เรื่อง/ภาพ : ปูชิตา วนาพิทักษ์
เมนูไก่มักเป็นเมนูที่ไม่ค่อยเลิศหรูเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารชนิดอื่นๆ แต่ความสุขที่ได้กินนั้นมากมายเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการรังสรรค์เมนูไก่ธรรมดาให้กลายเป็นอาหารที่แม้แต่ราชวงศ์ยังไม่ยอมพลาด การกินอาหารที่ปรุงด้วยใจจนกลายเป็นศิลปะจึงทำให้ชีวิตนี้มีความหมาย
ไต้หวันแบ่งไก่ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือไก่เนื้อและไก่ไข่ ไก่ไข่คือไก่ที่คำนึงถึงผลผลิตและคุณภาพของไข่เป็นสำคัญ ส่วนไก่เนื้อจะเลี้ยงไว้สำหรับบริโภคเท่านั้น และที่นิยมขายกันตามท้องตลาดแยกได้ 5 ประเภท คือ ไก่พันธุ์พื้นเมือง (ไก่บ้าน) มีชื่อเรียกตามพื้นที่เกิด มีหลายสายพันธุ์ เกษตรกรจะเลี้ยงติดบ้านไว้ 10-20 ตัว นิยมเลี้ยงบนภูเขาให้ได้รับอากาศบริสุทธิ์ ได้เดินเล่น อารมณ์ดี และจะไม่เอาพันธุ์ที่นอกเหนือจากนี้มาปน พันธุกรรมก็อยู่เฉพาะในกลุ่มของตัวเองเท่านั้น ทำให้คงความเป็นพันธุ์พื้นเมืองแท้ไว้ได้ ปกติจะเลี้ยง18-20 สัปดาห์ ตัวเมียน้ำหนัก 1.5-1.8 กิโลกรัม ส่วนตัวผู้น้ำหนัก 2.5-3 กิโลกรัม เนื่องจากผลผลิตน้อยจึงทำให้ราคาสูง เหมาะสำหรับต้มทั้งตัวแล้วสับกินเปล่าๆ เนื้อแน่น มีรสหวานอร่อย หนังบางกรอบ ไขมันน้อย
ไก่พันธุ์พื้นเมืองผสม เป็นไก่พันธุ์พื้นเมืองที่ถูกผสมข้ามหลายสายพันธุ์เพื่อร่นระยะเวลาเลี้ยงให้น้อยลงคือ 13-14 สัปดาห์ แต่ได้น้ำหนักมากกว่าคือ 2-2.7 กิโลกรัม ไก่ชนิดนี้มีเนื้อแน่นแต่ไม่แน่นเท่าพันธุ์พื้นเมืองแท้ ไก่ตัวเมียเนื้อจะนุ่มกว่าตัวผู้แต่ก็มีไขมันใต้ผิวหนังมากกว่าเช่นกัน
ไก่เลี้ยงระบบปล่อย เป็นไก่สายพันธุ์ใดก็ได้แต่ต้องถูกนำมาเลี้ยงตั้งแต่แรกเกิดไม่เกิน 3 วัน สามารถมีโรงเรือนแต่ต้องปล่อยให้ไก่ออกมานอกโรงเรือนได้อย่างอิสระ กินอาหารตามธรรมชาติ มีน้ำหนักราว 3-5 กิโลกรัม เนื้อค่อนข้างแน่น มีไขมันแทรกพอสมควร ชาวไต้หวันผู้รักสุขภาพนิยมกินกันมากเนื่องจากหาซื้อได้ง่ายกว่าอีก 2 ประเภทข้างต้น
ไก่เลี้ยงระบบอุตสาหกรรม คือไก่ที่พบเห็นทั่วไปตามห้างสรรพสินค้า ใช้เวลาเลี้ยงเพียง 36 วันเท่านั้น เนื้อและไขมันค่อนข้างมาก ราคาไม่แพง นิยมชุบแป้งทอด ทำเป็นแซนด์วิช หรือขายเป็นข้าวกล่องสำเร็จ
ไก่ดำ พันธุ์แท้จะต้องมี 11 ดำ คือหนัง เนื้อ กระดูก เครื่องใน ปาก ลิ้น หน้า หงอน เล็บ แข้ง ขา จะต้องมีสีดำสนิท แต่ขนไม่จำเป็นต้องมีเพียงสีดำ เป็นความเชื่อของคนจีนโบราณที่นิยมบำรุงร่างกายด้วยไก่ดำ แต่ที่ไต้หวันไม่ได้มีเพียงเมนูตุ๋นยาจีนเท่านั้นยังมีไก่ดำอบเกลือ ไก่ดำย่างถ่าน ไก่ดำนึ่ง และอีกหลากหลายเมนู บางร้านใช้เฉพาะไก่ที่ทางร้านคัดมาแล้วเท่านั้น แต่บางร้านให้ลูกค้าเลือกชนิดของไก่ได้ตามความต้องการ (เล่าให้ฟังรู้ไว้คร่าวๆ เผื่อกินให้อร่อยขึ้น)
ร้านแรกที่อยากแนะนำคือจีเจียจวง (雞家莊) หรือแปลเป็นไทยว่าบ้านขายไก่ แค่นี้ก็บ่งบอกแล้วว่าเจ้าของร้านคลั่งไคล้ไก่แค่ไหน เมนูที่ถ้าไม่สั่งก็ไม่รู้จะมาทำไมกันคือไก่สามแบบ (三味雞 520元) ไก่ต้ม ไก่ซีอิ๊ว และไก่ดำ ไก่ 3 อย่าง 3 รสสับรวมกันมาในจานเดียว เนื้อไก่แน่น หนังบางกรอบ มีวุ้นระหว่างหนังกับเนื้อ หรือที่คนจีนเรียกว่า “ตั่ง” ลูกค้าชาวไต้หวันพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าร้านนี้เนื้อไก่ชุ่มฉ่ำ มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ไม่กระด้าง อาม่าโต๊ะข้างๆ ตะโกนเสริมว่าร้านนี้ไก่อร่อยที่สุดในไต้หวัน
ร้านจีเจียจวง ไก่ที่แขวนไว้หน้าร้านขายเกือบหมดแล้ว ทั้งๆ ที่เพิ่งจะเวลาทุ่มกว่าๆ
ไก่ 3 อย่าง 3 รส
เพื่อพิสูจน์ความอร่อยผู้เขียนสอบถามและได้ใจความว่าทางร้านเริ่มจากคัดเฉพาะไก่สาวตัวเมียที่ยังไม่วางไข่อายุ 5-6 เดือนเท่านั้น คนจีนเชื่อว่าวิธีการปรุงที่ดีที่สุดเพื่อให้ได้รสหวานธรรมชาติของไก่คือการต้ม โดยเฉพาะกับไก่พันธุ์ดีๆ คุณภาพสูงๆ อันดับแรกหม้อต้มต้องใหญ่มากพอที่จะต้มไก่ได้ทั้งตัวโดยที่ไม่มีส่วนใดโผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ แต่ถ้าใช้หม้อขนาดใหญ่เกินความจำเป็นน้ำส่วนเกินจะดึงความหวานของไก่ออกไปจนหมด นอกจากนี้คนจีนยังนิยมต้มแค่พอสุกเท่านั้น ซึ่งในกระดูกและเนื้อส่วนติดกระดูกยังมีสีแดงระเรื่อ เขาบอกว่าเนื้อจะหวานอร่อยกว่า อีกอย่างก็คือตั่งหรือคอลลาเจนที่อยู่ระหว่างหนังกับเนื้อขาดส่วนนี้ไปคนจีนหงุดหงิดหัวเสียทันที
วุ้นที่อยู่ระหว่างหนังกับเนื้อ “ตั่ง”
ตับไก่ร้านจีเจียจวง
วิธีทำคือต้องรีบแช่ไก่ทั้งตัวในน้ำเย็นที่ผสมน้ำแข็งทันทีหลังจากต้มเสร็จ ห้ามปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น และจะได้วุ้นมากเมื่อต้มไก่ทั้งตัวเท่านั้น ส่วนความอร่อยของไก่ซีอิ๊วอยู่ที่หม้อพะโล้ใบเขื่องทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสสั่งทำพิเศษสามารถต้มไก่ได้ทีเดียว 15-20 ตัว น้ำพะโล้เคี่ยวติดต่อกันนานถึง 20 วัน มีเกลือ ขิง กระเทียม เหล้าขาว พ่อครัวบอกว่าใส่เหล้าเยอะหน่อย เคี่ยวออกมาแล้วจะได้กลิ่นหอมเหล้าจางๆ ซึ่งเป็นสูตรพิเศษของร้าน เครื่องปรุงที่เป็นเคล็ดลับพิเศษหรือแปลกพิสดารก็ไม่มี จะมีก็แต่ประสบการณ์ในการปรุงที่ผ่านมานานถึง 40 ปีกับไก่เป็นแสนๆ ตัว เริ่มตั้งแต่ใส่ไก่ตอนน้ำพะโล้เดือด หรี่ไฟ ค่อยๆ เคี่ยวให้น้ำพะโล้เดือดปุดๆ เบาๆ ที่อุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เนื้อจะนุ่มเด้งกำลังดี หนังไก่กรอบ ถ้าไม่หรี่ไฟปล่อยให้เดือดไก่จะสุกเร็วกว่า แต่เนื้อจะแตกแห้งและกระด้าง ไม่อร่อยนุ่มลิ้น หนังไก่ก็ขาด ไม่มีส่วนตั่งอีก
ส่วนน้ำซุปที่ได้จากการต้มไก่จะนำไปหุงข้าว โดยตักน้ำมันลอยหน้า 2 กระบวยผสมลงไปด้วย ข้าวที่ได้จะหอม เรียงเมล็ด เป็นมันวาว คุณป้าบริกรเล่าว่าลูกค้าบางคนกินได้มากถึง 7 ชามเลยทีเดียว หากสั่งซุปไก่ก็จะยกมาเป็นถ้วยใหญ่แล้วตุ๋นต่อหน้าลูกค้าบนโต๊ะกลมที่ติดตั้งเตาแก๊สไว้กลางโต๊ะ ปิดท้ายด้วยพุดดิงไข่โฮมเมดที่ทำจากไข่ไก่ของไก่พันธุ์เดียวกัน เนื้อพุดดิงเป็นแบบโบราณ มีกลิ่นหอมของไข่เข้มข้น คุณป้าบริกรบริการให้ฟรี ก่อนออกจากร้านคุณป้าคนเดิมวิ่งมากระซิบและเล่าอย่างภูมิใจว่า “ฉันจะเล่าความลับอีกอย่างให้ฟังก็ได้ ราชวงศ์จากหลายประเทศมาสั่งไก่กลับไปบ่อยๆ บางท่านเธอน่าจะคุ้นเคยนะ ชอบไก่ดำเป็นที่สุด ฮิๆ” แล้วก็วิ่งอย่างร่าเริงกลับไป ปล่อยให้เรายืนงงกับปริศนาที่ไม่คิดจะหาคำตอบหรอก เพราะแค่รู้ว่าถ้าอยากกินไก่อร่อยๆ ให้ไปที่ร้านไหนก็เพียงพอแล้ว
โฮมเมดพุดดิง ร้านจีเจียจวง มีกลิ่นหอมของไข่เข้มข้น
เมื่อพูดถึงร้าน Ji Yuan Szechuan แทบทุกคนจะนึกถึงไก่ตุ๋นหม้อดินอันโด่งดังที่มีราคาเริ่มต้นตั้งแต่หม้อละ 2,160 หยวนไปจนถึง 12,000 หยวน ขึ้นอยู่กับเครื่องที่ใส่เพิ่มเติมอย่างหูฉลาม หอยเป๋าฮื้อ เห็ดร่างแห เป็นต้น หน้าร้านฝั่งขวามือเป็นครัวเปิดสำหรับตุ๋นไก่โดยเฉพาะ กรุกระจกใสรอบด้าน มองเห็นหม้อดินที่วางเรียงรายบนเตาอย่างหนาแน่น พร้อมด้วยพ่อครัวที่ไม่ละสายตาจากซุปไก่สักวินาที
ครัวตุ๋นไก่โดยเฉพาะของร้าน Ji Yuan Szechuan
การเคี่ยวซุปไก่ในแต่ละครั้งพ่อครัวจะใช้แม่ไก่แก่ ข้อขาหมู แฮมจีน และหอยเชลล์ตากแห้งเคี่ยวรวมกันด้วยไฟแรง กินเวลานานถึง 12 ชั่วโมง ซุปไก่ที่ได้จะมีสีทองอำพัน เนื้อสัมผัสเข้มข้นจนเกือบเป็นครีมจากคอลลาเจนของวัตถุดิบ กลิ่นหอมของไก่ชัดเจน หวานอร่อยเหมือนได้กินซุปไก่สกัด หลังจากลิ้มชิมรสน้ำซุปไปคนละถ้วย 2 ถ้วยก็ค่อยบอกให้บริกรยกไปเติมผักกาดขาวกับเต้าหู้ (300 หยวน) เพื่อเปลี่ยนรสชาติ ผักกาดขาวและเต้าหู้ดูดซึมน้ำซุปอันเข้มข้น ผักหวานนุ่ม เต้าหู้ละมุนลิ้น รสชาติใสๆ ก็อร่อยไปอีกแบบ ได้ยินมาว่าพ่อครัวต้องผลัดกันเปลี่ยนเวรเฝ้าน้ำซุปตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า กินทั้งแรงกินทั้งเวลาเช่นนี้มิน่าเล่าถึงได้ราคาต่อหม้อสูงนัก
ร้าน Ji Yuan Szechuan ไก่ตุ๋นหม้อดินพร้อมอาหารต่างๆ
Shan-Nei Chicken (山內雞肉) ร้านข้าวมันไก่แบบไต้หวันที่เน้นรสชาติรสสัมผัสของไก่มายาวนานถึง 46 ปี ตั้งอยู่ต้นตลาดหนานจีฉาง ทางร้านใช้ไก่พันธุ์เฉพาะที่ถูกเลี้ยงในหุบเขาตามชื่อร้านเท่านั้น อาหาร 1 ชุดประกอบด้วยข้าวมัน 1 ถ้วย ไก่เกือบครึ่งตัวอีก 1 จาน เนื้อไก่ฉ่ำ หนังกรอบเด้ง ราดซอสเค็มๆ ปนหวานนิดๆ กินกับขิงสดซอยและซุปรสอ่อนอีกถ้วยมาช่วยตัดความเค็มความมัน ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ราคาเพียง 90 หยวน จะเพิ่มผักลวกหวานๆ กินแกล้มอีกสักถ้วยหนึ่งก็คุ้มแสนคุ้ม ผักกะหล่ำพวกนี้มาจากบนภูเขาเช่นกัน ปลูกในเขตอากาศหนาวเย็นทำให้มีรสหวานกว่าปกติ ราคาถ้วยละ 50 หยวน ควรไปกินช่วงเที่ยงเพราะไก่ส่วนสะโพกน่องจะขายหมดเร็วมาก ทางร้านบอกให้มาก่อน 2 ทุ่มยังไงก็ได้กิน แต่อาจจะผิดหวังเหมือนผู้เขียนที่ไปถึงร้านตั้งแต่ 11 โมงครึ่ง นึกเข้าข้างตัวเองว่ามาเร็วเหลือเกิน ที่ไหนได้ต้องรอต่อแถวอีก 10 คน แถมไก่ส่วนน่องก็เหลือเพียงน้อยนิดไม่เพียงพอสำหรับทุกคนในครอบครัว ใครอยากเสี่ยงโชคก็ลองดูแล้วกัน...จะหาว่าไม่เตือน
บรรยากาศภายในร้าน Shan-Nei Chicken
ชุดข้าวมันไก่แบบไต้หวัน ร้าน Shan-Nei Chicken
ร้านเหยียนสุ่ยจี (塩水鶏) ไก่น้ำเกลือ อีกหนึ่งเมนูไก่ที่มีอยู่ทั่วไปทั้งริมถนนและตลาดกลางคืน จากที่ได้ตระเวนกินมาหลายร้านชนิดที่ว่าเจอเมื่อไรซื้อเมื่อนั้นต้องยกให้ร้านนี้เป็นที่ 1 ร้านไก่เจ้าประจำเยื้องโรงแรม Proverbs ถัดจาก 7-11 ทางขวามือไปอีก 1 ซอย เมื่อเดินไปถึงหน้าร้านเจ้คนขายทักทายทันที “น้องสาวคนไทยมาแล้ว” ร้านนี้เป็นรถเข็นเล็กๆ ขายอยู่ริมถนน เริ่มขายช่วง 6 โมงเย็นยาวไปถึงเที่ยงคืน (แต่ไปเร็วหน่อยดีกว่า) จะมีชิ้นส่วนไก่ครบครันตั้งแต่หงอนไก่ ไข่อ่อน เนื้อไก่ทุกส่วน เครื่องใน เสริมด้วยผักสดผักลวกอีกหลายชนิด แต่ก็ต้องรอกันสักหน่อยเพราะลูกค้าค่อนข้างเยอะทีเดียว
ร้านไก่น้ำเกลือ
วิธีการสั่งคือชี้ชิ้นส่วนไก่และผักที่ต้องการตามด้วยจำนวนเงิน เช่น น่องปีกบรอกโคลี 100 หยวน ผักน้อยเน้นไก่ เป็นต้น เมื่อสั่งเสร็จเจ้จะรีบคว้ากรรไกรขาวงพระจันทร์เลาะเนื้อออกจากกระดูกจนหมดจดอย่างชำนาญ ตัดฉับๆ พอดีคำ หนังไก่ของเจ้ไร้ไขมันใต้ผิวหนังโดยสิ้นเชิง กรอบกว่าทุกร้านที่เคยกินมา กรอบชนิดที่ว่าเคี้ยวกรุบๆ จนได้ยินเสียงในหู เนื้อแน่นฉ่ำ เคี้ยวกำลังอร่อย เจ้รีบบรรยายว่าจะใช้ไก่ไข่ตัวเมียที่เลี้ยงตามธรรมชาติน้ำหนักไม่เกิน 1 กิโลกรัมเท่านั้น มิฉะนั้นเนื้อจะเหนียวเกินไป เลยหาค่อนข้างยาก ต้องสั่งจากเจ้าประจำเท่านั้น
ไก่น้ำเกลือ ร้านเหยียนสุ่ยจี หนังไก่บางกรอบ เนื้อแน่น ผงเครื่องเทศไม่อั้น
เครื่องปรุงลับคือเกลือที่ผสมผงเครื่องเทศหลายชนิด เจ้บอกลองดมลองชิมเอาเถอะ ถ้ารู้ก็รู้ ถ้าไม่รู้ก็สุดแล้วแต่ แล้วก็ยืนหัวเราะชอบใจใหญ่ นอกจากนี้ยังมีกระเทียมบด น้ำมันงา ต้นหอมหั่นฝอย สิ่งสำคัญที่สุดคือน้ำเกลือตามชื่อของอาหารชนิดนี้ซึ่งก็คือเกลือผสมน้ำนั่นแหละ ผู้เขียนย้ำไปว่าเอาเค็มๆ นะ เจ้สวนกลับทันควันว่า “จำได้หน่า” พร้อมกับบีบน้ำเกลือเพิ่ม คลุกเคล้าทุกอย่างให้เข้ากันแล้วเทใส่ถุง วัตถุดิบดี ส่วนผสมลงตัว อาหารริมทางที่ทำให้รู้สึกถึงความเป็นไต้หวันอย่างแท้จริง
ร้าน Peng Lai ตั้งอยู่ที่สถานีเป่ยโถวตอนเหนือของเมืองไทเป ดินแดนแห่งภูเขาและน้ำพุร้อน เปิดบริการมาแล้ว 65 ปี จุดเด่นของร้านคือใช้วัตถุดิบท้องถิ่นทั้งหมด เมนูขึ้นชื่ออย่างไก่บ้านสับ (白玉土雞) หรือไก่บ้านนึ่งขิงต้นหอมหม้อไฟ (蔥油雞) ทั้งตัว 800 หยวน ครึ่งตัว 400 หยวนก็ใช้ไก่บ้านที่เลี้ยงด้วยธัญพืชบนภูเขาละแวกนั้นเท่านั้น เนื้อไก่และหนังไก่แน่นตึงมีสีเหลืองเข้มทั้งกรอบทั้งหอมกลิ่นข้าวโพดอ่อนๆ ทางร้านจะทำไก่บ้านนึ่งโดยหมักไก่ทั้งตัวด้วยเหล้า เกลือ ขิง และต้นหอมเป็นเวลา 30 นาทีแล้วเอาเครื่องหมักออก นึ่งพอสุกเท่านั้น รีบแช่ไก่ในน้ำเย็นจัด สับไก่เรียงลงในจานหม้อไฟ โรยด้วยต้นหอมและขิงหั่นเส้น ราดน้ำซุปไก่ที่ไหลออกมาระหว่างนึ่งลงบนไก่ พักไว้ ตั้งน้ำมันประมาณ 1 ทัพพีให้ร้อนจัด ใส่พริกไทยเสฉวนลงไปแต่งกลิ่นนิดหน่อย ตักเฉพาะน้ำมันร้อนๆ ราดบนขิงต้นหอมจนมีกลิ่นหอม จุดหม้อไฟแล้วยกขึ้นโต๊ะทันที ครั้งแรกที่ผู้เขียนได้รับประทานเมนูนี้ติดใจถึงขนาดกลับไปซ้ำอีกรอบในวันรุ่งขึ้น
ไก่บ้านสับ ร้าน Peng Lai
ไก่บ้านนึ่งขิงต้นหอมหม้อไฟ ร้าน Peng Lai
ร้านสุดท้ายคือหลงเสียนจูจี (龍涎居雞) เป็นร้านที่ขายเฉพาะไก่ตุ๋นหม้อดินเท่านั้น ตอนพักเที่ยงลูกค้าแน่นร้านจนล้นออกมา ทุกคนจะสั่งไก่คนละ 1 หม้อ พร้อมด้วยข้าวหน้าไก่ฉีกหรือเส้นหมี่น้ำมันงามากินคู่กันพร้อมเครื่องเคียงอื่นๆ อย่างสาหร่ายคอมบุและไข่ชา (จานละ 40 หยวน) ร้านนี้พิเศษตรงที่สามารถเลือกชนิดของไก่และชนิดของซุปได้ มีไก่เลี้ยงแบบปล่อย น่องไก่เลี้ยงแบบปล่อย ไก่บ้าน น่องไก่บ้าน และไก่ดำ ส่วนซุปมีซุปน้ำมันงา ซุปโสม ซุปดำตุ๋นยาจีน ซุปใสตุ๋นยาจีน ซุปมะระและสับปะรด ซุปหอยตลับ และซุปนมซึ่งไม่ได้ใส่นมแต่ใส่สมุนไพรรากไม้ชนิดหนึ่งที่ต้มออกมาแล้วมีรสชาติเหมือนนม เหมาะสำหรับกินตอนหน้าร้อน บำรุงเอ็นและไขข้อได้ดี ราคาอยู่ที่หม้อละ 150-220 หยวน แน่นอนว่าน่องไก่บ้านจะต้องแพงที่สุดคู่กับซุปน้ำมันงาเพราะเป็นอาหารดั้งเดิมของชาวไต้หวัน ทางร้านจะใช้น้ำมันงาสกัดเย็นผัดกับขิงแก่จนเกิดกลิ่นหอม จึงค่อยเติมไก่และซุปไก่ เคี่ยวต่อจนนุ่มดีแล้วจึงยกขึ้นโต๊ะ หากได้ไปเที่ยวไต้หวันในช่วงหน้าหนาวแนะนำให้ลองอาหารจานนี้เพราะช่วยแก้หนาวได้ดีชะงัด
ไก่ตุ๋นน้ำมันงา ร้านหลงเสียนจูจี
หมี่ขาวน้ำมันงา ร้านหลงเสียนจูจี
อาหารไต้หวันน่าจะเป็นอย่างที่ผู้เขียนได้เคยบอกไว้ แม้จะใหม่ในวงการแต่ชวนน้ำลายสอใช่เล่น จริงไหม?
Note : อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนไต้หวัน 1 หยวน = 1-1.03 บาท
อ่านเพิ่มเติม
>> Eat Good Like a Local กินอย่างคนท้องถิ่น Taiwan : 300 ปีที่ไม่ธรรมดาของอาหารไต้หวัน (ตอน 1)
>> Eat Good Like a Local กินอย่างคนท้องถิ่น Taiwan : อาหารพื้นบ้านและแฮมดิบจากไถหนาน (ตอน 2)
Tag:
, World Food, ไต้หวัน, ไทเป,
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น