คุยเรื่อง Anti-Aging กับอาจารย์ศัลยา คงสมบูรณ์เวช นักกำหนดอาหารผู้บุกเบิกอาชีพนี้ในบ้านเรา

วันที่ 14 กันยายน 2561  5,712 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 218 เดือนกันยายน 2561

★ คนเราจะเริ่ม Aging เมื่ออายุเท่าใด? 
บางคนบอกว่าถ้านับตามอายุการทำงาน 60 ปี  บางคนบอกว่า 40 ปี เพราะร่างกายเราเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ในสายตาของนักกำหนดอาหารบางคนอายุ 30 กว่าก็เข้าสู่วัยเอจจิงแล้วเพราะเริ่มมีผมหงอก

★ แล้วนักกำหนดอาหารมีคำแนะนำอย่างไร? 
อาจารย์ศัลยา คงสมบูรณ์เวช นักกำนดอาหาร หรือ Dietitian ผู้บุกเบิกอาชีพนี้ในบ้านเราเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วและเป็นนักกำหนดอาหารขึ้นทะเบียนวิชาชีพ (อเมริกา) ผู้มีผลงานเขียนหนังสือสุขภาพหลายเล่ม เช่น อาหารต้านวัยต้านโรค กินอย่างไรไม่อ้วน บำบัดเบาหวานด้วยอาหาร และอาหารบำบัดโรค ซึ่งตีพิมพ์ติดต่อกันถึง 6 ครั้ง เป็นหนังสือขายดีที่มียอดจำหน่ายกว่า 10,000 เล่ม ปัจจุบันอาจารย์ทำงานที่ Vitallife Wellness Center โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ และเป็นที่ปรึกษาโภชนบำบัดที่โรงพยาบาลเทพธารินทร์

หลายคนอาจสงสัยว่านักโภชนาการและนักกำหนดอาหารนั้นแตกต่างกันอย่างไร อาจารย์ศัลยาอธิบายว่านักกำหนดอาหารต้องมีความรู้เรื่องโภชนาการและเรียนรู้เรื่องการรักษาผู้ป่วยด้วยอาหาร เช่น โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ โรคไทรอยด์ จะใช้อาหารรักษาอย่างไร เมื่อเรียนจบแล้วต้องฝึกงานในโรงพยาบาลเหมือนหมอ เภสัชกร ถ้าจะให้เข้าใจง่ายๆ อาจารย์เปรียบเหมือน “หมออาหาร” คือดูแลผู้ป่วยด้วยอาหารนั่นเอง

อาจารย์ศัลยา คงสมบูรณ์เวช

★ ในฐานะนักกำหนดอาหารอาจารย์มีหลักการในการแนะนำอาหารอย่างไร? 
อาจารย์ศัลยาเล่าว่า “เริ่มแรกต้องดูว่าผู้ป่วยเป็นโรคใดก่อน หรือมีอาการอย่างไร ส่วนใหญ่ผู้ที่มาพบจะต้องพบแพทย์เพื่อตรวจแอนติออกซิแดนต์ในร่างกายว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระเพียงพอไหม ซึ่งต้องตรวจจากผลเลือด โดยจะบอกว่ามีวิตามินเอ  วิตามินบี และค่าอื่นๆ เท่าใด มีอะไรมาก อะไรน้อย ที่ไม่สมดุลกัน และจะซักประวัติการกินก็จะได้ผลออกมาว่าเป็นอย่างไร เช่น ไม่กินผัก กินน้อยเกินไป ไม่กินผลไม้ นักกำหนดอาหารก็จะปรับการกินให้สมดุลโดยดูจากการตรวจนี้”

               

★ คนที่มาพบจำเป็นต้องป่วยไหม? 
อาจารย์บอกว่า “ไม่จำเป็น บางคนมาตรวจสุขภาพประจำปีแล้วอยากรักษาน้ำหนักตัว ลดอาหาร หรือพบว่าคอเลสเตอรอลสูง เราก็ต้องมาซักไซ้ไล่เลียงเรื่องการกิน เช่น กินปลาแล้วทำไมคอเลสเตอรอลยังสูงอยู่ก็ต้องถามว่ากินแบบใด ถ้ากินปลาทอดกรอบจะได้น้ำมันปลาน้อยลง เพราะน้ำมันปลาจะไปอยู่ในน้ำมันที่ทอด น้ำมันที่ทอดจะไปอยู่ในตัวปลา เป็นต้น ไม่ดีเท่ากับการนึ่งหรือย่าง”

การจัดความสมดุลเรื่องอาหารอาจารย์บอกว่าจะเริ่มต้นจากอาหารที่เขาชอบก่อนแล้วแนะนำว่าควรใส่อะไรเพิ่ม ควรเอาอะไรออก หรือกินมากเกินไป ปัจจุบันเน้นเรื่องการกินว่าควรกินมากน้อยเท่าใด คนไข้หรือคนที่มาปรึกษาผู้หญิงและผู้ชายมีจำนวนใกล้เคียงกัน ปัญหาของผู้หญิงที่มาปรึกษามากที่สุดคือน้ำหนักตัวเกิน  และที่กังวลมากคือทำไมผิวเริ่มเหี่ยวย่น เราก็ต้องแนะนำวิธีกิน สำรวจว่ากินอาหารครบไหม ปริมาณที่กินถูกต้องไหม มีอะไรเยอะไปหรือน้อยไป ควบคู่ไปกับค่าเลือดที่คุณหมอสั่งตรวจ

ส่วนผู้ชายปัญหาที่พบมากที่สุดคือเรื่องอ้วน ไขมันในเลือดสูง ความดันสูง เบาหวาน บางคนค่าเลือดเริ่มจะสูงนิดๆ แต่ไม่เข้าขั้นเบาหวาน แต่ก็ยังถือว่าเป็นความเสี่ยงก็ต้องแก้ไขให้น้ำตาลกลับสู่ปกติ นอกจากเรื่องการกินแล้วต้องดูเรื่องไลฟ์สไตล์ การนอนว่าพอเพียงไหม และการออกกำลังกาย

เมื่อถามถึงปริมาณการกินในแต่ละมื้ออาจารย์บอกว่าโดยทั่วไปจะขึ้นอยู่กับอายุและชนิดของงาน ถ้าเป็นงานนั่งโต๊ะไม่ควรกินมากแต่โปรตีนต้องพอ ยิ่งอายุ 50-60 ปีสังเกตดูกล้ามเนื้อจะน้อย ไขมันจะมาก แล้วกล้ามเนื้อจะหย่อนต้องกินโปรตีนมากเพื่อไม่ให้สูญเสียการทำงาน ขณะเดียวกันก็ต้องออกกำลังกายเพราะจะช่วยเรื่องกล้ามเนื้อ

               

★ ถ้าน้ำหนักตัวเกินทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา คำถามที่ฮอตฮิตที่สุดคืออาหารที่ลดน้ำหนักได้ดีที่สุดมีไหม? 
อาจารย์ศัลยาหัวเราะแล้วบอกว่าเป็นคำถามยอดฮิตตลอดกาล และตอบว่า “ไม่มีอะไรที่ดีที่สุดสำหรับการลดน้ำหนัก เนื่องจากแต่ละคนมีพฤติกรรมการกินต่างกัน คนที่ต้องการลดน้ำหนักควรพิจารณาว่าอาหารลดน้ำหนักชนิดไหนเหมาะกับสภาพร่างกายของตนเอง เพราะจะทำให้เราสามารถปฏิบัติได้ต่อเนื่อง”

อาจารย์แนะนำการเริ่มต้นที่ง่ายที่สุดคือปรับเปลี่ยนสิ่งที่เราเติมลงในจานอาหาร โดยใช้หลักที่เรียกว่า “จานอาหารสุขภาพ” (Plate Method) โดยใช้จานขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 9 นิ้ว หรือ 23 เซนติเมตร จากนั้นเริ่ม...

จานอาหารสุขภาพ

  • เติมผักหลากหลายชนิด 1/2 จาน
  • เติมข้าว แป้ง ธัญพืชไม่ขัดสี 1/4 จาน
  • เติมเนื้อสัตว์ไขมันต่ำหรืออาหารทดแทนเนื้อสัตว์ เช่น เต้าหู้ 1/4 จาน (ประมาณ 90 กรัม)
  • ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ นมถั่วเหลืองไม่เติมน้ำตาล 240 มิลลิลิตร อยู่นอกจาน
  • ผลไม้ 1 ส่วน อยู่นอกจาน
  • เลือกอาหารดัชนีน้ำตาลต่ำ โดยเฉพาะอาหารว่าง

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงต้องกลับไปดูอาหารในจานอาหารของตนเองอย่างจริงจัง และในสายตาของอาจารย์ศัลยานักกำหนดอาหารเน้นว่าถ้าเราปรับพฤติกรรมการกิน เรื่องอาหาร การใช้ชีวิต การออกกำลังกายให้สมดุล และตรวจเช็กสุขภาพก็จะช่วยเรื่อง Anti-Aging ได้แน่นอน


Tag: , อาหารกับผู้สูงอายุ, Aging Gracefully,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed