เรียกว่าตอนนี้เราน่าจะรู้จักและคุ้นเคยกับคู่หูความอร่อยประจำชุดน้ำชายามบ่ายอย่าง “สโคน” (Scone) กันอย่างดี ว่าแต่ว่าเราต้องเรียก “สโคน” หรือ “สคอน” ถึงจะถูกต้องนะ
“Scone” as in “Bone”, or “Scone” as in “Gone” ออกเสียงอย่างไรดี?
อย่าว่าแต่คนไทยที่แอบสับสนว่าจะต้องเรียกสโคน (สโกน) หรือสคอน (สกอน) ดี คนอังกฤษเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมการจิบชายังยกประเด็นนี้มาถกเถียงกันได้ทุกปีจนถึงตอนนี้ เพราะการเรียกทั้ง 2 แบบเบียดเคียงคู่มาอย่างสูสี
ในเดือนตุลาคมปี ค.ศ. 2016 YouGov บริษัทวิจัยการตลาดชื่อดังของอังกฤษได้ทำโพลสำรวจกลุ่มตัวอย่างในบริเตนใหญ่ (Great Britain) พบว่าผู้คนจะออกเสียงว่า “สคอน” ร้อยละ 51 ขณะที่ “สโคน” จะอยู่ที่ร้อยละ 42 ส่วนอีกร้อยละ 3 บอกว่าไม่รู้ (เรียกอะไรก็เรียกเถอะ) และอีกร้อยละ 3 บอกว่าไม่ได้เรียกทั้ง 2 แบบ ซึ่งไม่รู้ว่าพวกเขาเรียกขนมชนิดนี้ว่าอะไร แต่มีหลายเสียงเล่าขานว่าน่าจะออกเสียงกันว่า “สคูน” (สกูน - Scoon) ที่ดูออกนอกโลกกว่าสคอนอยู่มาก เพราะถ้าเทียบตามคำอ่านแบบหลักเหตุผลแล้ว คำว่า “Cone” ยังออกเสียง “โคน” เมื่อมีตัว S มาวางไว้ข้างหน้าก็ต้อง “สโคน” อย่างไม่ต้องสงสัย
ผลสำรวจชี้เพิ่มเติมว่าการออกเสียงที่ว่านี้มีความสัมพันธ์กับภูมิลำเนาอีกด้วย กล่าวคือถ้าเป็นคนที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของเกาะบริเตนอย่างภาคเหนือของประเทศอังกฤษและสกอตแลนด์จะออกเสียงว่า “สคอน” ส่วนคนภาคกลางและคนเมืองอย่างลอนดอนจะออกเสียงว่า “สโคน” และที่น่าสนใจไปกว่านั้นผลโพลที่ว่านี้ยังแสดงให้เห็นว่าการออกเสียงคำนี้มีความเกี่ยวพันกับชนชั้นทางสังคมอีกด้วย เพราะถ้าเป็นกลุ่มชนชั้นกลางระดับบน (Upper Middle Class) ถึงชนชั้นกลางระดับล่าง (Lower Middle Class) จะเรียก “สคอน” มากถึง 55 เปอร์เซ็นต์ ส่วน “สโคน” จะอยู่ที่ 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนกลุ่มผู้ใช้แรงงาน (C2DE) จะออกเสียง 2 คำนี้ในเปอร์เซ็นต์ที่เท่าๆ กันคือ 46 และ 45 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ
ถ้าจะพูดให้ถูกก็คือเจ้าของภาษานิยมคำว่า “สคอน” มากกว่านั่นเอง
Jam or Clotted Cream Come First? “แยม” หรือ “ครีม” มาก่อนกัน
นอกจากการออกเสียงอันชวนสงสัย ระเบียบวิธีกินยังสร้างความคับข้องใจไม่ต่างกัน เพราะยังมีคำถามอีกว่าเมื่อเราหยิบสคอนขึ้นมาแล้วควรทา “แยม” หรือ “ครีมคลอตเต็ด” (Clotted Cream) ครีมสีขาวนวลฟูสุดเข้มข้นก่อนดี
ผลสำรวจในครั้งนี้ก็ได้มติเป็นเอกฉันท์ เพราะชาวเมืองผู้ดีตอบว่าต้องทาแยมบนสคอนก่อนแล้วจึงค่อยตามด้วยครีมคลอตเต็ดถึง 61 เปอร์เซ็นต์ ส่วนคนที่ตอบว่าให้ทาครีมก่อนมีเพียง 21 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่เอาเข้าจริงครีมคลอตเต็ดก็ไม่ได้รับความนิยมให้เป็นตัวเลือกอันดับแรกในการกินคู่กับสคอน เมื่อผลชี้ออกมาว่าสิ่งที่ควรคู่กับสคอนนั้นเริ่มต้นจากแยม เนย แล้วจึงตามด้วยครีมคลอตเต็ด ซึ่งนั่นอาจเป็นเพราะครีมคลอตเต็ดจะต้องมีการนำครีมมาสกัดเพิ่มเติมให้ได้ครีมข้นๆ ไม่เหมือนกับแยมและเนยที่มีของสำเร็จสะดวกซื้อพร้อมกิน
แล้วถ้านำสคอนมาทำเป็นรสชาติ ชาวอังกฤษก็ขอเลือกสคอนผลไม้ (Fruit Scone) มากกว่าสคอนชีส (Cheese Scone)
Macaron & Macaroon “มาการอง” กับ “มาการูน”
ขอปิดท้ายกับอีกคำที่ชวนงงงวยอย่าง “มาการอง” (Macaron) และ “มาการูน” (Macaroon) ที่ดูคุ้นๆ ว่าขนมสีสวยเขียนได้ทั้ง 2 แบบจริงหรือไม่
ความจริงแล้ว “มาการอง” นั้นแตกต่างกับ “มาการูน” อย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นขนมคนละชนิดกัน แต่ถึงกระนั้นขนมทั้งสองมาจากรากศัพท์ของคำว่า “Ammaccare” ในภาษาอิตาเลียนที่แปลว่า “กรอบ” โดยมาการองหมายถึงขนมที่มีลักษณะคล้ายคุกกี้เมอแรงก์หลากสีหลายรสชาติที่มีส่วนผสมหลักเป็นแป้งอัลมอนด์และไข่ขาว ก่อนนำมาประกบกันแล้วสอดไส้ด้วยบัตเตอร์ครีม กานาช ไปจนถึงแยมผลไม้ ส่วนมาการูนเป็นคุกกี้ที่มีส่วนผสมของมะพร้าวขูด (แทนผงอัลมอนด์) น้ำตาล และไข่ขาว โดยมีหน้าตาคล้ายๆ กับขนมบ้าบิ่นบ้านเรา
ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงเรียกขานมาการองว่า “มาการูนฝรั่งเศส” (French Macaroon)
แหล่งข้อมูล
Tag:
, Nice To Know, สคอน,
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น