หลังจากมีเชนร้านอาหารจานด่วนชื่อดังสัญชาติอเมริกันแบรนด์ใหม่ล่าสุดมาเปิดขยายสาขาในบ้านเราเป็นครั้งแรก จนสร้างปรากฏการณ์ต่อแถว (อีกแล้ว) เชื่อว่าหลายคนคงต้องแอบสงสัยกันบ้างล่ะว่า คำว่า “ทาโก้” (Taco) ชื่อร้านที่พูดถึงบ่อยๆ นั้นคืออะไรกันนะ
★ ตอร์ติญา (Tortilla) ★
ก่อนจะไปเรื่องทาโก้คงต้องมารู้จักกับตอร์ติญากันก่อน เพราะตอร์ติญาคือส่วนประกอบหลักของทาโก้
ตอร์ติญาเป็นแผ่นแป้ง (บ้างก็จัดว่าเป็นขนมปังประเภท Flatbread) ทำจากแป้งสาลีหรือแป้งข้าวโพดผสมน้ำแล้วอบ กล่าวกันว่าคำนี้มาจากภาษาสเปน แปลว่า “เค้กชิ้นเล็ก” (Small Cake) เดิมทีตอร์ติญาทำจากเมล็ดข้าวโพดพันธุ์พื้นเมืองตากแห้ง และเป็นหนึ่งในอาหารหลักของชาวแอซเท็ก (Aztec) ชนเผ่าโบราณที่อาศัยบริเวณตอนกลางของเม็กซิโกระหว่างศตวรรษที่ 14-16 มาช้านาน จนต่อมาเริ่มมีการทำตอร์ติญาจากแป้งสาลีเนื่องจากมีความนุ่มหอมไม่แตกหักสามารถทำอาหารได้หลากหลาย ขณะที่ข้าวโพดจะทำให้ได้แป้งที่กรอบอร่อยก็จริงแต่กลับเปราะเกินไป ทำให้ช่วงหลังๆ แป้งสาลีจึงมาแรงแซงโค้งกว่า แต่ใช่ว่าตอร์ติญาข้าวโพดจะไม่ได้รับความนิยม เพราะยังมีอาหารที่ชาวสเปนชื่นชอบในชื่อ “ทาโล” (Talo)
นอกจากนี้ยังมีตอร์ติญาชิปส์ (Tortilla Chips) แผ่นข้าวโพดสามเหลี่ยมชิ้นเล็กกรุบกรอบเคี้ยวเพลินที่กินกันเป็นอาหารว่าง ร่วมด้วยนาโชส์ (Nachos) ซึ่งก็คือตอร์ติญาชิปส์ที่เพิ่มท็อปปิงด้วยซอสและชีสยืดๆ ให้อร่อยถึงใจยิ่งขึ้น
★ ทาโก้ (Taco) ★
แม้ทาโก้จะเป็นที่รู้จักและนับว่าเป็นสัญลักษณ์ของชาวเม็กซิกัน แต่ต้นกำเนิดของเมนูนี้ไม่ได้นานขนาดนั้น เพราะความอร่อยน่าจะเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 18 นี้เอง
จริงๆ แล้วที่มาของทาโก้มีหลากหลายสำนวนให้อ่าน บ้างก็ว่ามาจาก “Tlahco” ในภาษาของชาวแอซเท็กที่แปลว่า “ตรงกลาง” แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่าคำว่าทาโก้เริ่มต้นในยุคตื่นทองและเป็นคำศัพท์ของคนขุดเหมือง เพราะคำนี้จะหมายถึงกระดาษชิ้นเล็กๆ ที่ใช้ห่อดินปืนก่อนจะโยนเข้าไปในอุโมงค์เพื่อระเบิดหิน และเมื่อดูจากลักษณะและความหมายก็ดูจะเข้าเค้า เพราะทาโก้ก็คือแผ่นแป้งตอร์ติญากลมๆ ที่นำมาพับก่อนบรรจงห่อไส้ต่างๆ ตั้งแต่เนื้อสัตว์ไปจนถึงผัก ทาโก้ในยุคแรกจะนิยมใส่ปลาตัวเล็กตัวน้อย ก่อนจะค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นสตูเนื้อประจำบ้านที่ถูกห่อลงไปแทนจากความคิดของแม่บ้านยุคใหม่เนื่องจากสะดวกต่อการพกพา อารมณ์เดียวกับข้าวกล่องอย่างไรอย่างนั้น ด้วยเหตุนี้เราจึงได้เห็นทาโก้หลากหลายไส้แบบไร้ขีดจำกัด
แต่ที่น่าตกใจก็คือทาโก้ไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบของชาวเม็กซิกันเท่านั้น เพราะในแต่ละปีชาวอเมริกันที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงก็บริโภคทาโก้ไปเกือบๆ 5 พันล้านชิ้นเลยทีเดียว
★ บูร์ริโต (Burrito) ★
อีกหนึ่งเมนูห่อสอดไส้ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน แต่สิ่งที่ทำให้บูร์ริโตมีความแตกต่างจากทาโก้ก็อยู่ที่วิธีการห่อให้เป็นรูปทรงกระบอกแบบปิดผนึก
คำว่าบูร์ริโตมาจากคำว่า “Burro” ในภาษาสเปน แปลว่า “ลาตัวเล็กๆ” ทำให้ต้นกำเนิดของบูร์ริโตถูกตีความไปได้อย่างหลากหลาย เริ่มตั้งแต่ว่ามาจากพ่อค้าที่ชื่อว่าฮวน เมนเดส (Juan Mendez) ที่พยายามรักษาความร้อนของอาหารระหว่างเดินทางไกลโดยใช้แป้งตอร์ติญาห่อเป็นทรงกระบอกแล้วบรรทุกบนหลังลา บ้างก็บอกว่าที่เรียกบูร์ริโตเป็นเพราะว่ารูปร่างห่อม้วนเหมือนหูลาต่างหาก เรื่อยไปจนถึงเมนูนี้มันอร่อยมากๆ จนขายหมดบนหลังลา (รถขายอาหารบรรทุกลาลาก) ถึงจะถูกต้อง
ชาวเม็กซิกันจะนิยมทำบูร์ริโตด้วยการสอดไส้เพียงแค่เนื้อสัตว์กับถั่ว แต่ในเวอร์ชันเท็กซัสเม็ก (Tex-Mex เท็กซัส-เม็กซิกัน) จะเติมข้าวผัดลงไปด้วย ร่วมด้วยเนื้อสัตว์ ผัก ถั่ว ซัลซา กัวกาโมเล ชีส และซาวร์ครีม
★ เกซาดิยา (Quesadilla) ★
ปิดท้ายด้วยอีกหนึ่งเมนูสอดไส้ที่ใครๆ มักเรียกกันว่าพิซซาเม็กซิกัน
แน่นอนว่าเกซาดิยาต้องประกอบด้วยแป้งตอร์ติญาเหมือนทุกเมนูที่กล่าวมา แต่สิ่งที่เพิ่มมาก็คือ “ชีส” (Queso) ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ กล่าวกันว่าเกซาดิยามาจากชาวสเปนที่อาศัยอยู่ในเม็กซิโกช่วงยุคอาณานิคมที่พยายามจะปรุงอาหารด้วยการใช้ชีส ไก่ และแป้ง จนออกมาเป็นตอร์ติญาที่สอดไส้ด้วยชีสและไก่ก่อนจะพับสอดไส้ลงมาให้เป็นรูปครึ่งวงกลม ก่อนที่ไส้ต่างๆ จะถูกเพิ่มเติมมาตามความชอบ
ที่สำคัญเกซาดิยาในรูปแบบของหวานก็ดีงามไม่แพ้กัน เพราะใครจะเชื่อว่าแป้งตอร์ติญาจะเข้าคู่กับซอสช็อกโกแลตและคาราเมลได้อย่างไม่มีที่ติ!
แหล่งข้อมูล
Tag:
, Nice To Know, ทาโก้, อาหารเม็กซิกัน,
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น