มาเยือนจันทบุรีคราวนี้ฉันมาที่ชุมชนริมคลองหนองบัว ชุมชนเล็กๆ 400 กว่าครัวเรือนที่อาศัยอยู่ใกล้กับแม่น้ำจันทบุรี ที่นี่มีบ้านเรือนเก่าแก่อายุนับร้อยปีสร้างขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ให้เราเดินเล่นเยี่ยมชม อีกทั้งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจอื่นๆ อีก เช่น การล่องเรือชมเหยี่ยวหรือมาเดินเที่ยว “ชุมชนขนมแปลก” ที่เป็นเครื่องบันทึกประวัติความเป็นมาของผู้คนในชุมชนแห่งนี้
อันที่จริงคำว่า “ขนมแปลก” ของชุมชมริมคลองหนองบัวเป็นขนมโบราณที่วัตถุดิบอาจจะไม่หวือหวาเท่าไร แต่หากเป็นเรื่องเล่าสนุกๆ และภาษาที่ชาวบ้านเรียกขนมแต่ละชนิดฟังแล้วจั๊กจี้หัวใจ ซึ่งตรงกับไอเดียแรกเริ่มของชุมชนซึ่งอยากให้ทุกคนที่มาจำได้ติดหูนั่นเอง
ทุกๆ วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ราวๆ ตี 4 ถึง 7 โมงเช้าเราจะพบกับบรรดาพ่อค้าแม่ค้าทยอยกันมาขายของ และด้วยทำเลที่ตั้งของชุมชนหนองบัวที่อาจเรียกได้ว่าเป็นแหล่งรวมทรัพย์ในดินสินในทะเลนี่เอง ตลาดแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยผักนานาชนิด กุ้ง หอย และปลาที่ได้จากการทำประมงพื้นบ้านเช่น ปลากด ปลาใบขนุน ปลากระทะ ปลาฝ้าย และปลาควยถอก (อย่าเพิ่งคิดว่าผู้เขียนตั้งใจเขียนทะลึ่งนะคุณผู้อ่าน (ฮา!)) เพราะลักษณะของปลาคล้ายกับอวัยวะเพศชาย ชาวบ้านเลยเรียกง่ายๆ กันแบบนี้ ในบางอำเภอก็เรียกว่าปลาแดง หรือปลาเขือแดง (ปลาบู่เขือ) นิยมนำไปตากแดดแล้วเสียบไม้ปิ้งขายให้เราลองชิมกันในราคาย่อมเยา
นอกจากนี้ยังมีของดีขึ้นชื่ออย่าง “ไม้กวาดดอกอ้อ” สินค้าโอทอปที่อยู่คู่กับชุมชนหนองบัวมานานกว่า 10 ปี เป็นงานหัตถกรรมที่ทำด้วยมือทีละด้าม โดยนำไม้กวาดดอกอ้อมาร้อยไว้กับเส้นหวายแท้ซึ่งต้องอาศัยความประณีตและความชำนาญเพื่อให้ออกมาสวยงามและใช้งานได้คงทน จากปากคนใช้งานจริงบอกว่าสามารถใช้ได้นานหลายปีเลยทีเดียว
ส่วนใครที่รักการทำอาหารห้ามพลาด “น้ำตาลอ้อย” (ชาวบ้านเรียกน้ำอ้อย) เด็ดขาดเชียว น้ำอ้อยที่นี่แค่เดินไปอยู่ใกล้ๆ ก็ได้กลิ่นหอมโชยมาแตะจมูกแล้ว ปัจจุบันที่นี่มีโรงหีบอ้อยอยู่ 2 โรงหีบ คอยผลิตน้ำอ้อยให้คนในชุมชนไว้กินและขายกันตลอดทั้งปี ซึ่งนอกจากเอามาทำขนมแล้ว อาหารพื้นถิ่นบางเมนู เช่น หมึกต้มน้ำอ้อย แกงหมูใบชะมวงก็ยังใช้น้ำตาลอ้อยด้วย เราว่านี่คือของดีคู่ครัวของคนหนองบัวที่ใครไปถึงถิ่นแล้วน่าจะลองซื้อติดมือกลับมาด้วย (เราซื้อมาใส่กาแฟก็หอมหวานอร่อยดี)
ที่นี่ยังมีน้ำปลาแท้ชื่อ “บ้านทำน้ำปลายุพดี” กลิ่นหอมรสชาติเข้มข้น ใช้ปลาหัวอ่อนหมักกับเกลือนาน 5-6 เดือน “กุ้งแห้ง” ก็ขายดี กุ้งนาจากท่าเรือริมคลองหนองบัวที่เปลือกแข็งกว่ากุ้งขาว เมื่อนำมาตากแดดให้แห้งแล้วจะมีเนื้อสัมผัสที่กรอบด้วย
พอ 10 โมงเช้าที่นี่จะเปลี่ยนจากตลาดเช้ากลายมาเป็นร้านรวงต่างๆ มีการออกร้านขายอาหารทั้งคาวและหวานซึ่งเป็นสูตรตกทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เรียกว่าเป็นสูตรประจำบ้านที่ทำกินกันมาเนิ่นนาน โดยเฉพาะขนมโบราณที่มีส่วนผสมหลักๆ จากแป้ง มะพร้าว กะทิ ถั่ว งา และพระเอกที่ขาดไม่ได้ก็คือน้ำตาลอ้อยนั่นเอง
อ่านต่อ
เมนูที่เราอยากให้ทุกคนได้ลองคือขนมตังเม หอมหวานจากน้ำตาลอ้อยแท้ๆ ต่อด้วยน้ำเยี่ยววัว น้ำอ้อยคั้นสดเคี่ยวจนเป็นสีขุ่นคล้ายกับเยี่ยววัว ดื่มเย็นๆ คู่เฉาก๊วยแล้วสดชื่นเชียว ตะไลน้ำอ้อย ก็คือขนมถ้วยที่เราเห็นทั่วไป แต่สูตรของที่นี่ใช้ข้าวโม่เอง ส่วนชั้นสีน้ำตาลสวยที่เห็นได้จากน้ำตาลอ้อยหอมหวาน (จะพลาดใส่ได้อย่างไร!)
ขนมเกสรลำเจียกสีพาสเทลไส้มะพร้าวอ่อนก็เป็นขนมโบราณที่หากินยากขึ้นทุกวัน รวมถึงขนมพระพาย แป้งลูกกลมสีสวยสดได้จากธรรมชาติ เช่น เผือก ฟักทอง อัญชัน ไส้ในเป็นถั่วกวน และอีกหนึ่งไฮไลต์ที่ใครพลาดถือว่ามาไม่ถึงนั่นคือขนมควยลิงอันลือลั่นของยายลิและยายตุ่มที่เล่าถึงที่มาว่า เมื่อก่อนริมคลองหนองบัวมีป่าแสมขึ้น ตอนยายทวดทำขนมจะมีลิงแสมตัวเล็กๆ มานั่งเฝ้าทำให้เห็นจุ๊ดจู๋ของลิงเข้า ซึ่งรูปทรงก็ดันคล้ายกับขนมที่คุณยายทวดทำ ก็เลยตั้งชื่อให้ขนมว่าขนมควยลิงตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา ทำจากแป้งข้าวเหนียวสีม่วงเข้มปั้นเป็นแท่งเล็กๆ รีๆ ต้มในน้ำเดือด สุกแล้วตักขึ้นมาคลุกกับมะพร้าวขูดและน้ำตาล เราคอนเฟิร์มว่าเคี้ยวหนึบหนับหวานมันอร่อยดี
นอกจากนี้ยังมีอาหารพื้นถิ่นอีกมาก เช่น หอยพอกย่าง ก๋วยเตี๋ยวหมูเลียง ก๋วยเตี๋ยวผัดน้ำกุ้ง ฯลฯ ให้เลือกกินและชอปจนหนำใจได้เรื่อยๆ จนถึง 6 โมงเย็น
ใครที่แวะเวียนมาจันทบุรีแล้วยังไม่เคยมาที่นี่ เราไม่อยากให้พลาดเลยจริงๆ อยากชวนทุกคนมาเดินเล่น กินขนม ชมบ้านเก่าที่ชุมชนริมคลองหนองบัวดูสักรอบ แล้วจะรู้ว่าจันทบุรีไม่ได้มีดีแค่สวนผลไม้กับบ่อพลอยเท่านั้นที่น่าสนใจ
Tag:
, travel, จันทบุรี,
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น