เมื่อใดจึงควรพบคุณหมอ Anti-Aging

วันที่ 25 มกราคม 2562  19,767 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 222 เดือนมกราคม 2562

ปัจจุบันแทบไม่ต้องถามว่าประชากรอายุเท่าใดมีจำนวนมากที่สุด ทั่วทั้งโลกกำลังมีผู้สูงอายุ หรือ Aging เพิ่มมากขึ้น จนเรามักจะได้ยินคำว่า Anti-Aging กันหนาหู เอนไทเอจจิงช่วยทำให้เราไม่แก่ หรือดูเป็นหนุ่มเป็นสาวขึ้นหรือ

คนที่ให้คำตอบเรื่องนี้ได้ดีที่สุดน่าจะเป็นคุณหมอทางด้านนี้ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับแพทย์หญิงจิรา ถาวรประดิษฐ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและเวชศาสตร์ชะลอวัย ศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัยกรุงเทพ (Bangkok Royal Life Anti-Aging Center) โรงพยาบาลกรุงเทพ คุณหมอพูดคุยด้วยน้ำเสียงสดใส นุ่มนวล ใบหน้าสดชื่น ก่อนจะถามว่าเอนไทเอจจิงดูแลร่างกายเราอย่างไร คุณหมอก็ชวนพูดคุยก่อนเลยว่า “คนที่มาโรงพยาบาลจะมี 2 ส่วน คือคนที่มีโรคภัยไข้เจ็บแล้ว เช่น เป็นหวัด ไม่สบาย เป็นเบาหวาน ความดัน ร่างกายเราเกิดความเสื่อมอย่างชัดเจน อีกกลุ่มคือยังไม่ป่วยเป็นโรคแต่มาตรวจร่างกายเพื่อดูว่าเราเป็นโรคอะไรหรือไม่ การตรวจประจำปีสมัยเดิม เช่น มีน้ำตาลในเลือดสูงไหม ความดันโลหิตเท่าไร เพื่อจะส่งต่อว่าเอายาความดัน เบาหวาน ไปกินนะ แต่เวชศาสตร์ชะลอวัยจะดูแลคนไข้เชิงลึกไปกว่านั้นและป้องกันก่อนที่จะเป็นโรค”

แพทย์หญิงจิรา ถาวรประดิษฐ์

คุณหมออธิบายว่าผู้หญิง ผู้ชาย และแต่ละช่วงวัยของคนเราตั้งแต่วัยเด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน  วัยประจำเดือนใกล้หมดหรือประจำเดือนหมดแล้ว การดูแลแต่ละช่วงวัยไม่เหมือนกัน แต่จะดูแลอย่างไรให้บาลานซ์ และอายุที่มากขึ้นทุกวันอยู่ในช่วงที่เฮลท์ตี้และสุขภาพดีที่สุด คุณหมอบอกว่านี่เป็นหน้าที่ของเวชศาสตร์ชะลอวัย

“เราจะไปดูว่าการใช้ชีวิตทุกๆ วันใช้อย่างไร มีไลฟ์สไตล์แบบใด และมีการเจาะเลือดบวกกับการสแกนร่างกายบางอย่างเพื่อไปช่วยวิเคราะห์เพิ่มเติมว่าตอนนี้ภาวะร่างกายเราเป็นอย่างไร ต้องบอกว่าถ้าเรารู้ลึกและละเอียดเหมือนเอากล้องนาโนไปส่องมากขึ้นนี่จะรู้เลยว่าอะไรที่เราขาด อะไรที่เกินไปหรือเปล่า อะไรที่ตอนนี้เราหักโหมมากเกินไปแล้วทำให้ฮอร์โมนและอาหารการกินทั้งวิตามิน ส่วนกล้ามเนื้อ ไขมัน พวกนี้มากไปหรือน้อยไป ทุกคนอายุมากขึ้น ใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์ พันธุกรรม สิ่งแวดล้อมของเรา เราใช้ไปก็ดีนะ แต่อาจจะไม่เหมาะกับร่างกายเราทีเดียว ฉะนั้นเวลาที่เราตามดูแลคนไข้ การเจาะเลือดที่ลึกลงไปมากขึ้นจะทำให้เห็นว่าที่เราใช้ชีวิตมาถึงตรงนี้มันเป็นอย่างไรบ้าง ที่เราทำตรงนี้ดีขึ้นหรือยัง มันแย่ลงหรือไม่”

โรคหรืออาการบางอย่างหลายคนเคยรับรู้มาว่าสามารถถ่ายทอดมาจากพ่อแม่หรือพันธุกรรม เราสามารถแก้ไขได้ไหม คุณหมอบอกว่า พันธุกรรมเป็นพิมพ์เขียวจากพ่อแม่ เปลี่ยนไม่ได้ แต่ตอนนี้เรามีความรู้เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์บางอย่างที่ทำให้การแสดงออกของยีนแตกต่างกันไป รวมถึงอาหารการกิน การนอน การใช้ชีวิต พอรู้ว่ามีความเสี่ยงตรงนี้มากขึ้นเราต้องไปโฟกัสเพื่อทำอย่างไรไม่ให้แสดงออกมากขึ้น ดูเรื่องการใช้ชีวิตกับผลเลือดให้บาลานซ์กันดีหรือยัง เรื่องสำคัญเกี่ยวกับอาหารการกินก็ไม่พ้นเรื่องของวิตามิน เกลือแร่ ปริมาณโปรตีน คาร์โบไฮเดรต เรื่องของน้ำตาล ปริมาณไขมัน ชนิดอาหารอะไรที่ทำให้ร่างกายเราเสื่อมเร็วขึ้น กับอีกส่วนหนึ่งคืออะไรที่เราทำแล้วทำให้เกิดโรค อย่างแรกสุดต้องทำให้ร่างกายไม่เกิดโรคอะไรที่อันตราย เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์เยอะ การกินน้ำตาลที่มีความเสี่ยงให้เราเป็นเบาหวาน ความดัน อันนั้นต้องตัดออกไปก่อน

“ส่วนที่ 2 ทำอย่างไรให้ร่างกายเราเสื่อมช้าลงหรือเรียกว่าชะลอวัย เราจะรู้ว่าอาหารอะไรช่วยได้บ้าง ไลฟ์สไตล์แบบใด การออกกำลังกายกระดูกเราจะดีไหม วิตามินตัวใดที่ทำให้กระดูกเราแข็งแรงนอกจากแคลเซียม ซึ่งแคลเซียมอย่างเดียวไม่ใช่ล่ะ ต้องมีวิตามินที่เหมาะสมด้วย เป็นต้น”

อ่านต่อ


Tag: , Aging Gracefully, Anti-Aging, ผู้สูงอายุ,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed