เดี๋ยวหลับ เดี๋ยวตื่น เรื่องธรรมดาที่ดูไม่ธรรมดา มีปัญหาจนต้องไปตรวจ Sleep Test

วันที่ 5 มิถุนายน 2562  9,284 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 227 เดือนมิถุนายน 2562

TH
EN
CN

การนอนเป็นพฤติกรรมธรรมดาของคนเรา พอง่วงก็หลับ เราหลับในเวลากลางคืน ตื่นกลางวัน พร้อมกับดวงอาทิตย์ขึ้นและตก แต่พออายุมากขึ้นการนอนหลับดูจะเริ่มปั่นป่วน เพราะบางคนกลางคืนนอนไม่หลับ แต่มาหลับกลางวัน หรือกลางคืนหลับๆ ตื่นๆ  บางคนมีปัญหาจนต้องไปตรวจ Sleep Test ที่เราเริ่มได้ยินกัน

อะไรที่ทำให้เราหลับๆ ตื่นๆ?  เรื่องธรรมดาที่ดูไม่ธรรมดานี้ รศ. นพ. จักรกฤษณ์ สุขยิ่ง ศูนย์การนอนหลับ โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการนอนหลับอธิบายเรื่องการนอนหลับของคนเราให้ฟังว่าการนอนหลับและตื่นของเรานั้นอยู่ภายใต้อิทธิพล 2 เรื่องหลักๆ คือเรื่องของนาฬิกาชีวภาพในร่างกาย หรือ Biological Clock อิทธิพลนี้ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Circadian เป็นวงจรการนอนหลับของคนเราซึ่งเป็นระบบภายใน 1 วัน วงจรนี้เป็นรูปแบบที่ซ้ำและทำนายได้ ซึ่งจะเป็นตัวบอกว่าเมื่อไรที่ต้องตื่นและเมื่อไรจะต้องหลับ

ระบบที่ 2 คือระบบสมดุล คุณหมออธิบายว่า... “ใน 1 วันเรามีชั่วโมงหลับกับชั่วโมงตื่น สัดส่วนมันจะคงที่ แต่จะเริ่มเปลี่ยนเมื่อวัยเรามากขึ้นหรือน้อยลง สมมติสัดส่วนคงที่คือนอน 8 ชั่วโมง ตื่น 16 ชั่วโมง แต่ถ้าใช้ข้างหนึ่งข้างใดมากเกินไปร่างกายก็จะไม่ยอมและเรียกคืน สมมติว่าต้องตื่น 16 ชั่วโมงเพื่อสมดุล แต่ตื่น 20 ชั่วโมงเพราะนอนดึกขึ้น ร่างกายก็จะจำไว้ว่าใช้การตื่นเกินไป 4 ชั่วโมงเดี๋ยวจะเอาคืน ฉะนั้นเวลาที่นอนก็จะพยายามเก็บตก แต่ร่างกายแปลกถ้าอดนอน 24 ชั่วโมง คือตื่น 24 ชั่วโมง เวลานอนจะคืนไม่ครบ ต้องใช้เวลาประมาณ 7 วันในการที่จะคืนชั่วโมงในการอดนอน ฉะนั้นระบบสมดุลจะเป็นระบบที่ว่าถ้าเราตื่นจะมีสารตัวหนึ่งที่สะสมความง่วงไปเรื่อยๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่นาฬิกาเริ่มลดระดับลง มีความง่วงที่จ่ออยู่แล้ว บวกกับนาฬิกาคว่ำลงทำให้หลับ สองระบบนี้จะวิ่งคู่กัน”

รศ. นพ. จักรกฤษณ์ สุขยิ่ง ศูนย์การนอนหลับ โรงพยาบาลรามาธิบดี

คุณหมออธิบายเพิ่มเติมว่าขณะที่นาฬิกาเริ่มพีคสูงสุดจะมีการหลั่งของเมลาโทนิน ซึ่งจะหลั่งตอนดวงอาทิตย์ตกดิน ทำให้ตัวตื่นลดระดับลง เมลาโทนินหลั่งปุ๊บ ตัวตื่นลด ตัวสมดุลที่พร้อมอยู่แล้วจะทำให้เราหลับ นี่เป็นภาวะปกติของคนเรา และเมื่อเราหลับจะมีวงจรอยู่ 2 วงจรทำหน้าที่สลับกันคือวงจรฝันและวงจรไม่ฝัน ซึ่งจะมีผลต่อการหลับลึกและหลับตื้น

เมื่อเรามีอายุมากขึ้น...เกิดอะไรขึ้นเราถึงนอนหลับบ้าง ไม่หลับบ้างคุณหมอบอกว่าเมื่อเราอายุมากขึ้น แน่ๆ เราก็จะมีโรคต่างๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคสมองเสื่อม ซึ่งจะมียาบางตัวไปรบกวนการนอน ส่วนผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีไม่ต้องกินยาจะมีปัญหาอะไร คุณหมออธิบายว่าร่างกายก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ที่เปลี่ยนแน่ๆ คือนาฬิกาชีวภาพจะเดินเร็วขึ้น เดินก่อนกำหนด ซึ่งก็ไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมเวลาเรามีอายุมากขึ้นนาฬิกาถึงเดินเร็วขึ้น มีผลทำให้ผู้สูงอายุจะเริ่มง่วงนอนเร็วขึ้นหรือนอนหัวค่ำ ทำให้ตื่นเร็วขึ้นหรือตื่นแต่เช้ามืด และปริมาณการหลับลึกจะน้อยลง การนอนจึงไม่ต่อเนื่อง เดี๋ยวหลับ เดี๋ยวตื่น ซึ่งมีผลกับระบบสมดุล ฉะนั้นกลางวันเลยจะง่วง ผู้สูงอายุจึงมักจะงีบในตอนกลางวัน ซึ่งการงีบในตอนกลางวัน โดยเฉพาะช่วงบ่าย 2 โมง คุณหมอบอกว่าไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และความง่วงนี้จะไปเกี่ยวเนื่องกับวงจรอีกวงจรหนึ่งคืออุณหภูมิในร่างกาย

ปกติอุณหภูมิในร่างกายของเราจะตกทั้งหมด 2 ครั้ง ครั้งแรกประมาณ 3-4 ทุ่ม อุณหภูมิจะเริ่มตกพร้อมนอนแล้ว ช่วงเวลานี้เมลาโทนินจะเข้ามายับยั้งการตื่นพอดี บวกกับความง่วงที่อุณหภูมิมาจ่ออุณหภูมิในร่างกายตกเราจึงหลับเลย และอุณหภูมิจะเริ่มตกอีกครั้งประมาณบ่าย 2 ตกนิดเดียว แต่ก็มีผลทำให้เราพร้อมจะนอน ฉะนั้นถ้าเราง่วงก็ไม่ใช่ปัญหา ในต่างประเทศจะมีการนอนช่วงบ่ายเพื่อไปล้อกับอุณหภูมิที่ตก หรืองีบบ่าย ซึ่งคุณหมอบอกว่าถือเป็นเรื่องถูกต้อง ดังนั้นถ้าผู้ใหญ่จะง่วงตอนบ่ายไม่ใช่ปัญหา แต่ไม่ใช่ง่วงทั้งวันโดยเฉพาะถ้าผู้ใหญ่บางคนกินข้าวเช้าเสร็จแล้วง่วงหลับนี่เป็นปัญหาควรไปตรวจหาสาเหตุ

สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากโรคที่รบกวนขณะหลับ เช่น โรคทางเดินหายใจอุดกลั้นในขณะหลับคือพวกที่นอนกรน คนที่กรนก็เพราะทางเดินหายใจหย่อน พอมันแคบลงก็เริ่มอุดตัน อาการที่พบบ่อยต่อมาคืออาการขากระตุกระหว่างหลับ บางคนขากระตุกแล้วมีแค่สมองตื่นแต่ตัวไม่ตื่น หรือกลุ่มขากระสับกระส่ายที่มักจะเป็นก่อนนอน โรคเหล่านี้จะรบกวนการนอน ทำให้ตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกไม่สดชื่น จึงต้องมานอนต่อในเวลากลางวัน

เมื่อถามว่าการนอนหลับให้ได้คุณภาพของผู้สูงอายุควรเป็นอย่างไร? คุณหมอตอบว่า “เอาความรู้สึกตัวเองเป็นหลักเลย ไม่เอาจำนวนชั่วโมง เอาแค่ว่านอนโดยไม่ต้องใช้นาฬิกาปลุก ให้ ร่างกายตื่นเอง ตื่นมาแล้วรู้สึกเต็มอิ่มไหม ถ้าเต็มอิ่ม รู้สึกสดชื่น ถือว่าใช้ได้โอเคแล้ว ไม่ต้องไปนับจำนวนชั่วโมง เท่านั้นเอง ง่ายๆ มีข้อแม้ว่าไม่ใช้นาฬิกาปลุก”

การนอนอย่างไรที่ควรพบหมอ“นอนหลับแล้วตื่นขึ้นมารู้สึกว่าการหลับนี่มันแย่ ทรมาน ชีวิตเริ่มไม่มีความสุขกับการนอนแบบนี้ ติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์หรือเป็นเดือน อย่างนี้ต้องเริ่มมาประเมินดู อีกเรื่องคือทำไมง่วงง่ายจัง คนที่ง่วงกลางวัน โดยเฉพาะง่วงหลังกินข้าวเช้าเสร็จต้องหลับ ตามจริงก็อาจจะมีคนเป็นเช่นนี้ แต่มักจะเป็นแค่วันเสาร์อาทิตย์เพราะติดหนี้การนอนหลับในวันทำงาน กินข้าวเช้าเสร็จก็จะหลับอีกสักหน่อย 9-10 โมง ใครติดหนี้การนอนหลับใช้ตัวเลขง่ายๆ นี้ดู เวลาตื่นในวันทำงานกับเวลาตื่นในวันหยุดถ้าต่างกัน 3 ชั่วโมงถือว่าเราติดหนี้การนอนแล้ว”

ปัจจุบันที่เรามักจะได้ยินการไปตรวจการนอนหลับ หรือ Sleep Test เพราะเหตุใด? “Sleep Test  เป็นการตรวจการนอนหลับในห้องปฏิบัติการการนอนหลับว่าในระหว่างการนอนหลับมีปรากฏการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องโรค ก่อนอื่นต้องตรวจคลื่นสมอง เพราะคลื่นสมองจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าหลับจริง หลับลึก หลับฝัน ข้อ 2 ดูระบบการหายใจว่ามีการหยุดหายใจไหม ดูการเคลื่อนไหวของหน้าอก ท้อง หายใจจากจมูก ข้อ 3 ดูระบบออกซิเจนในเลือด โดยดูจากเล็บ เอาเครื่องมือมาวัดที่ปลายเล็บ ระบบสุดท้ายดูเรื่องขากระตุกในขณะหลับ คนที่นอนไม่หลับจะไม่มาตรวจในห้องนี้เพราะมันไม่หลับ คนที่มาตรวจจะมาในเรื่องหลับง่าย ง่วงง่าย พวกหัวถึงหมอนแล้วหลับ เพราะต้องมาตรวจเรื่องการกรน หยุดหายใจ อีกกลุ่มที่ตรวจคือคนที่นอนไม่หลับแบบเรื้อรังและไม่ตอบสนองกับการรักษาเลย คนที่นอนไม่หลับธรรมดาจะไม่ส่งเข้าตรวจในห้องนี้”

การนอนหลับที่เรารู้สึกว่าเป็นรื่องธรรมดาพอได้ฟังจากคุณหมอจักรกฤษณ์อธิบายแล้วก็เป็นเรื่องซับซ้อนตามอายุที่เรียกว่าต้องควรใส่ใจกันเลยทีเดียว


Tag: , Aging Gracefully, Sleep Test,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed