ไขข้อข้องใจ? ความหมายของคำว่าสกัดเย็นคืออะไรกันนะ

วันที่ 30 กรกฎาคม 2562  17,452 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 228 เดือนกรกฎาคม 2562

สาวกสายเครื่องดื่มเชื่อว่าคงต้องคุ้นกับคำว่า “สกัดเย็น” ที่มาต่อท้ายเครื่องดื่มที่เรารักอย่างกาแฟและน้ำผลไม้กันอย่างแน่นอน ว่าแต่ความหมายของคำว่าสกัดเย็นคืออะไรนะ และเครื่องดื่มสกัดเย็นดีกว่าไม่สกัดอย่างไรกัน

ไขข้อข้องใจ? ความหมายของคำว่าสกัดเย็นคืออะไรกันนะ

★ Cold Brew Coffee : กาแฟสกัดเย็น 

เชื่อว่าเมื่อเอ่ยถึง “กาแฟโคลด์บริว” (Cold Brew Coffee) หรือ “กาแฟสกัดเย็น” หลายคนคงอาจเคยสับสนว่ากาแฟที่ว่าไม่ใช่ “กาแฟเย็น” (Iced Coffee) หรอกเหรอ?

ส่วนคำตอบนั้นคงต้องบอกว่าทั้งสองมีความแตกต่างกันที่วิธีชง เมื่อกาแฟสกัดเย็นนั้นจะชงด้วยน้ำเย็นหรือน้ำอุณหภูมิห้องและใช้เวลาในการชงที่นานกว่า หรือถ้าพูดง่ายๆ ก็คือกาแฟสกัดเย็นก็คือการนำกาแฟบดใหม่ๆ ไปแช่น้ำทิ้งไว้ในน้ำเย็น ก่อนจะกรองเฉพาะน้ำออกมาแล้วจึงค่อยแต่งกลิ่นแต่งรสเติมน้ำเติมนมตามชอบ ขณะที่กาแฟเย็นที่เราคุ้นเคยกันนั้นจะชงด้วยน้ำร้อน (ซึ่งมีวิธีชงอยู่หลากหลายวิธีมากๆ) แล้วจึงค่อยทำให้เย็นด้วยการใส่น้ำแข็งลงไป ซึ่งไม่ต่างกับชาสกัดเย็น (Cold Brew Tea) ก็จะเป็นการนำใบชาไปแช่ในน้ำเย็นแล้วกรองเฉพาะน้ำชาที่ได้ออกมา แต่ชาเย็นก็มาจากการชงชาด้วยน้ำร้อนตามวิธีดั้งเดิมที่ทำกันมาโดยตลอดแล้วค่อยมาเติมน้ำแข็ง

แน่นอนว่าเมื่ออุณหภูมิของน้ำแตกต่างกัน รสชาติที่ได้จึงต่างกันด้วย ซึ่งหลายเสียงบอกว่ากาแฟสกัดเย็นจะมีรสชาติซับซ้อนหลากหลายมากกว่า อีกทั้งยังมีรสละมุนกว่า ไม่เปรี้ยว ไม่ขม เหมือนกับชงด้วยความร้อน เพราะรสชาติของกาแฟจะค่อยๆ ถูกดึงออกมาอย่างช้าๆ ไม่เหมือนกับการใช้น้ำร้อนที่รสชาติความเข้มข้นจะถูกดึงออกมาอย่างรวดเร็ว ที่สำคัญรสชาติของกาแฟที่ได้จะมีความคงที่มากกว่าด้วย เพราะถ้าใครเคยกินกาแฟดำที่ชงด้วยน้ำร้อนก็น่าจะรู้ดีว่าถ้าถูกปล่อยให้เย็นลงเมื่อใด รสชาติของกาแฟก็จะเปลี่ยนไปแทบจะทันที นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่ากาแฟสกัดเย็นจะให้กาเฟอีนที่น้อยกว่ากาแฟปกติ ทั้งนี้เป็นเพราะสัดส่วนของน้ำที่ใช้ในการชงกาแฟมีมากกว่านั่นเอง

แต่ถ้าถามว่าการชงวิธีไหนถูกแล้วล่ะก็ คงต้องบอกว่าแล้วแต่ความชอบ เพราะรสชาติของกาแฟไม่ได้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำและวิธีการชงเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของเมล็ดกาแฟ การคั่วเข้มอ่อน ไปจนถึงการใส่นมหรือไม่ใส่นมอีกด้วย

ไขข้อข้องใจ? ความหมายของคำว่าสกัดเย็นคืออะไรกันนะ

★ Cold Pressed Juice : น้ำผลไม้สกัดเย็น 

แม้จะมีคำว่าสกัดเย็นเหมือนกัน แต่น้ำผลไม้สกัดเย็นไม่ได้แปลว่าน้ำผลไม้เย็นๆ หรือน้ำผลไม้ผสมน้ำเย็นหรอกนะ หากแต่คำนี้กลับมีเทคนิคที่ซับซ้อนกว่านั้น เพราะน้ำผลไม้สกัดเย็นนั้นต้องมาจากเครื่องสกัดเย็น (Cold-Pressed Juicers) โดยเฉพาะ

ตามคำนิยามคำว่า “สกัดเย็น” (Cold Pressed) จะหมายถึงการแยกส่วนของน้ำออกมาจากผักและผลไม้โดยไม่ใช้ความร้อน โดยเจ้าเครื่องสกัดเย็นที่ว่านี้จะมีหัวเกลียวหมุนรอบต่ำทำการบดผักและผลไม้ที่ใส่ลงไปในเครื่องอย่างช้าๆ ก่อนจะใช้แรงไฮดรอลิกบีบอัดเพื่อดึงน้ำจากผักผลไม้ออกมาโดยไม่มีความร้อนหรือออกซิเจนเข้ามาเจือปน ซึ่งผลที่ได้ก็คือน้ำผักผลไม้สดๆ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการที่แท้จริง

หากถามว่าทำไมน้ำผลไม้สกัดเย็นถึงฮอตฮิตในกลุ่มคนที่รักสุขภาพก็น่าจะมาจากคุณประโยชน์ที่สูงกว่าน้ำผลไม้ที่วางจำหน่ายตามปกติ เนื่องจากน้ำผลไม้ที่วางขายตามท้องตลาดซึ่งสามารถเก็บรักษาได้นานๆ นั้นล้วนผ่านการพาสเจอไรซ์ น้ำผลไม้จึงจำเป็นต้องผ่านความร้อนพร้อมกับสูญเสียคุณค่าทางโภชนาการไประหว่างทางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่นับรวมถึงการแต่งสีเติมกลิ่นที่ทำให้คนรักสุขภาพต่างขยาด ส่วนเครื่องคั้นน้ำผลไม้ที่เป็นหัวหมุนหรือเครื่องปั่นที่แม้เราจะคั้นน้ำผลไม้กันสดๆ แต่เครื่องที่ว่าก็จะมีความร้อนจากมอเตอร์ก็ทำให้วิตามินตกหล่นไปได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การดื่มน้ำผลไม้สกัดเย็นก็อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด เพราะถึงแม้สารอาหารจะครบถ้วน สะดวก และได้รสชาติดี แต่สิ่งที่ขาดไปก็คือใยอาหารที่เป็นมิตรต่อลำไส้ถูกคัดแยกออกไป การกินผลไม้สดก็น่าจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์และครบถ้วนมากกว่า เพราะหั่นเองปอกเองก็ไม่มีความร้อนเหมือนกัน (ฮา!) แต่ถ้าใครมีเครื่องสกัดเย็นติดบ้านไว้แล้วหรือซื้อน้ำผลไม้สกัดเย็นบรรจุขวดมาไว้แล้วล่ะก็ เราก็ขอบอกว่าน้ำผลไม้แสนอร่อยก็มีวันหมดอายุเช่นเดียวกัน

ดังนั้นเพื่อประโยชน์สูงสุดก็อย่าลืมเก็บน้ำผลไม้ไว้ในตู้เย็น และรีบดื่มให้หมดภายใน 3-7 วัน ไม่ขาดไม่เกิน!

แหล่งข้อมูล


Tag: , Nice To Know, สกัดเย็น,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed