“ชุมชนวัดจำปา” พิพิธภัณฑ์อายุ 500 ปีที่ยังมีลมหายใจ

วันที่ 28 กันยายน 2561  21,203 Views

มีเหตุผลข้อใดที่ทำให้คุณอยากตื่นขึ้นจากที่นอนในตอนเช้า อะไรทำให้คุณรู้สึกดีที่ได้เกิดมา และสิ่งไหนทำให้คุณรู้สึกมีคุณค่าตอนยังมีลมหายใจ.. ฉันอ่านเจอบทความหนึ่งของคุณพิชชารัศมิ์ในเว็ปไซด์ www.marumura.com เมื่อไม่นานมานี้ จึงเกิดคำถามและทบทวนกับตัวเองอยู่ครู่ใหญ่ว่าเหตุผลของการมีชีวิตอยู่ของแต่ละบุคคลล้วนแตกต่างแต่คงหนีห่างกันไม่มาก

ชุมชนวัดจำปา

หลายคนเพียงอยากทำงานที่ชอบ อยู่เคียงข้างคนที่รัก และตื่นมาดื่มกาแฟอุ่นๆ สักแก้ว หรือคุณค่าชีวิตของใครบางคนก็อาจไม่ได้มีไว้เพื่อตัวเอง.. ฉันพบสิ่งนี้จากพี่ทวีศักดิ์ หว่างจันทร์ ประธานชุมชนวัดจำปา หรือชุมชนเกาะศาลเจ้า ชุมชนเล็กๆ ย่านคลองบางระมาดในเขตตลิ่งชัน ที่พยายามบอกเล่ามรดกทางวัฒนธรรมที่ตนอาศัยอยู่ตั้งแต่เด็กซึ่งมีประวัติยาวนานกว่า 500 ปีให้เป็นประโยชน์แก่ทุกคน จนเกิดเป็น “ชุมชนท่องเที่ยว” ซึ่งเราสามารถเดินชมวิถีชีวิตริมคลองในซอยเล็กๆ ลัดเลาะเข้าออกบ้านไม้ของคนในชุมชนแต่ละหลังเพื่อเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่ยังมีชีวิตแห่งนี้ แล้วที่น่าภูมิใจอย่างยิ่งคือที่นี่ยังติด 1 ใน 10 ชุมชนน่าท่องเที่ยวของประเทศไทยอีกด้วย

ชุมชนวัดจำปา

กว่าหลาย 10 ปีที่ชุมชนวัดจำปาครองวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ซึ่งฉันอยากนิยามที่นี่ว่าเป็นถิ่น (คน) ศิลป์ริมคลอง เพราะในอดีตนอกจาก ชุมชนวัดจำปา หรือชุมชนเกาะศาลเจ้า เคยขุดพบกระเบื้องเคลือบสีเขียวที่กรมศิลปากรนำไปวิเคราะห์แล้วพบว่าตรงกับเนื้อหาในโคลงกลอน “กำสรวลสมุทร” ที่กล่าวถึงชุมชนบางระมาดซึ่งปรากฎชื่อมายาวนานกว่า 500 ปี เมื่อสืบประวัติลึกลงไปกว่านี้ยังทราบว่า

ชุมชนวัดจำปา

สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หลวงวัฒนศิลป์ (ต่วน ยุวพุกกะ) ช่างหลวงสังกัดกองช่างกระทรวงวัง ได้หนีระเบิดจากพระนครมาหลบอยู่ที่ชุมชนนี้ ระหว่างนั้นได้ถ่ายทอดวิชา “แทงหยวก” ตามแบบราชสำนัก ใช้ในงานมงคลต่างๆ อาทิ งานขึ้นบ้านใหม่ หรือประดับปะรำในงานโกนจุก ซึ่งสืบทอดกันมาจนถึงช่างคนปัจจุบัน (คือพี่ทวีศักดิ์) ถือได้ว่างานแทงหยวกของที่นี่ มีเทคนิคและชั้นเชิงงานช่างที่มีเอกลักษณ์น่าจับตามองมากอีกแห่งทีเดียว

ชุมชนวัดจำปา

นอกจากนี้สิ่งที่ทำให้ฉันประทับใจไม่น้อยไปกว่าเรื่องที่เล่ามาคืองานช่างศิลป์อีกแขนงเรียกว่า “แป้งพวง” ซึ่งหลายคนอาจคุ้นหูกับคำว่า “แป้งร่ำ” มากกว่า เพราะแป้งทาหน้าปรุงด้วยเครื่องหอมนี้ ไปปรากฎอยู่ในฉากหนึ่งของละครบุพเพสันนิวาศตอนแม่หญิงการะเกศใช้ทาบนใบหน้าเพิ่มความสวยหอมตามฉบับหญิงสาวในอดีตนั่นเอง

ชุมชนวัดจำปา

“บ้านเครื่องหอม” เป็นบ้านของพี่ภักดี หนึ่งในช่างศิลป์ประจำชุมชน เมื่อแรกก้าวเข้าบ้าน ฉันสัมผัสได้ถึงกลิ่นหอมอบอวลจากดอกไม้ไทย ที่พี่ภักดีนำมาสกัดเย็นเพื่อทำน้ำปรุง (น้ำหอม) น้ำอบ กระทั่งฉีดพรมบนแป้งร่ำ ก่อนนำมาร้อยเป็นแป้งพวงกลิ่นยวนใจ แป้งหินเมื่อนำมาผสมกับกำยาน น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลทรายขาว และสมุนไพร แล้วนำมาอบร่ำ (อบกลิ่นหอม) ด้วยควันเทียนซ้ำๆ จนได้กลิ่นที่พึงใจจะกลายเป็นแป้งร่ำ จากนั้นนำแป้งร่ำที่ยังไม่แห้ง มาบีบลงบนเส้นด้ายแล้วขึ้นรูปตามแบบที่ต้องการเราจึงเรียกว่า “แป้งพวง”

ชุมชนวัดจำปา

เมื่อสมัยก่อนแป้งพวงเป็นเพียงพวงมาลัยถวายพระบนหิ้ง พี่ภักดีเลยนำมาสร้างสรรค์ทำเป็นโครงไตร ครอบผ้าไตรจีวรในงานบวช หรือร้อยเป็นเครื่องแขวนใช้ในงานมงคล  ซึ่งพี่ภักดีบอกกับฉันว่าเสน่ห์ของแป้งพวงเป็นตัวแทนของดอกไม้สด มีความสวยงามที่ยาวนาน อีกทั้งเมื่อกลิ่นหอมหมดลง เพียงเติมน้ำปรุงสักหน่อยก็กลับมาชูใจเราผ่านกลิ่นหอมๆ ได้เหมือนเคย

ชุมชนวัดจำปา

ไม่ไกลกันจากบ้านพี่ภักดี ฉันเดินมาพบบ้านอีกหลัง ติดป้ายหน้าบ้านว่า “โฮมสเตย์บ้านสว่างจันทร์” ที่นี่สะกดฉันไว้ด้วยเพลงคันทรีซึ่งเปิดเสียงดังสนั่นทั่วบริเวณ ทำนองเพลงที่เข้ากับบรรยากาศบ้าน (ชะมัด) ตรึงเท้าทั้งสองข้างของฉันไม่ให้ก้าวไปไหน และเร่งให้สาวเท้าพ้นประตูเข้ามาดูสิ่งที่อยู่ภายในอย่างใจร้อน

การออกแบบบ้านสไตล์คันทรีเท่ๆ และการตกแต่งที่บ่งบอกถึงความเป็นศิลปินหนุ่มผมยาวฉบับพี่ฑูรย์ เจ้าของบ้าน ไม่ได้ทำให้ราคาโฮมสเตย์แห่งนี้สูงขึ้นตามเอกลักษณ์ที่ไม่มีใครเหมือน แต่กลับจับต้องได้ด้วยราคาคืนละ 1,500 บาท (พักได้ 3 คน รวมอาหารเช้า) เมื่อเราโทรมาจองล่วงหน้าพี่ไพฑูรย์จะเตรียมบ้านและเตรียมของเพื่อสอนทำ “พวงมโหตร” กระดาษว่าวหลากสีห้อยระย้าที่เราพบเห็นได้ตามงานบวชงานบุญในวัดชนบทซึ่งปัจจุบันหาดูได้ยากเต็มที เรียกว่าเป็นกิจกรรมที่สอดแทรกความตั้งใจดีๆ จากหนุ่มผมยาวในหมู่บ้านคนศิลป์ริมคลอง

ชุมชนวัดจำปา

ก่อนกลับฉันทราบมาจากพี่ทวีศักดิ์อีกว่า ถ้าหากเราเข้ามาเยี่ยมชุมชนโดยอยากเพิ่มรายได้ให้คนที่นี่นำเงินไปดูแล บำรุง รักษาชุนชนเก่าแก่ริมคลองให้น่าอยู่ต่อไป เราสามารถมากันเป็นหมู่คณะและให้พี่ทวีศักดิ์จัด 1 Day Trip ให้ได้ ซึ่งจะมีกิจกรรมหลากหลาย (เหมือนที่ฉันเล่า) ให้ทุกคนทำ แล้วเพิ่มเติมในส่วนสอนทำขนมไทยง่ายๆ สอนวิธีสานทางมะพร้าว ทางใบเตย หรือพาเยี่ยมชมสวนผลไม้ตามฤดู พร้อมเตรียมอาหารอร่อยๆ ไว้ให้เราด้วย

ชุมชนวัดจำปา

พี่ทวีศักดิ์จำกัดความการท่องเที่ยวของชุมชนวัดจำปาเอาไว้ให้อยู่ในรูปแบบ “วิถีถิ่น” ซึ่งแปลให้เข้าใจก็คือเป็นการท่องเที่ยวเพื่อมาพูดคุย เรียนรู้ แลกเปลี่ยนทัศนมากกว่าเอาเม็ดเงินเป็นตัวนำ เพราะฉะนั้นที่นี่จึงไม่มีอาหาร ไม่มีของขาย ไม่ได้เปิดทุกบ้านให้นักท่องเที่ยวเดินดูได้ตลอด แต่ถ้าติดต่อมาก่อน พี่ทวีศักดิ์จะบอกให้ทุกคนเตรียมตัวนะ (เพราะส่วนใหญ่ทำงานประจำ)

ชุมชนวัดจำปา

เมื่อเดินดูชุมชนเป็นที่เรียบร้อย ฉันอยากให้แวะที่ “วัดจำปา” สักหน่อย แวะไปดูวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยตอนต้นรัตนโกสินทร์ จุดเด่นของวัดจำปานอกจากการก่อสร้างที่เป็นศิลปะยุคก่อนอย่าง “ทรงวิลันดา” หรือการสร้างด้วยการก่อปูนขนาดไม่ใหญ่มาก มีเครื่องกระเบื้องที่ได้รับความนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 นำมาประดับตกแต่งตามหน้าบัน ซุ้มประตู และฝาผนังแล้ว พี่ทวีศักดิ์บอกฉันมาว่า อย่าลืมดูใบเสมาโบราณ เรื่อยมาจนถึงพระประธานเก่าแก่นามว่า “พระโชคดี”

ชุมชนวัดจำปา

ชุมชนวัดจำปา

บ่อน้ำมนต์ที่มีเจดีย์อยู่ในบ่อบรรจุอัฐิของหลวงปู่มหาโต๊ะชาวบ้านในละแวกนี้ก็เชื่อถือกันมาก รวมถึงเศียรพระพิราพโบราณขนาดใหญ่ ยิ่งถ้ามาในช่วงวันพระด้วยแล้ว หลวงพ่อที่วัดจะขึ้นไปเทศบนธรรมาสน์ที่ใช้สืบทอดกันมาหลายรุ่น เรียกว่าเป็นประเพณีดั้งเดิมซึ่งเรายังพบได้ที่กรุงเทพฯ ในวัดจำปาแห่งนี้

ชุมชนวัดจำปา

ทั้งหมดทั้งมวลแล้วความคึกคักหรือความหวือหวาฉันว่าไม่ควรมองหาในพิพิธภัณฑ์มีชีวิตอายุกว่า 500 ปี แต่สิ่งที่ชวนจดจำจะอยู่ในรูปแบบมิตรภาพและบรรยากาศร่มรื่นของคลองสวนทำให้จิตใจสงบนิ่ง และเหนือสิ่งอื่นใดคือการได้เรียนรู้ประวัติอันทรงคุณค่าของงานช่างศิลป์ที่ตอนนี้คงเหลือเป็นรุ่นสุดท้าย

ชุมชนวัดจำปา

ชุมชนวัดจำปา

ถ้าหากความหมายของการมีชีวิตของใครสักคน เพียงเพื่อต่อลมหายใจให้ใครๆ อีกหลายคน เท่านี้ก็อาจเพียงพอแล้ว กับการเดินทางออกจากบ้านของฉัน.. มาสู่ชุมชนวัดจำปาแห่งนี้

3 เรื่องน่ารู้ของชุมชนวัดจำปา

  • ที่มาของชื่อชุมชนเกาะศาลเจ้า ด้วยเพราะพื้นที่ของชุมชนถูกโอบล้อมด้วยคลอง 2 สายหลักคือคลองบางระมาดและคลองบ้านไทร มีคลองลัดวัดจำปาเชื่อมคลองทั้งสองสายเข้าด้วยกัน พื้นที่ตรงนี้จึงมีลักษณะเป็นเกาะ ประกอบกับเป็นท่าเรือเก่าที่เคยทำการค้ากับจีน จึงสันนิษฐานได้ว่าศาลเจ้าพ่อจุ้ย (สิ่งศักดิ์สิทธิ์เลื่องชื่อของชุมชน) ได้กำเนิดขึ้นในตอนนั้น เป็นที่มาของชื่อชุมชนในปัจจุบัน
  • การเดินทาง ขับรถมาทางพุทธมณฑลสาย 1 ซอย 22 จอดรถที่วัดจำปาได้เลย
  • การติดต่อขอเข้าชม เปิดทุกวันเสาร์และอาทิตย์ 10.00-16.00 น. พี่ทวีศักดิ์ โทร. 08-7036-6322 / โฮมสเตย์บ้านสว่างจันทร์ พี่ฑูรย์ โทร. 08-6838-0957


Tag: , ชุมชนวัดจำปา, พุทธมณฑล, โฮมสเตย์,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed