แน่นอนว่าเริ่มต้นปีทั้งทีเราก็มีความรู้ใหม่เรื่องอาหารมาเล่าสู่กันฟังเหมือนเช่นเคย วันนี้เราจะมาอัปเดตคำศัพท์ใหม่ที่คนรักอาหารควรรู้!!
Arnold Palmer : ชามะนาวสูตรพาล์มเมอร์
สำหรับคอกีฬาคงคุ้นชื่อ อาร์โนลด์ พาล์มเมอร์ (Arnold Palmer) ราชานักกอล์ฟชาวอเมริกันที่เพิ่งจากไปได้เป็นอย่างดี แต่นอกจากฝีมือการกีฬาที่จารึกไว้แล้ว ชื่อนี้ยังหมายถึงเครื่องดื่มซึ่งเกิดจากการผสมน้ำชาและน้ำเลมอนเข้าด้วยกันในอัตราส่วน 3 ต่อ 1
จริงอยู่ที่พาล์มเมอร์ไม่ได้เป็นคนนำน้ำเลมอนใส่ลงในน้ำชาขมๆ เป็นคนแรก แต่ก็ต้องยอมรับว่าเขาเป็นคนทำให้เมนูนี้แพร่หลาย ซึ่งที่มาของชื่อเรียกนั้นพาล์มเมอร์เคยเล่าให้ฟังในรายการ ESPN 30 for 30 Shorts ในปี 2012 ว่ามาจากภรรยาของเขาที่ชอบทำชาเย็นเป็นที่สุด เขาเลยเสนอไอเดียให้ลองเติมน้ำเลมอนเพื่อเพิ่มรสสดชื่น แต่ไปๆ มาๆ เขากลับเสพติดชาเลมอน หลังซ้อมเสร็จทุกครั้งเขาจึงสั่งชาเลมอนเป็นประจำที่สนามกอล์ฟ จนวันหนึ่งก็มีผู้หญิงที่อยู่โต๊ะใกล้กันได้เห็นชาเย็นสูตรพิเศษนี้ ก็เลยสั่งว่า “ขอแบบอาร์โนลด์ พาล์มเมอร์” จนกลายเป็นชื่อที่เรียกขานกันมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960
ความโด่งดังของชาเลมอนของพาล์มเมอร์เรียกว่าไม่ธรรมดาเลยล่ะ เพราะได้มีการผลิตจำหน่ายบรรจุลงกระป๋องไม่ต่างจากชาชื่อดังอย่างลิปตัน (Lipton) ที่เรารู้จักกัน
Harissa : เครื่องเทศตำรับแอฟริกัน
เพียงได้ยินชื่อ “ฮาริสสา” อาจทำให้นึกถึงผู้หญิงแสนสวยสักคน แต่ความจริงแล้วนี่คือชื่อของพริกแกงรสเผ็ดของชาวแอฟริกันทางตอนเหนือและเป็นเครื่องปรุงประจำชาติของตูนิเซีย
ส่วนผสมของฮาริสสาเรียกว่ามีมากมายหลายหลาก เริ่มตั้งแต่พริกแดงย่าง พริกบัคโลติ (Baklouti Pepper - พริกแดงเม็ดเล็กของชาวตูนิเซีย) พริกเซอราโน (Serrano Pepper - พริกที่มีถิ่นกำเนิดในเม็กซิโก) ตามมาด้วยสมุนไพรนานาชนิด อาทิ กระเทียม เม็ดผักชี แซฟฟรอน และคาราเวย์ (Caraway หรือยี่หร่าเปอร์เซีย) แต่ถ้าถามถึงต้นกำเนิดก็ต้องนับย้อนไปในช่วง ค.ศ. 1535-1574 อันเป็นยุคล่าอาณานิคม ซึ่งช่วงนั้นประเทศตูนิเซียได้เป็นเมืองท่าสำคัญและเป็นจุดพักของเครื่องเทศ จนทำให้เกิดการปรุงพริกแกงเพื่อนำมากินคู่กับเนื้อและปลา จุดเด่นของฮาริสสาก็คงไม่พ้นกลิ่นหอมๆ ของพริกย่างรมควันที่เตะเข้าจมูกทุกครั้งเมื่อเคี้ยว ขณะที่ความเผ็ดก็อยู่ในระดับพอดีๆ ไม่เผ็ดมาก แต่ก็ไม่ใช่อ่อนจนไม่รู้สึกแสบร้อน
ที่สำคัญที่สุด การส่งออกฮาริสสายังเป็นหนึ่งในรายได้หลักของตูนิเซีย ด้วยยอดที่สูงถึงปีละ 30,000 ตันเลยทีเดียว
Kombucha : ชาหมักเพื่อสุขภาพ
หลังจากที่เราเคยพูดถึงชาคอมบู (Kombucha) ว่าเป็นเทรนด์สุดล้ำของชาวอเมริกันผู้รักสุขภาพไปเมื่อราวๆ 5 ปีที่แล้ว มาตอนนี้เจ้าชาหมักได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ
แม้จะดูเป็นเครื่องดื่มใหม่ล่ามาแรงวางขายเป็นขวดๆ ยกดื่มกันเก๋ๆ แต่ชาคอมบูกลับมีอายุเก่าแก่มากกว่า 2,000 ปี ตั้งแต่สมัยราชวงศ์จิ้น โดยแพทย์จีนในสมัยนั้นมักจะหมักชาใส่โหลจนจับตัวเป็นวุ้นเพื่อใช้เป็นยารักษาสารพัดโรค เพราะสามารถล้างพิษและสร้างภูมิคุ้มกัน สำหรับชาวอเมริกันนั้นรู้จักชาชนิดนี้เป็นครั้งแรกเมื่อช่วงศตวรรษที่ 19 แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้สนใจไยดี เนื่องจากกำลังหลงใหลได้ปลื้มกับแอปเปิลไซเดอร์ (Apple Cider) กันมากกว่า
แม้แอปเปิลไซเดอร์จะได้ชัยชนะไปช่วงแรก แต่ตอนนี้ชาคอมบูก็เป็นที่นิยมแบบสุดๆ
Poke : ยำปลาดิบของชาวฮาวายเอียน
พักหลังๆ คงต้องยอมรับอาหารของชาวฮาวายเริ่มเป็นหนึ่งในเทรนด์อาหารโลกที่เข้าสอดแทรกเข้ามาสร้างสีสันอยู่ไม่น้อย และในปีที่ผ่านมาก็มีเมนูที่ชื่อว่า “โปเค” (Poke หรือ Poké) โดดเด้งเข้ามา
ถ้าแปลตรงตัวคำนี้ในภาษาฮาวายจะหมายถึง “หั่น” หรือ “ทำให้เป็นชิ้นเล็กๆ” และนั่นก็ทำให้เมนูนี้มาจากปลาดิบหั่นชิ้นเต๋าปรุงรสตามชอบ แต่ถ้าตำรับดั้งเดิมจะเน้นเป็นปลาทูน่ากับปลาหมึกมาคลุกเคล้ากับเกลือทะเล เสิร์ฟพร้อมสาหร่ายและผักท้องถิ่นอีก 2-3 ชนิดให้กินคู่กัน ซึ่งอาหารชนิดนี้ชาวฮาวายนิยมกินกันมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ก่อนที่ในช่วงปี 2012 ชาวอเมริกันจะพัฒนาให้วาไรตี้ยิ่งขึ้น ด้วยการเติมส่วนผสมใหม่ๆ อย่างอะโวคาโด หอมหัวใหญ่ สับปะรด และแตงกวา ไม่ต่างกับเครื่องปรุงรสที่ถูกแต่งเติมอย่างสนุก ไม่ว่าจะเป็นซอสพอนสึ ซอสเทอริยากิ ซอสศรีราชา ให้ได้รสชาติถูกอกถูกใจ
ส่วนที่มาที่แท้จริงเชื่อกันว่าน่าจะได้ไอเดียมาจากชาวประมงที่หาอะไรชิมระหว่างจับปลานั่นเอง
Za’atar : เครื่องปรุงรสของชาวตะวันออกกลาง
ปิดท้ายด้วยเครื่องปรุงประจำครัวของชาวตะวันออกกลางอย่าง “ซาตาร์” (Za’atar) ที่ตอนนี้เริ่มฉายแววเป็นดาวเด่น หลังจากความนิยมกระจุกตัวเฉพาะชาวยุโรปแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาแสนนาน
ซาตาร์เป็นเครื่องปรุงที่เกิดจากการรวมตัวกันของสมุนไพรนานาชนิด โดยมีไทม์เป็นตัวหลักและเป็นที่มาของชื่อด้วย นอกจากนี้ยังมีออริกาโน งา ซูแมค (Sumac - ธัญพืชที่เติบโตในตะวันออกกลาง) ยี่หร่า พริกไทยดำ ก่อนคลุกเคล้าด้วยเกลือ จนได้รสชาติที่ไม่ต่างกับสมุนไพรสด ขณะที่ความหอมของออริกาโนก็ดีงาม พอได้งาก็ช่วยเติมเต็มทำให้ได้รสชาตินวลๆ มากกว่าที่จะเผ็ดฉุนอย่างเครื่องเทศแขกปกติ
กล่าวกันว่าวิธีการกินซาตาร์นั้นสามารถใช้ได้อย่างครอบจักรวาล ไม่ว่าจะโรยบนขนมปัง ใส่สลัด หรือเอามาหมักเนื้อหมักปลาก็เข้ากันไปเสียหมด!
แหล่งข้อมูล
Tag:
, Nice To Know, คำศัพท์,
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น