พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ Content Creator ที่อยากสื่อสารเรื่องการกินแบบไม่ทำร้ายโลกผ่านเพจ Pear is hungry

วันที่ 24 มีนาคม 2568  172 Views

TH
EN
CN

PEAR is hungry คือชื่อช่องทางโซเชียลมีเดียของคุณแพร-พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ พิธีกรและคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ย้อนไปหลายปีก่อนหน้านี้คุณแพรเริ่มทำเพจด้วยความใฝ่รู้เรื่องอาหารว่ามีที่มาอย่างไร จนถึงตอนนี้เธอใช้เสียงทั้งหมดที่มีสื่อสารเรื่องการกินแบบไม่ทำร้ายโลกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ Content Creator ที่อยากสื่อสารเรื่องการกินแบบไม่ทำร้ายโลกผ่านเพจ Pear is hungry

“ครอบครัวแพรเป็นคนจีน เวลาที่ได้กินข้าวพร้อมหน้ากันจะเป็นเวลาที่ได้พูดคุย พักจากทุกอย่างแล้วมาอยู่ด้วยกัน นั่นเพราะมีอาหารเป็นจุดเชื่อมโยงเราไว้ แพรเลยเลือกที่จะหยิบเรื่องนี้มาเป็นแกนหลักของการทำชาแนล ส่วนตัวแพรเองไม่ได้ชอบแค่รสชาติเท่านั้น แต่ชอบที่มาที่ไปของอาหารด้วย”

PEAR is hungry จึงเล่าเรื่องประวัติศาสตร์อาหารแบบสนุก ย่อยง่าย ลงพื้นที่ไปจนถึงแหล่งวัตถุดิบ บวกกับที่คุณแพรสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมอยู่แล้วเป็นทุนเดิม เราจึงได้เห็นคอนเทนต์ Leftover หรือเมนูแปลงร่าง นำเมนูค้างตู้เย็นหรือกินไม่หมดออกมาทำเป็นเมนูใหม่ นอกจากสร้างสรรค์แล้วยังไม่เพิ่มขยะ ตามมาด้วยการทำโปรเจ็กต์ #กินหมดจาน ที่เริ่มต้นจากการได้เห็นคลิปกองขยะภูเขาจาก คุณก้อง-ชณัฐ วุฒิวิกัยการ (Konggreengreen) ที่ทำให้เธอรู้สึกว่าต้องลุกมาทำอะไรสักอย่างแล้ว

“เรารู้อยู่แล้วว่าผลกระทบจากขยะอาหารรุนแรงมาก ปัจจุบันกรุงเทพฯ สร้างขยะประมาณ 8 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ครึ่งหนึ่งคือ 4 ล้านกิโลกรัมคือขยะอาหาร มันเยอะมาก ซึ่ง 4 ล้านกิโลกรัมนี้นำไปช่วยเหลือคนที่ยากไร้และเข้าไม่ถึงอาหารได้อีกมากมาย”

พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ Content Creator ที่อยากสื่อสารเรื่องการกินแบบไม่ทำร้ายโลกผ่านเพจ Pear is hungry

คุณแพรเริ่มต้นจากชวนทุกคนมาทำชาเลนจ์ #กินหมดจาน ในโซเชียลมีเดีย ให้เรารับผิดชอบอาหารแบบไม่เหลือทิ้งเพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ ซึ่งได้การตอบรับที่น่าพอใจ จึงเป็นที่มาของซีซั่น 2 ในปี 2024 ซึ่งจริงจังและหวังผลมากขึ้น

“ครั้งแรกเราเห็นว่ามันเกิดการรับรู้ที่ดี แต่ตอบใครไม่ได้ว่ามีคนเปลี่ยนพฤติกรรมหรือลดขยะได้มากน้อยแค่ไหน การทำซีซั่นที่ 2 เราจึงชวนร้านอาหาร 50 ร้านที่อร่อยและมีการจัดการดี แนะนำโดย 50 คนดัง โดยร้านที่เลือกมาต้องเข้าโครงการ Restaurant Makeover ซึ่งเราร่วมทำกับ สสส. กทม. และภาคีเครือข่าย โดยทางร้านจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรม มีการแยกขยะอาหารที่ถูกต้องก่อนนำส่ง กทม. หลังจากนั้นเราจึงเสนอร้านนี้ให้กับผู้บริโภค”

คุณแพรให้ข้อมูลว่าแค่ระยะเวลา 40-45 วันของโปรเจ็กต์นี้สามารถลดขยะอาหารนำส่ง กทม. ไปมากถึง 18,143.83 กิโลกรัม ส่วนคาร์บอนฟุตปรินต์อยู่ที่ 9,710 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 1,022 ต้น แม้ว่าซีซั่นนี้จะจบไปแล้ว แต่น่าชื่นใจที่มีอีกหลายร้านมุ่งมั่นทำเรื่องนี้ต่อไป ส่วนฝั่งผู้บริโภคเองคุณแพรคาดหวังว่าโปรเจ็กต์นี้จะทำให้คนหันมาตั้งคำถามว่า Food Waste คืออะไร การกินข้าวหมดจานง่ายๆ แบบไม่เหลือทิ้งดีกับตัวเอง ต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง 

พิมพ์ลดา ไชยปรีชาวิทย์ Content Creator ที่อยากสื่อสารเรื่องการกินแบบไม่ทำร้ายโลกผ่านเพจ Pear is hungry

แน่นอนว่า #กินหมดจาน จะเดินหน้าทวีความเข้มข้นไปอีกหลายซีซั่น ติดตามคอนเทนต์ที่อร่อย สนุก และได้ความรู้ของเธอได้จากทุกแพลตฟอร์มของ PEAR is hungry รวมถึงติดตามโปรเจ็กต์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนภายใต้ชื่อ AroundP


Tag: Content Creator, วันสตรีสากล, อินฟลูเอนเซอร์

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed