นปัญหามากขึ้น”

ในการทำงานทุกวันนี้ โดยเฉพาะการทำงานแบงก์ที่ต้องพึ่งพาระบบดิจิทัลซึ่งรวดเร็วจนทำให้พวกเอจจิงพลัดตกไปจากระบบ ผู้บริหารคนนี้มีวิธีก้าวให้ทันอย่างไร? “ผมบอกกับตัวเองว่าผมเป็นลูกจ้างมืออาชีพ แปลว่าเราจะได้รับค่าตอบแทนการทำงานในหน้าที่ของเรา หน้าที่ของผมคือต้องก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นผมจะบอกว่าตัวเองไม่ทันเทคโนโลยีไม่ได้ แสดงว่าผมไม่เป็นมืออาชีพแล้ว ถ้าเรารู้ว่ามีปัญหาอะไรทางด้านนี้ก็ต้องไปศึกษา หาคนที่รู้มากกว่ามาสอนเรา ไปคุยกับคนที่เขารู้ ไปหาความรู้เพิ่มเติม อาชีพของผมคือการเปิดรับข่าวสารให้มีความรู้มากขึ้น ผมคิดว่าเราต้องมีความสามารถและมีความมุ่งมั่นเรื่องพวกนี้มากกว่าคนอื่น จะไปบอกว่าขอโทษทีผมไม่ได้เปิดมือถือ หรือผมไม่เล่นเฟซบุ๊กไม่ได้ เพราะตอนนี้อะไรก็อยู่ในเฟซบุ๊ก”

ส่วนบางคนที่ก้าวไม่ทันทั้งการเปลี่ยนแปลงของโลกและอายุที่เปลี่ยนไปจนมีความกังวล คุณหมูมีคำแนะนำอย่างไร? “โชคดีที่ผมสนใจพุทธศาสนา อ่านหนังสือพุทธศาสนาของอาจารย์หลายท่านมาตั้งแต่เด็ก ถ้าเรามีศาสนาทุกอย่างมันจะ cool down พุทธศาสนาสอนให้เราสงบได้ สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามธรรมชาติ เราก็เป็นส่วนหนึ่งของกลไกธรรมชาติ ดอกไม้มันต้องบานแล้วร่วงหล่น เรามีธรรมชาติที่สอนเราอยู่รอบตัว ถ้าเราไม่ต่อต้านแต่เข้าใจปล่อยไปตามธรรมชาติ ทุกข์ไหมก็คงทุกข์บ้าง เพราะเกิดเป็นมนุษย์มันก็ต้องมีบ้าง เป็นความวิตกกังวลของมนุษย์ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะอยู่กับมันด้วยความรู้สึกใด ถ้าเราแข็งขืนก็จะไม่มีความสุข”

คุณหมูกล่าวทิ้งท้ายว่า “ทุกวันนี้บางทีลึกๆ ก็รู้สึกดีใจที่แก่ เพราะถ้ายังไม่แก่ อายุ 30 นี่น่าจะลำบากมาก จะสู้กับเด็ก 16-17 ได้อย่างไร ถ้าย้อนเวลากลับไปเป็นเด็กคงลำบาก และชีวิตที่ผ่านมาไม่คิดจะแก้ไขอะไร เพราะที่อยู่มานี่ก็โอเคมากแล้ว” 
 


Tag: , Aging Gracefully,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed