เชื่อว่าหลายคนคงเคยถามตัวเองว่าเอ๊ะ! วันนี้วันอะไร...วันที่เท่าไร? เราเก็บกุญแจไว้ที่ไหน? คนที่พูดด้วยเมื่อตะกี้ชื่ออะไร? หน้าเหมือนกับอีกคนนะ และคำถามเหล่านี้ดูจะถามบ่อยขึ้นเมื่อเรามีอายุมากขึ้น การฝึกสมองและความจำเพื่อให้ใช้งานได้ดีจึงเป็นเรื่องจำเป็น มีคำแนะนำจากผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสมองหลากหลายและที่น่าสนใจคือนักกิจกรรมบำบัด
หลายคนอาจถามว่านักกิจกรรมบำบัดคือใคร ขณะที่คุยกับ ผศ. ดร. ศุภลักษณ์ เข็มทอง หรืออาจารย์ป๊อป อาจารย์นักกิจกรรมบำบัดจิตสังคม คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ในห้องตรวจคนไข้ ด้านหลังมีตู้เก็บอุปกรณ์ชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่ทำจากพลาสติกแข็งรูปทรงต่างๆ บางชิ้นเป็นอุปกรณ์ใส่มือ อาจารย์ป๊อปอธิบายว่านักกิจกรรมบำบัดจะเรียนคู่หรือทำงานไปกับนักกายภาพบำบัดแต่ทำงานส่วนที่เล็กกว่า เช่น ถ้าคนไข้มือไม้อ่อนแรง ไม่มีแรงทำกิจกรรม นักกิจกรรมบำบัดต้องหาอุปกรณ์เสริมคือนำพลาสติกมาดีไซน์ใส่มือเพื่อให้เขียนหนังสือได้ แปรงฟันได้ ทำกิจกรรมต่างๆ ให้เขามีชีวิตปกติ นั่นคือการทำงานส่วนหนึ่ง สำหรับบางคนเราต้องฝึกจนเขาสามารถกลับไปทำงานมีชีวิตในสังคมได้ ถ้าจะพูดให้เข้าใจมากขึ้นคือการทำกิจกรรมเพื่อช่วยบำบัดปัญหาทั้งทางกายภาพและจิตใจ ขณะทำกิจกรรมจิตต้องไม่อยู่ว่าง จิตใจต้องสั่งร่างกายไม่ให้อยู่ว่าง หรือเรียกว่าจิตจดจ่อ
เมื่อถามถึงเรื่องวัยเอจจิงกับการลืมที่มักจะลืมโน่นนี่ว่าเป็นความเสื่อมโดยธรรมชาติหรือไม่ และควรมีการฝึกสมองอย่างไร อาจารย์ป๊อปตอบว่า “สมองเป็นฮาร์ดแวร์ จิตเป็นซอฟต์แวร์ สมองกับจิตไม่แยกกัน เรื่องลืมเหล่านี้เป็นเรื่องเสื่อมตามธรรมชาติ ในบ้านเรามักคิดว่าคนเราจะลืมเมื่อสูงอายุ ถ้าสูงอายุเราจะนับที่อายุสมอง ซึ่งอายุ 25 ปีหรือวัยเบญจเพสนับเป็นสูงอายุของสมองแล้ว พอเราอายุ 25 ปีสมองจะเริ่มเสื่อมไปวันละ 1 มิลลิเมตร นี่คือธรรมชาติ แต่ถ้าพฤติกรรมก่อนอายุ 25 ปีเรามีความคิดลบมากกว่าบวกมันจะไม่ใช่แค่ 1 มิลลิเมตร คิดลบครั้งหนึ่งจะลดลง 2 มิลลิเมตร ถ้าวันนี้เราโกรธก็จะเสื่อมไป 3 มิลลิเมตร เสื่อม 3 เท่า ถ้าเราสะสมมาเรื่อยๆ จนอายุ 25 ปีนี่ก็สุดๆ แล้ว คนที่โกรธมากสมองก็จะเสื่อมเร็วมาก”
อาจารย์อธิบายเพิ่มเติมว่าสมองมี 4 ส่วน แต่ละส่วนมีหน้าที่แตกต่างกันไป การออกกำลังกายสมองทำได้ในทุกกิจวัตรประจำวันตั้งแต่การมอง การได้ยิน การสื่อสาร การทำให้อารมณ์เราบูด ถ้าเราใช้งานครบทุกส่วนก็จะป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ สมองซีกขวาเรามักใช้เกี่ยวกับศิลปะ ดนตรี การเคลื่อนไหวที่มีจังหวะ เช่น การร้องรำทำเพลง ร้องเพลงโดยไม่ดูเนื้อเลย รำลึกและร้องเพลงเก่าๆ จะทำให้เราทบทวนความจำได้ดี หรือทำอะไรที่เราไม่เคยทำมาก่อน เช่น เขียนหนังสือมือซ้าย การเขียนหนังสือทั้ง 2 มือ ซึ่งจะทำให้สมองซีกซ้ายและซีกขวาสมดุลกัน
การใช้ภาษากายมากกว่าภาษาพูด เช่น สบตานิ่งๆ กับคนที่เราพูดประมาณ 3 วินาที หรือฟังเสียงพูดแล้วเลียนเสียงพูดให้มากที่สุด จะทำให้สมองซีกขวาส่งความรู้สึกได้มากกว่าภาษาพูด
สมองซีกซ้าย คือส่วนที่ใช้ทักษะด้านตัวเลข การใช้เหตุผล ต้องฝึกกิจกรรม เช่น การเขียนตัวเลข ตัวอักษรที่มีลำดับ การเขียนรูปเรขาคณิต หรือใช้มือทั้ง 2 ข้างวาดรูปทรงต่างๆ ซึ่งเหล่านี้จะทำให้มีเหตุผลมากขึ้น
อ่านต่อ
สมองส่วนหลัง ส่วนนี้เน้นความรู้สึกล้วนๆ วิธีการฝึก เช่น หลับตาสระผม จับของต่างๆ ขณะหลับตา ดมกลิ่นอาหาร จะทำให้เรารู้สึกตื่นตัว ทำให้สมองทำงานไปพร้อมๆ กัน
สมองด้านหน้า สำหรับพวกเครียด คิดลบ และไม่ค่อยรู้จักอารมณ์ตัวเอง โดยเฉพาะถ้าภาวะสมองเสื่อมจะโกรธง่าย สมองด้านหน้าจะจัดการอารมณ์ความเครียดให้ผ่อนคลาย ท่าออกกำลังกายที่แนะนำ คือโยคะมือ
หน้าที่ของสมองอีกอย่างคือความจำ อาจารย์ป๊อปอธิบายเรื่องความจำว่า “ความจำแยกได้เป็นจำเรื่องราวภายในกับจำเรื่องราวภายนอก จำเรื่องราวภายในคือจำเหตุการณ์ในชีวิตที่ผ่านมาทั้งบวกและลบ จำเรื่องราวศิลปะการใช้ชีวิตว่าเราใช้ชีวิตอย่างไรและมีคุณค่า ประทับใจไม่รู้ลืม ส่วนนี้ผู้สูงอายุจะเก็บไว้ยาวเลย เช่น จำเรื่องราวคนที่เขารัก คุณตาคุณยายสอนเขาอย่างไร
“อีกส่วนคือการเรียนรู้ความจำจากภายนอก มี 3 ประเภท ถ้าเป็นสมองส่วนหน้าจะรวบรวมความจำทั้งหมดตั้งแต่เราเห็นอะไร ได้ยินอะไร เคลื่อนไหวอะไร ในทุกๆ กิจกรรมทั้งในอดีต ปัจจุบันและบางคนอนาคตด้วย สมองส่วนหน้าถ้าเห็นภาพมาแล้วไม่ค่อยได้เขียน ได้อ่าน ได้ฟัง ได้ตั้งคำถาม ส่วนนี้ก็จะหายไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลา”
อาจารย์อธิบายเพิ่มเติมว่าถ้าเราเริ่มต้นจากอายุ 25 ปีเราต้องใช้แบบท้าทาย เขียนหนังสือ เขียนรูป การคัดลายมือนี่ก็เป็นการท้าทายสมอง แต่ถ้าเขียนปุ๊บๆ เขียนเร็วๆ อ่านไม่รู้เรื่องเรียกว่าไม่ท้าทายและไม่จำ เด็ก Gen Y ในปัจจุบันความจำอาจจะถดถอยลงก่อนวัยได้
ในวัยเอจจิง 40-50 ปีอาจารย์ป๊อปในฐานะนักกิจกรรมบำบัดมีคำแนะนำในเรื่องฝึกความจำว่า “จะแนะนำให้เขาคิดว่าในอดีตคุณชอบทำอะไร มี 3 อย่าง คือ ชอบภาพอะไร ชอบเสียงอะไร และชอบการเคลื่อนไหวอะไร ถ้าบอกอย่างใดอย่างหนึ่งได้เร็วแสดงว่าชอบแล้วต้องลงมือทำเลย ทำแบบท้าทาย คิดแล้วต้องทำเลยเพื่อให้เราสร้างความรู้สึกดีๆ จากความจำระยะสั้นเป็นความจำระยะยาว
“อีกวิธีคือลองเอาลิ้นแตะบนเพดานปากแล้วปิดปาก หายใจเข้า-ออกช้าๆ ลิ้นอยู่บนเพดานปากตลอด กลืนน้ำลายได้ ถ้าเรารู้สึกว่ามีอะไรแสดงว่ามีลมปราณ ที่เราต้องเอาลิ้นแตะบนเพดานปากเพราะสมองส่วนของการหายใจมี 2 ส่วน คือหายใจแบบอัตโนมัติและการหายใจแบบตั้งใจ พอเราเอาลิ้นไปแตะเพดานเหมือนกับเราตั้งใจ ไฟฟ้าสถิตจะมีการโฟกัส ถ้าเราฝึกจะรู้สึกว่ามีอะไรมาดูดๆ กัน เป็นลมหายใจที่วัดเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ นี่คือช่วยเรื่องการจำ แสดงว่าร่างกายทั้งหมดจำการเคลื่อนไหวที่ดีได้ เสื่อมน้อย เราก็จะจำว่าเคี้ยว หายใจเข้า-ออก การเคลื่อนไหวมือ ตา หู จมูก เรามีสติ ร่างกายไม่บอบช้ำ ความจำจะอยู่ได้นาน ที่เราเห็นผู้สูงอายุดูเป็นหนุ่มเป็นสาวเพราะมีความจำส่วนนี้ เราเรียกว่าความจำของร่างกายผ่านลมหายใจ เป็นที่มาของไทชิ ชี่กง ลมปราณ ที่ให้ผู้สูงวัยทำอยู่ แต่บ้านเรามีค่านิยมว่าเป็นผู้สูงวัยถึงจะทำ แต่ไม่ใช่ ซึ่งควรทำตั้งแต่อายุ 25 ปีแล้ว”
คนที่ไม่เคยฝึกอาจจะไม่เห็นความสัมพันธ์ที่อาจารย์ป๊อปอธิบายซึ่งดูละเอียดอ่อน เหมือนกับท่าโยคะมือที่อาจารย์เรียกชื่อท่าที่ทำว่าท่าเมตตา โน้มนิ้วกลางกับนิ้วโป้งชนกันจะทำให้สมองตื่นตัวและพร้อมทำอะไรดีๆ ท่ากรุณา โน้มนิ้วชี้กับนิ้วโป้งจรดกัน ทำให้เรามีความตั้งใจ คิดดี ทำดี ท่ามุทิตา หรือท่าลูกเสือชู 3 นิ้ว ช่วยให้ฟังได้ดี พูดได้ดี เขียนได้ดี และท่าอุเบกขา หรือท่าสู้ๆ ชู 2 นิ้ว ทำให้เราปล่อยวางอารมณ์ ถ้าเรามีความเศร้า ความโกรธ ทำท่าต่างๆ ค้างไว้ท่าละ 3 วินาที ทำ 4 ท่าครบ 3 รอบ เป็นท่าออกกำลังกายสมองส่วนหน้า ทำให้สมองตื่นตัวและทำอะไรดีๆ
ถ้าไม่ลองทำอาจจะไม่น่าเชื่อว่าสิ่งเล็กๆ นี้จะสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่ให้กับสมองและความจำของเราได้
Tag:
, Aging Gracefully, ผู้สูงอายุ,
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น