นั่งสามล้อหัวกบ ย้อนอดีตเมืองทับเที่ยง

วันที่ 22 มิถุนายน 2560  4,223 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 203 เดือนมิถุนายน 2560

TH
EN
CN

 เรามีโอกาสไปร่วมงาน “นิทรรศน์ทับเที่ยง ย่านเก่า เงาอดีต” ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ฟังดูน่าสนใจ ด้วยความต่างจากครั้งก่อนที่เราเดินทางมาจังหวัดตรังเพื่อตามล่าหาหมูย่างและติ่มซำ เราแทบไม่ได้สนใจความเป็นมาของย่านเก่าที่ชื่อ “เมืองทับเที่ยง” เลย จนได้รู้ถึงความเป็นมาและความหลากหลายของชุมชน แน่นอนว่าไฮไลต์ของเรายังอยู่ที่อาหารการกินซึ่งบอกเล่าถึงความเป็นชุมชนแห่งนี้

เมืองทับเที่ยง

จากสนามบินเราเดินทางด้วยสามล้อหัวกบ พาหนะเด่นประจำเมืองที่เราได้ยินเรื่องเล่าว่านำเข้ามาจากเกาะปีนัง บ้านใกล้เรือนเคียง เดิมเป็นรถวิ่งรอบเมือง แต่ปัจจุบันมีจำนวนน้อยลงจึงกลายเป็นรถนำเที่ยวรอบเมืองตั้งแต่ 1, 2 และ 4 ชั่วโมง ที่พาเที่ยวจุดสำคัญๆ ของเมืองทับเที่ยง อาทิ บ้านท่าจีน ศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ย วัดตันตยาภิรม อนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี สระกะพังสุรินทร์ ศาลเจ้าท่ามกงเยี่ย บ้านนายชวน หลีกภัย ศาลเจ้าเปากง และวงเวียนพะยูน ตามแต่ว่าเราสนใจจะไปที่ไหน

เมืองทับเที่ยง

เมืองทับเที่ยง

วัดตันตยาภิรม

เมืองทับเที่ยง

ศาลเจ้าท่ามกงเยี่ย

มื้อกลางวันเราแวะร้านอาหารสุวิมลที่ได้รางวัล “สุขใจชวนกิน อาหารถิ่นต้องห้ามพลาด” ที่ผ่านการชิมว่าอร่อยถึง 4 ใน 5 เมนู แกงเหลือง คั่วกลิ้ง น้ำพริกกุ้งเสียบ และผัดสะตอ น่าเสียดายที่ก่อนหน้านี้น้ำท่วมเลยไม่มีสะตอให้เราได้กิน แต่ที่อร่อยเด็ดที่สุดยกให้แกงเหลืองทั้งแซ่บแสบลิ้นและรสจัดมาก

เมืองทับเที่ยง

ก่อนที่เราจะมาร่วมเดินชมเมืองของโครงการ “นิทรรศน์ทับเที่ยง ย่านเก่า เงาอดีต” ซึ่งจัดโดยกลุ่ม Trang Positive เริ่มที่ถนนราชดำเนินซอย 5 พื้นที่จัดงาน มีกลุ่มบ้านที่มีกลิ่นอายแบบตะวันตกอยู่ บ้านสีเหลืองสวยชื่อว่าบ้านไทรงาม ที่ได้รางวัลประกาศนียบัตรอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2560 บ้านหลังนี้เป็นของนายฟอง ไทรงาม ผู้บุกเบิกการค้าระหว่างเมืองทับเที่ยงกับปีนัง เดิมใช้เป็นโรงแรมเพื่อรองรับการค้าขาย ตึกติดกันเป็นสมาคมฮากกา แม้ว่าจะไม่ได้สวยเด่นเหมือนอย่างบ้านไทรงาม แต่ก็มีเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ อีกตึกคืออาคารที่ทำการย่านการค้า ปัจจุบันเป็นตึกร้างในความดูแลของเทศบาล ซึ่งสถาปนิกชุมชนวางแผนว่าจะทำเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน เปิดชั้นล่างเป็นที่เวิร์กชอป ส่วนชั้นบนเป็นแกลเลอรีเล่าเรื่องเมืองในอดีต

บ้านไทรงาม

เมืองทับเที่ยง

ถนนราชดำเนินซอย 5 พื้นที่จัดงาน “นิทรรศน์ทับเที่ยง ย่านเก่า เงาอดีต”

ออกมาที่ถนนราชดำเนินสายหลักจะมีตึกเก่าสวยเยอะมาก อาทิ ร้านสิริบรรณ ร้านเครื่องเขียนที่ได้รางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทอาคารพาณิชย์ของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี 2560 ยงนานการเกษตร ร้านเครื่องเกษตรที่แทรกตัวกับตึกเก่า และร้านขายยายิ้นจี้ถ่อง ศูนย์รวมของเครื่องเทศสมุนไพรที่บรรดาร้านอาหารในเมืองตรังต่างก็ต้องแวะมา ไม่ว่าจะเป็นผงกะหรี่หรือผงทำหมูเมืองตรังที่นี่มีครบ ตัดมาที่ถนนพระรามหกที่รวมตึกเก่าไว้เช่นกัน ตึกไปรษณีย์ ตึกร้านจีผัน ตึกโรงแรมจริงจริง แนะนำให้หาซื้อโปสต์การ์ดตึกเก่าไปด้วย เอาไปถ่ายรูปคู่กับสถานที่จริงก็สนุกดี

เมืองทับเที่ยง

ร้านสิริบรรณ

เมืองทับเที่ยง

ร้านขายยายิ้นจี้ถ่อง

เมืองทับเที่ยง

หลังจากชมเมือง เชฟอุ้มจากร้านโคอิตรัง (หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของย่านเก่าในเมืองสงขลาที่วันนี้กลับมาอยู่ตรัง บ้านเกิดของคุณพ่อ) มาสาธิตการทำผ่างเปี๊ยะไส้ไข่ดาวและเครปที่รับเอามาจากฮอลันดา นอกจากนั้นยังเป็นผู้เล่าถึงอาหารมื้อค่ำที่คนตรังจะเสิร์ฟกันเฉพาะแขกคนสำคัญ จานแรก หวู่เทาเคาหยก เชฟอุ้มบอกว่ามีความหมายว่า นึ่งแล้วไอน้ำไปถึงสวรรค์ เป็นเนื้อหมูสามชั้นนึ่งกับเผือก จานนี้เป็นอาหารจีนแคะที่เชื่อว่าต้องกินมันหมูให้หมด เพราะถ้าไม่กินเท่ากับทิ้งเงินทองไว้บนโต๊ะ จานต่อมา ไก่ตุ๋นยาจีน ไก่ทั้งตัวตุ๋นกับพุทรา เห็ดหอม ขิง กระเทียม และฮ่วยซัว ตามด้วยผัดเห็ดหัวโล้น เห็ดแชมปิญองผัดกับไข่นกกระทาทอด กุ้ง ข้าวโพดอ่อน และคั่วกลิ้งหมู ที่เชฟบอกว่ามี 2 สูตร สูตรแห้งกับน้ำขลุกขลิก มื้อนี้เป็นอย่างหลัง เรียกว่ารับแขกได้อิ่มหน่ำมาก

เมืองทับเที่ยง

เชฟอุ้มจากร้านโคอิตรัง

เมืองทับเที่ยง

หวู่เทาเคาหยก ไก่ตุ๋นยาจีน ผัดเห็ดหัวโล้น และคั่วกลิ้งหมู

ที่น่าสนใจคือมื้ออาหารของวันต่อมา เพราะเป็นการรวมเอาอาหารชาติพันธุ์ของคนในเมืองทับเที่ยงไว้ในคราวเดียวผ่านอาหาร 9 เมนู เราอาจจะไม่รู้ว่าเมืองตรังมีชาวจีนโพ้นทะเลมาอยู่อาศัยหลายชาติพันธุ์ ทั้งจีนฮกเกี้ยน จีนฮากกา จีนแคะ จีนแต้จิ๋ว และจีนไหหลำ รวมถึงคนปากีสถานและคนไทย ซึ่งทุกชาติพันธุ์มีอาหารเฉพาะ รวมถึงรสชาติของตัวเอง ไม่เพียงเท่านั้นอาหารยังสะท้อนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับทับเที่ยงที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสวนพริกไทย ก่อนที่ราคาพริกไทยจะตกต่ำและทดแทนด้วยการนำเข้ายางพารามาปลูก อืม...อาหารก็เล่าประวัติศาสตร์ได้

จานแรก หมี่เตี้ยว จากคุณจิ๋ม ลูกสาวภัตตาคารโกยาว อาหารมงคลของจีนแต้จิ๋วที่มีในทุกงาน เนื่องจากต้องปรุงให้เส้นหมี่ที่ยาวอย่างละเมียดไม่ให้เส้นขาด ผัดกับน้ำมัน พริกไทย และกุยช่าย ไม่ใส่เนื้อสัตว์ เนื่องจากใช้กินแทนข้าว จานต่อมา หมูห่อมันแห จากโกเภาโต๊ะจีน อาหารจีนกวางตุ้งที่ใช้เนื้อหมู ตับ หมูหย็อง ผัดกับซอส แล้วห่อด้วยมันแหจากกระเพาะหมู แล้วนำไปทอด 2 ครั้งให้กรอบ มาที่ทางฝั่งจีนไหหลำกันบ้าง โตดูคาหรือดุ๋มดู๋บา ที่คุณวิทยา ประธานชุมชนย่านการค้าแห่งนี้ทำออกมา ปกติใช้เนื้อแพะ แต่เพื่อให้กินง่ายจึงปรับไปใช้เนื้อขาหลังหมูแทน หมักกับเต้าหู้ยี้ กระเทียม ผักเจียวน้ำมัน และขิงอ่อน ผัดกับเหล้า ซอสปรุงรส และน้ำตาล เติมน้ำซุปแล้วตุ๋นต่ออีก 2-3 ชั่วโมง คุณวิทยายังเตรียมทำเวิร์กชอปอาหารไหหลำ 5 เมนูในเร็ววันนี้อีกด้วย

เมืองทับเที่ยง

หมี่เตี้ยว

เมืองทับเที่ยง

หมูห่อมันแห 

จานที่ 4 หมี่ฮกเกี้ยน โดยคุณไก่ สูตรนี้พิเศษผัดกับน้ำซุปหัวกุ้ง ตับหมู เนื้อหมู กุ้ง และไม่ใส่ซีอิ๊ว จานต่อมาวัดฝีมือเชฟ หม้อยฉวนเคาหยกหรือหม้อยฉวยโคหยก อาหารจีนแคะของคุณป้ารัตนาจากร้านขายยายิ้นจี้ถ่อง ที่ขั้นตอนซับซ้อน ต้ม ตาก ทอด ตุ๋น แล้วจบด้วยนึ่ง ทำได้ 2 แบบกับเผือกและผักกาดดองเค็ม สูตรคุณป้าใช้ผักกาดดองเค็ม จานต่อมา ไก่น้ำแดงมี่สั้ว ของชาติพันธุ์ฮกจิ่ว โดยน้องแจ๊ส เด็กรุ่นใหม่ที่นำเอาสูตรอาหารของอาม่ามาทำโดยใช้กากเหล้า มาถึงจานของเชฟอุ้ม ร้านโคอิตรัง แกงคั่วพริกกระดูกหมู ที่ใช้พริกไทยสดสีส้ม ให้รสเผ็ดร้อนแต่อร่อยเชียว ก่อนไปกินของหวานลองโรตีแกงของตระกูลปาทาน ส่วนของหวานเป็นหม้อหลาว ของจีนฮกเกี้ยนโดยป้าหลุยส์ ร้านเจี่ยหล่งติ่น เป็นขนมงาที่ต้องทำเฉพาะวันที่มีแดด ต้องตากแห้งหลายวันก่อนนำไปทอด

เมืองทับเที่ยง

หม้อหลาว 

คงต้องเรียกว่าทริปนี้เป็นทริปกินตัวแตก แต่กินอย่างมีความรู้ กินเพื่อเข้าใจ และกินเพื่อรักษาอดีตให้สืบต่อไป ใครจะเชื่อว่าอาหารก็เล่าเรื่องราวในอดีตได้ดีเช่นกัน


Tag: ท่องเที่ยว, เมืองทับเที่ยง, ตรัง

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed