หนึ่งในวลีประจำปีนี้ของสารานุกรมฉบับนักกิน G&C (เราตั้งขึ้นมาเอง) คงไม่พ้น “ไข่มุกจะอยู่ในทุกเมนูไม่ได้!!” เมื่อความนิยมของไข่มุกแรงจนยั้งไม่อยู่ แถมยังเลยเถิดจากในถ้วยชาไปโผล่ในชามก๋วยเตี๋ยว แซนด์วิช และอื่นๆ อีกมากมาย เราเลยไม่พลาดพาทุกคนมาสืบสาวราวเรื่องของชาไข่มุกกันสักหน่อย
The Rise of Boba : ไข่มุก + ชา ส่วนผสมอันลงตัว
การโคจรมาเจอกันระหว่างชาและไข่มุกนั้นนับเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ใช่เล่น เพราะเขารู้ได้อย่างไรกันว่า “ชานม” ต้องการอะไรที่จะต้อง “เคี้ยว”
แม้ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักล้วนกล่าวตรงกันว่าชาไข่มุกน่าจะได้ไอเดียมาจากขนมเฟิ่นหยวน (Fen Yuan) ที่ทำจากแป้งมันสำปะหลังปั้นเป็นลูกกลมๆ ใส่ลงไปในน้ำชา แต่ถึงกระนั้นคงไม่มีใครรู้ดีไปกว่าผู้คิดค้นที่แท้จริงอย่างสองคู่หูชาวไต้หวัน หลิวฮันฉี (Liu Han-Chieh) และหลินซิวฮุ้ย (Lin Hsiu Hui) เจ้าของโรงน้ำชาในจังหวัดไถจง (Taichung) จากตำนานความอร่อยเล่าว่านายหลิวฮันฉีเป็นคนริเริ่มนำนมสดใส่ลงไปในน้ำชาเป็นคนแรกๆ เพราะเห็นชาวญี่ปุ่นยังเติมนมลงไปในกาแฟ ก่อนนายหลินซิวฮุ้ยจะกลัวน้อยหน้าก็เลยลองนำไข่มุก (แป้งมันสำปะหลังเคี่ยวจนเป็นเม็ด) และพุดดิงใส่ลงไปในชานมสูตรใหม่มันเสียเลย
คงไม่ต้องเดาว่าเมนูใหม่จะฮอตฮิตแค่ไหน เพราะตั้งแต่ปี 1988 เป็นต้นมา “ชาไข่มุก” ก็ได้กลายเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของประเทศไต้หวันไปเป็นที่เรียบร้อย
Why is it called “Boba”? : เรียกกันว่า “โบบา”
สำหรับคนไทยก็เรียก “ชาไข่มุก” เสียจนติดปาก ซึ่งน่าจะมาจากการแปลความหมายของภาษาอังกฤษที่เรียกกันว่า Pearl Milk Tea หรือ Bubble Tea แต่ชาวไต้หวันผู้ให้กำเนิดเครื่องดื่มชนิดนี้กลับคุ้นเคยกับคำว่า “โบบา ที” (Boba Tea) ต่างหาก
แรกเริ่มเดิมทีเจ้าไข่มุกยังไม่ได้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ โดยเป็นแค่เม็ดแป้งลูกเล็กๆ ในน้ำชาเท่านั้น แต่มาภายหลังพ่อค้าเริ่มอยากสร้างความแตกต่าง เลยทำเม็ดแป้งให้ใหญ่ขึ้นเคี้ยวหนึบขึ้น ก่อนจะเรียกว่า “โบบา” ที่แปลว่า “ลูกใหญ่” (Bubble Big) แต่ไปๆ มาๆ คำนี้ดันไปออกเสียงคล้ายกับคำว่า “โบวบา” (Buo Ba) ในภาษาจีนกลางที่มีความหมายสแลงว่า “หน้าอกใหญ่” ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเพราะรูปลักษณ์ของไข่มุกที่คล้ายกับส่วนสงวนของผู้หญิง ประกอบกับวิธีที่จะทำให้ไข่มุกและส่วนผสมของชาเข้ากันอย่างเหมาะเหม็งก็ต้องอาศัยแรง “เชก” อย่างสุดฤทธิ์ และแน่นอนว่าถ้าเป็นแม่ค้าผู้หญิงด้วยแล้ว ส่วนนั้นก็จะ... (จุด จุด จุด)
ใช้จินตนาการล้ำลึกเลยใช่ไหมล่ะ
The Boba Life : ในไข่มุกมีอะไร?
ไข่มุกสีดำที่เห็นอยู่ตรงก้นแก้วมีชื่อเรียกในทางเทคนิคว่า “ทาปิโอกา บอล” (Tapioca Ball) เพราะทำมาจากแป้งที่ได้จากมันสำปะหลัง
เพื่อความอร่อยล้ำแป้งมันสำปะหลังเม็ดกลมๆ (หน้าตาคล้ายอาหารปลา) จะถูกต้มในน้ำและน้ำตาล (หรือน้ำเชื่อมตามสูตร) จนเม็ดแป้งสุก ซึ่งส่วนใหญ่มักจะต้มกันสดใหม่ทุกๆ 2-3 ชั่วโมงก่อนลงแก้ว ขณะที่น้ำตาลที่เติมลงไปนั้นนอกจากจะช่วยเพิ่มความหวานหอมแล้ว ยังช่วยให้ไข่มุกมีความหนึบหนับและไม่จับตัวติดกัน ด้วยเหตุเดียวกันนี้ความอร่อยของไข่มุกเลยอยู่ที่น้ำตาลที่เลือกนำมาปรุงด้วย โดยไข่มุกสีดำที่เราเห็นจะได้จากน้ำตาลทรายแดงซึ่งโดดเด่นด้วยกลิ่นหอมๆ และไข่มุกสีเหลืองทองก็มาจากน้ำตาลอ้อยที่สีสวยหอมอ่อนๆ
ส่วนรสชาติไข่มุกที่อร่อยนั้น แน่นอนว่าต้องนุ่มและเคี้ยวหนึบไม่เป็นไตแข็งข้างในซึ่งเกิดจากการต้มไม่สุก กล่าวกันว่าถ้าเคี้ยวสองหนแล้วไข่มุกแยกเป็นสองซีกถือว่าไม่ผ่าน ส่วนความหอมที่เพิ่มขึ้นมานั้น นับว่าเป็นผลพลอยได้ เพราะล้วนมาจากเทคนิคการต้มและการเติมแต่งรสชาติจากร้านชาไข่มุกที่พยายามทำให้ไข่มุกอร่อยกว่าใครนั่นเอง
Attention Please!! : สนใจฟังกันสักนิด
เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นของเย็นก็ต้องกินเย็น เพราะไข่มุกอาจเสื่อมสลายตามกาลเวลา
อย่างเรื่องรสชาติแน่นอนว่าการทิ้งไว้นานๆ พร้อมน้ำแข็งย่อมทำให้รสชาติเจือจางลง จากที่เคยหอมก็หายหอม จากที่เคยหวาน (อาจจะ) ไม่หวาน เช่นเดียวกับการปล่อยไข่มุกให้อยู่ในแก้วก็จะทำให้ไข่มุกยิ่งบวมน้ำ แถมยุ่ยอีกต่างหาก แต่ถ้าไข่มุกมีความต้านทานมาก ผลจะเกิดกลับกันด้วยการแปรสภาพเป็นไตแข็งแทน เพราะรับความเย็นจัดจากน้ำแข็งเป็นเวลานานเกินไป
ดังนั้นหากต้องการซื้อชาไข่มุกแต่ยังไม่กินทันทีก็สามารถสั่งแยกน้ำแข็งก่อนได้ แล้วแช่ตู้เย็นเก็บไว้ ซึ่งสามารถคงความอร่อยและความปลอดภัยไว้ได้ประมาณ 8 ชั่วโมง ในขณะที่ชาไข่มุกใส่น้ำแข็งจะคงความอร่อยแท้จริงไว้ได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง
เอาเป็นว่าเจาะหลอดปุ๊บดื่มปั๊บ!!
แหล่งข้อมูล
Tag:
, Nice To Know, ชานมไข่มุก, ไข่มุก,
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น