“กลิ่น” หนึ่งในผัสสะนอกเหนือจากรูป รส และเสียง ที่เมื่อได้รับแล้วมักจะติดอยู่ในความทรงจำ บางครั้งกลิ่นก็เหมือนเครื่องทบทวนความทรงจำให้กลับมา กลิ่นของ “วานิลลา” ก็เช่นกัน พืชชนิดนี้ทั้งน่าสนใจและสร้างมนต์เสน่ห์ให้ของหวานจนผู้คนหลงใหล


ทำความรู้จักกับวานิลลา
วานิลลา (Vanilla) พืชในวงศ์กล้วยไม้ (Orchidaceae) เป็นไม้เลื้อยเขตร้อน ถูกค้นพบครั้งแรกในประเทศเม็กซิโก ลักษณะลำต้นเล็กเลื้อยไปตามต้นไม้อื่นได้ยาวประมาณ 10 เมตร มีรากอากาศสำหรับดูดความชื้นในอากาศเก็บไว้ จึงไม่จำเป็นต้องพึ่งสารอาหารในดิน ทำให้ทนความแห้งแล้งได้ดี ใบเรียวยาว ดอกสีขาวผสมเหลืองอ่อนๆ หากฝักยังอ่อนจะเป็นสีเขียว แต่เมื่อแก่ขึ้นจะมีสีเหลืองไปจนถึงสีน้ำตาลในฝักที่สุกแล้ว ฝักวานิลลาหากนำไปตากแห้งจะสามารถสกัดกลิ่นได้เพราะมีสารที่เรียกว่าวานิลลิน (Vanillin) อยู่ภายใน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้วานิลลามีกลิ่นหอม

สายพันธุ์ของวานิลลาค่อนข้างหลากหลายกว่า 100 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่คนนิยมนำมาปลูกกันมากทั่วโลกมี 3 สายพันธุ์หลัก ได้แก่ Vanilla Planifolia, Vanilla Tahitensis และ Vanilla Pompona กลิ่นที่ได้ก็แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโตและเทคนิคการบ่มของแต่ละพื้นที่

ที่มาของกลิ่นหอม
กลิ่นวานิลลาไม่ได้มาจากดอก แต่มาจากสารวานิลลิน (Vanillin) ซึ่งอยู่ในเมล็ดวานิลลา การจะนำมาใช้ต้องขูดเมล็ดออกจากฝักที่ผ่านการบ่มมาก่อน เริ่มแรกให้นำฝักไปต้มประมาณ 2 นาที แล้วจึงตากแดด ทิ้งไว้จนกว่าฝักมีสีน้ำตาลเข้ม ระหว่างนั้นควรนวดฝักทุกวันเพื่อให้เมล็ดด้านในกระจายตัวและเป็นการเร่งให้ผลิตกลิ่นหอมออกมา หลังจากครบกำหนดเวลาจึงห่อผ้าแล้วเก็บใส่กล่องหรือลังไม้เพื่อป้องกันเชื้อรา ซึ่งอาจต้องใช้เวลาราวๆ 3-5 เดือนกว่าจะส่งขายหรือนำมาใช้งานได้ ฝักที่แห้งแล้วจะยาวไม่เท่ากัน ทำให้เกิดการแบ่งเกรดและตั้งราคาต่างกัน ฝักวานิลลาเกรด A ต้องยาวประมาณ 15-17 เซนติเมตร ขายได้ราคาฝักละ 100-500 บาทขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ส่วนเกรด B จะยาว 13-15 เซนติเมตร และเกรด C ยาว 11-13 เซนติเมตร ราคาลดหลั่นกันไป


ยุโรปรู้จักวานิลลามากขึ้นเพราะเด็กอายุ 12 ปี
ในอดีตวานิลลาถือเป็นพืชที่พบได้แค่ในเม็กซิโกเท่านั้น แม้จะเคยมีคนนำออกมาปลูกนอกประเทศแต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะนอกจากสภาพอากาศจะไม่เหมือนกันแล้ว เม็กซิโกยังมีแมลงสายพันธุ์ท้องถิ่นอย่างผึ้งเมลิโปนา (Melipona Bee) ซึ่งสามารถผสมเกสรดอกของต้นวานิลลาได้ ในขณะที่ประเทศอื่นไม่มีแมลงชนิดนี้
จนกระทั่ง ค.ศ. 1841 ขณะที่ Ferréol Bellier-Beaumont เจ้าของไร่บนเกาะบูร์บง (ปัจจุบันคือเกาะเรอูนียง : Réunion เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐฝรั่งเศส) กำลังเดินตรวจตราพืชพรรณต่างๆ อยู่กับ Edmond Albius เด็กชายอายุ 12 ปีซึ่งเป็นทาสที่ถูกซื้อมาใช้งาน เขาสังเกตว่าต้นวานิลลาออกผลอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนหลังจากลองทุกวิธีแต่ไม่ได้ผล เด็กชายบอกกับนายว่าเขาคือคนผสมเกสรด้วยตัวเอง แต่ Ferréol ไม่เชื่อ เด็กคนนี้จึงทำให้ดูโดยใช้นิ้วเปิดปากดอกแล้วนำไม้เล็กๆ มาสะกิดเกสรตัวผู้ออกมา จากนั้นลอกเยื่อที่มีเกสรตัวเมียอยู่ด้านในก่อนจึงนำเกสรตัวผู้ใส่เข้าไป ถือเป็นครั้งแรกที่วานิลลาสามารถเจริญเติบโตจนออกฝักได้นอกประเทศเม็กซิโก
ไม่กี่ปีต่อมาชาวเกาะบูร์บงก็ปลูกและส่งออกผลผลิตจากวานิลลาได้จำนวนมากต่อปี มากจนสามารถนำหน้าเม็กซิโก ประเทศต้นกำเนิดวานิลลา และมีคู่แข่งการค้าเกิดขึ้น อาทิ มาดากัสการ์ อินโดนีเซีย ฯลฯ

ท้ายที่สุดพืชชนิดนี้ก็ทำให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ กลายเป็นของมูลค่าสูง และเป็นที่ต้องการของตลาดโลก
แหล่งข้อมูล
กรมส่งเสริมการเกษตร .(ม.ป.ป.). วานิลลา. ค้นคว้าจาก agriman.doae.go.th
Britannica. (n.d.). vanilla. Retrieved from britannica.com
Ortiz, A., D. (2024). How a 12-year-old boy made vanilla a global spice. Retrieved from bbc.com
Tag:
วานิลลา
ความคิดเห็น