สิ่งที่ทำให้แก้มแดงมักจะตกหลุมรักหนังญี่ปุ่นอยู่ซ้ำๆ เลยก็คือ ภาพของอาหารที่ไม่ได้มีดีแค่หน้าตาสวย ดูน่าอร่อยเท่านั้น หากแต่ภายในนั้นได้บรรจุเรื่องราวที่น่าประทับใจเอาไว้
เช่นเดียวกับ What’s for Dinner, Mom? หรือ Mama, Gohan Mada? (2016) ที่นำเมนูอาหารมาเล่าประสบการณ์การต่อสู้ดิ้นรนของคนเป็น “ภรรยา” และ “แม่” ได้น่าสนใจ เมื่อ “การทำอาหาร” ไม่ได้เป็นแค่บทบาทหน้าที่ของผู้หญิงคนหนึ่ง แต่ยังเป็นวิธีการส่งต่อความรักได้อย่างแยบคาย
ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างจากเค้าโครงเรื่องจริงจากปลายปากกาของนักเขียนชื่อดัง ทาเอะ ฮิโตโตะ ที่บอกเล่าชีวิตของแม่ ตัวเธอเอง และน้องสาว โย ฮิโตโตะ ศิลปินมากฝีมือ (โยยังได้มีส่วนร่วมด้วยการเป็นผู้แต่งและร้องเพลง Sorane ซาวนด์แทร็กประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย ก่อนหน้านี้เธอเคยฝากผลงานในเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Hanamizuki (2010) และ Hana’s Miso Soup (2015) มาแล้ว) ที่ต้องเติบโตขึ้นมาในห้วงเวลาของสองวัฒนธรรมระหว่างญี่ปุ่น-ไต้หวัน
ตัวหนังเองเลือกเปิดตัวด้วยช่วงเวลาหลังจากที่คุณแม่ได้จากไปด้วยโรคมะเร็งไปแล้วกว่า 20 ปี สองสาวจึงได้มีโอกาสกลับมาที่บ้านเก่าอีกครั้งก่อนที่บ้านหลังนี้จะถูกรื้อถอน ที่นี่เองเธอก็ได้พบกับกล่องเก่าๆ ใบหนึ่งและสมุดจดที่เต็มไปด้วยสูตรอาหารมากมาย ราวกับเป็นตัวแทนในการบอกเล่าเรื่องราวของคุณแม่ตั้งแต่วัยสาว เรื่อยไปจนถึงความรักของสาวชาวญี่ปุ่นกับหนุ่มชาวไต้หวัน ต่อด้วยชีวิตที่ต้องกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวเลี้ยงดูลูกทั้งสองอย่างสุดกำลัง จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิตที่ต้องต่อสู้กับโรคร้าย ซึ่งนั่นก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทาเอะตัดสินใจออกเดินทางตามหาช่วงเวลาที่หายไปของคุณแม่ และความทรงจำสุดพิเศษในฐานะลูกสาวคนโตที่เธอเองก็อาจจะลืมเลือนไปแล้ว
ความสวยงามของหนังเรื่องนี้เลยอยู่ที่การบอกเล่าเรื่องราวผ่านเมนูอาหาร และคำถามยอดฮิตของลูกๆ ทุกคนที่มักเอ่ยถามคุณแม่ว่า “เย็นนี้มีอะไรกินบ้าง?” แต่สิ่งที่พิเศษ (และแปลก) ยิ่งกว่าคือ หนังเรื่องนี้กลับสอดแทรกภาพของอาหารญี่ปุ่นอยู่น้อยมาก (เรียกว่าไม่มียังได้) เพราะกลิ่นอายที่แท้จริงของหนังจึงอยู่ที่การทำอาหารแบบชาวไต้หวันที่แสดงออกว่ามีความแตกต่างจากชาวญี่ปุ่นอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นกระทะใบใหญ่ใช้ไฟแรง หรือจะเป็นลังถึงใบโตที่เต็มไปด้วยบ๊ะจ่าง (ไม่ใช่ข้าวปั้น) ร่วมด้วยส่วนผสมพิเศษอย่าง “คากิ” เท้าหมูที่คนญี่ปุ่นไม่นิยม แต่กลับเสมือนกุญแจแห่งความอร่อยของเรื่อง
เอาเป็นว่าแก้มแดงขอรับประกันความ “น้ำลายหก” ตั้งแต่ช็อตแรกไปจนถึงช็อตสุดท้าย แต่ส่วนที่เหลืออาจเจือปนด้วยหยาดน้ำตาอยู่หน่อยๆ เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่าในสมัยก่อนอาหารก็ไม่ต่างจากชีวิตและจิตใจของผู้หญิงคนหนึ่ง อาหารทำให้เธอสามารถปรับตัวได้ในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย อาหารทำให้เธอได้ส่งมอบความรักให้ลูกและทำหน้าที่แม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ และดีไม่ดีอาจจะเป็นมรดกชิ้นเดียวและสุดท้ายที่อาจมอบให้ลูกๆ ของเธอก็เป็นได้
แม้ไม่อยากจะให้เศร้า แต่ก็อยากจะบอกว่า “เย็นนี้อย่าลืมกลับไปกินข้าวที่บ้านนะคะ”
ภาพประกอบจาก http://asianwiki.com
Tag:
, Food on Film, รีวิวหนัง, อาหารญี่ปุ่น,
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น