ในวันที่อากาศไม่ค่อยเป็นใจอย่างนี้การปักหมุดจุดเที่ยวให้ใกล้ขึ้น ย่นระยะเวลาเดินทางให้สั้นลงก็ช่วยเยียวยาความเหนื่อยล้าจากการทำงานและเพิ่มแรงบันดาลใจใหม่ๆ ได้ เช่นเดียวกับจังหวัดใกล้ๆ อย่างปทุมธานี นอกจากจะมีตลาดเก่าแก่ที่มีเสน่ห์เอามากๆ แล้ว ยังมีแหล่งเรียนรู้นอกตำราให้เราได้ทดลองเป็นนักเพาะเห็ดดูสักครั้ง
ชีวิตชีวาแห่งตลาดระแหง
ริมคลองระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว เป็นที่ตั้งของชุมชนเรือนไม้หลังคาจั่วมายาวนานกว่า 100 ปี ในวันวานที่นี่เป็นอดีตท่าน้ำที่คึกคัก มีการซื้อขายข้าวปลาอาหาร เครื่องเรือน เครื่องใช้ ไปจนถึงผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งบรรยากาศเหล่านี้ยังถูกเล่าส่งผ่านบ้านไม้สองฝั่งคลองที่ยังเปิดบ้านค้าขายกันอยู่ เป็นวิถีชีวิตจริงที่ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อนักท่องเที่ยวต่างถิ่นเฉพาะวันหยุดสุดสัปดาห์เท่านั้น
ความคลาสสิกคือสะพานไม้ข้ามคลองที่ตามข้อมูลบอกเล่าว่าสามารถชักรอกให้สะพานยกสูงขึ้นเพื่อให้เรือลอดผ่านได้อย่างสะดวก หากไล่เดินตามแผนที่เราจะพบร้านขายอุปกรณ์ประมงพื้นบ้านอย่าง “ไถ่เฮง การประมง” ที่ใครเติบโตมาริมคลองเป็นต้องหวนนึกถึงวัยเยาว์เป็นแน่ ถัดมาไม่ไกลเป็นที่ตั้งของ “ศาลเจ้าระแหง” ที่อยู่คู่ชุมชนแห่งนี้มาตั้งแต่แรก เดิมเป็นศาลเจ้าที่สร้างด้วยไม้ แต่ชาวบ้านช่วยกันลงแรงบูรณะใหม่ให้สมกับเป็นจุดรวมใจ อีกทั้งยังมีการจัดงานไหว้ศาลเจ้าอยู่เป็นประจำทุกปี
ที่ดึงดูดสายตาเป็นอย่างยิ่งคือร้านกระจกเก่าแก่ชื่อเก๋า “สถานที่แต่งผม” ของพี่อำนวยที่เปิดมานานหลาย 10 ปีแล้ว เป็นอันรู้กันดีว่าหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ต้องมาเสริมหล่อกันที่ร้านนี้ ด้วยฝีมือสุดโปรในราคาแบบกันเอง ส่วนใกล้ๆ กันเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวโบราณ ร้าน “ตาพ้ง” ที่มีลูกค้ามารอซดน้ำซุปกระดูกหมูสุดกลมกล่อมและเส้นเล็กเหนียวนุ่มกันตั้งแต่เริ่มตั้งร้าน (ขนมเบื้องก็อร่อยมาก อยากให้ลอง)
จุดหมายสำคัญของการมาเดินเที่ยวที่นี่คือการได้ลองชิมปลาช่อนแดดเดียวอันโด่งดังของร้าน “แปโภชนา” ให้ได้สักครั้ง โชคดีที่ไหวตัวทันไปที่ร้านก่อนเที่ยงวันจึงมีโต๊ะนั่งริมคลองสบายๆ บรรยากาศร้านก็เป็นแบบเรียบง่าย ได้ยินเสียงผัดกันฉู่ฉ่า ซึ่งเมนูทองคำก็ต้องยกให้ปลาช่อนทอดแดดเดียวที่อร่อยสมคำร่ำลือ เนื้อปลาแน่นนุ่ม ที่สำคัญหอมน้ำปลา เสิร์ฟมาเพียวๆ ไม่ต้องพึ่งเครื่องจิ้ม กินกับข้าวสวยดีงามนัก อีกจานที่ชอบมากคือผัดกระเพาะหมูเกี้ยมไฉ่ ครบรสเปรี้ยวเค็มหวาน กระเพาะหมูนุ่มเคี้ยวง่ายและไม่คาว หมูจ๊อก็เครื่องเคราแน่นปั้ก (เป่าก่อนกินนะ ร้อนมาก ขอเขียนคำเตือนตัวโตๆ)
ปิดท้ายด้วยการชมของแอนทีกที่บุญเจริญแอนติคของคุณอาจ ผู้หลงใหลในเสน่ห์ของโบราณที่ยิ่งเก็บ ยิ่งเก่า ยิ่งล้ำค่า ของในร้านบอกเลยว่าขายทุกชิ้น ตั้งแต่ของชิ้นเล็กๆ จำพวกเครื่องแก้วไปจนถึงตู้โบราณ ฯลฯ เดินชมแล้วเกิดต้องตาต้องใจชิ้นไหนก็สอบถามราคาได้เลย
Fresh & Friendly Farm : ไม่ใช่แค่ฟาร์มเห็ดแต่เป็นแหล่งเรียนรู้นอกตำรา
จากอำเภอลาดหลุมแก้วเราขับรถข้ามฝั่งมาที่ธัญบุรีเพื่อพบกับคนหนุ่มสาวยุคใหม่ที่นำความรู้เฉพาะทางมาเนรมิตที่ดินในพื้นที่จำกัดให้กลายเป็นฟาร์มเห็ดออร์แกนิกแบบครบวงจร คุณแอ๊ด-วุฒิพงษ์ รักษาวงศ์ และคุณจูน-สุชาดา กุลมงคล เพื่อนสนิทที่เข้ามาสานต่อฟาร์มเห็ดของมารยาทฟาร์มในรูปโฉมใหม่ที่ไม่ใช่แค่การเพาะพันธุ์เห็ดสำหรับจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำเท่านั้น แต่เมื่อก้าวเข้ามาที่นี่คุณจะได้ทำความรู้จักกับเห็ดทั้งเมืองร้อนและเมืองหนาวแบบลึกซึ้งตั้งแต่กระบวนการเริ่มเพาะเชื้อ เก็บเห็ด ไปจนถึงการแปรรูปเลยทีเดียว
ทุกอย่างในฟาร์มเป็นระบบ Eco System ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่มียาฆ่าแมลง เราสะดุดตากับกองขี้เลื่อยกองยักษ์สำหรับเพาะเห็ดที่คุณแอ๊ดย้ำหนักว่าต้องเป็นขี้เลื่อยไม้ยางพาราเท่านั้น ซึ่งเก็บความชื้นได้ดี มีความละเอียด ต้องหมักนาน 4 เดือนด้วยวิธีรดน้ำแล้วคลุมผ้าใบจนได้ที่ จากนั้นจึงนำไปใช้เพาะเลี้ยงเห็ดได้ ผลผลิตของที่นี่มีทั้งเห็ดสดและเห็ดแปรรูป แบ่งเป็นเห็ดเมืองหนาวหน้าตาน่ารักอย่างเห็ดเข็มที่มีทั้งเข็มเงินที่คนมักเรียกว่าเห็ดเข็มทอง และเข็มทอง (จริงๆ) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน แต่สีออกเหลืองทอง รสหวานและเนื้อกรอบกว่า น่าเสียดายที่คนไทยไม่ค่อยนิยมกินนักเพราะคิดว่าเป็นเห็ดเน่า (พลาดของอร่อยเสียได้) เห็ดออรินจิ เห็ดนางรมดอย สีน้ำเงินสวย รสชาติคล้ายเนื้อกุ้ง และดาวเด่นของที่นี่ เห็ดยามาบูชิตาเกะ สีขาว กลมและฟูฟ่อง นอกจากคุณสมบัติเด่นเรื่องเป็นยายังมีเนื้อสัมผัสคล้ายเนื้อปูอีกด้วย เห็ดเมืองหนาวเหล่านี้จะถูกเพาะเลี้ยงในห้องเย็น ควบคุมอุณหภูมิ ควบคุมแสงไฟ ไปจนถึงน้ำที่ใช้ ซึ่งคุณแอ๊ดใช้ความชำนาญด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ร่ำเรียนมาใช้ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด
ขณะที่เห็ดเมืองร้อนอย่างเห็ดนางฟ้าภูฏาน เห็ดนางรมฮังการี เห็ดโคนญี่ปุ่น เห็ดขอนขาว จะถูกเพาะในโรงเรือน (อึ้งไปนานมากเมื่อเจอก้อนเชื้อเห็ดเรียงรายกว่าแสนก้อน) ความง่ายอยู่ที่ไม่ต้องคุมอุณหภูมิอย่างเห็ดเมืองหนาว ซึ่งเราได้ลองเก็บเห็ดโคนที่กำลังโตได้ที่ด้วยวิธีเอามือประคองก่อน รวบแล้วดึงเบาๆ เท่านั้น ส่วนที่ยากกว่าคือการเก็บเห็ดหลินจือ ด้วยเนื้อสัมผัสที่แข็งเหมือนกับไม้ เวลาเก็บจึงต้องออกแรงบิดแล้วม้วน เห็ดหลินจือที่พร้อมจะให้เก็บนั้นสังเกตง่ายเพราะจะมีขอบสีเหลืองโดยรอบ นำมาต้มทั้งดอก ใส่น้ำผึ้งกับมะนาว จิบอุ่นๆ ชุ่มคอดี
เรื่องสนุกเกี่ยวกับเห็ดเหล่านี้ทางฟาร์มเปิดอบรมในจำนวนจำกัดคลาสละไม่เกิน 25 คน (จัด 2 ครั้งใน 1 เดือน ห่างเดือนเว้นเดือน ซึ่งคิวแน่นไปไกลแล้ว) ฝั่งคุณจูนเน้นเรื่องการเรียนรู้ของเด็ก นอกจากเด็กๆ จะได้ทำความรู้จักกับเห็ดหน้าตาแปลกๆ แล้วยังจะได้จับ-อัดก้อน-มัดจุก ซึ่งเด็กๆ ก็จะได้นำก้อนเห็ดนี้กลับไปที่บ้านด้วย จากนั้นจะได้ลงมือทำอาหารง่ายๆ จากเห็ดด้วยฝีมือตัวเอง จึงเป็นจานเห็ดที่อร่อยที่สุดในโลก (ลืมฝีมือคุณแม่ไป 5 นาที)
ขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่ต้องเรียนรู้แบบจริงจัง ตั้งแต่เริ่มเตรียมก้อนเชื้อเห็ดไปจนถึงการแปรรูปเห็ดเพื่อสร้างอาชีพ ด้วยความที่คุณแอ๊ดสอนแบบไม่กั๊ก หลายคนจึงกลับมาลงเรียนซ้ำแล้วซ้ำอีก (มีแซวกันเองว่าอยู่จนมืดค่ำ บางคนก็แวะมาทักทาย บางคนก็แวะมาเก็บพริก ฮา!)
ปิดท้ายเย็นนี้ด้วยสารพัดเมนูจากเห็ดทั้งเห็ดออรินจิย่าง แหนมเห็ด ซูชิเห็ด ขนมจีนน้ำยาเห็ด และเมนูซุปเห็ด 5 แบบที่ทำง่ายและอร่อยมาก โดยเฉพาะเท็กซ์เจอร์ของเจ้ายามาบูชิตาเกะที่กินแล้วเคลิ้ม...
เหมือนได้กินเนื้อปูอย่างไรอย่างนั้นเชียว
ขอขอบคุณ : Fresh & Friendly Farm 45 ซอยรังสิต-นครนายก 27 ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี
โทร. 08-9584-9063
Website : www.freshandfriendlyfarm.com
Tag:
, travel, ปทุมธานี,
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น