ไทยวนในความทรงจำ ณ หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี

วันที่ 11 กันยายน 2561  13,886 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 218 เดือนกันยายน 2561

เมื่อพูดถึงจังหวัดสระบุรีหลายคนคงมองแค่เป็นจังหวัดทางผ่านเพื่อมุ่งตรงไปยังโคราช หรือไม่ก็นึกถึงน้ำตกเสียส่วนใหญ่ แต่ความจริงแล้วที่นี่ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเล็กๆ ที่น่าสัมผัสอย่าง “หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี”

★ ไท-ยวน สะกดด้วย ย ยักษ์ 
ครั้งแรกเมื่อได้ยินคำว่า “ไทยวน” ก็พาให้คิดถึงชาวเวียดนามที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย แต่แล้ว “พี่ต่อ” กิตติมา ดิษฐคลึ ลูกสาวของอาจารย์ทรงชัย วรรณกุล ผู้สร้างหอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี ที่เข้ามารับช่วงต่อหลังจากการจากไปของคุณพ่อก็ได้เฉลยข้อข้องใจให้กับเราฟังว่า คำว่า “ยวน” ที่สะกดด้วยอักษร ย ยักษ์ (ไม่ใช่ ญ ) จะเพี้ยนมาจากคำว่า “โยนก” ซึ่งใช้เรียกผู้คนในอาณาจักรโยนกเชียงแสนหรือเมืองเชียงแสนที่เราได้ยินกันในตำราประวัติศาสตร์สมัยมัธยมต้นนั่นเอง

ผ้าทอไทยวน

ผ้าทอไทยวน

แรกเริ่มเดิมทีเมืองเชียงแสนนับเป็นหนึ่งในรัฐอิสระที่อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านนา ก่อนที่อาณาจักรแห่งนี้จะถูกควบรวมเป็นส่วนหนึ่งของพม่าในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง จนกระทั่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงมีพระราชบัญชาให้ยึดอาณาจักรล้านนาคืนจากพม่า และนั่นก็ทำให้เกิดการกวาดต้อนไพร่พลครั้งสำคัญ ชาวเมืองเชียงแสนได้กระจายไปตั้งถิ่นฐานยังส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเวียงจันทน์ เชียงใหม่ ลำปาง น่าน และส่วนที่เหลือพระองค์ทรงโปรดให้ลงมายังเมืองหลวง ซึ่งก็คือจังหวัดสระบุรี บริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสักในปัจจุบัน

ผ้าทอไทยวน

ผ้าทอไทยวน

ด้วยเหตุนี้จึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมอาจารย์ทรงชัย วรรณกุล จึงได้เลือกทำเลริมแม่น้ำป่าสักให้เป็นที่ตั้งของบ้านเรือนไทยหลังใหญ่ที่ใช้เป็นสถานที่สืบทอดเรื่องราวของชาวไทยวน พี่ต่อเล่าว่าพื้นที่แห่งนี้จะประกอบไปด้วยเรือนไทยอยู่ 3 หลังด้วยกัน เรือนไทยหลังใหญ่ตรงกลางเป็นเรือนของชาวไทยวนสระบุรีแท้ๆ ขณะที่อีกสองฝั่งจะเป็นบ้านเรือนไทยจากอยุธยาและสุพรรณบุรี ก่อนจะเล่าให้ฟังว่าความจริงแล้วเรือนไทยของทางภาคกลางและของชาวไทยวนไม่ได้มีข้อแตกต่างกันมาก หากแต่จะมีลักษณะเฉพาะตัวที่เรียกกันว่า “เรือนกาแล” หรือเรือนที่มีไม้ไขว้อยู่บนหลังคาเหนือจั่ว ขณะที่ตัวเรือนส่วนบนจะผายออกที่มาพร้อมชื่อเรียกที่สุดแสนเซ็กซี่ขยี้ใจว่า “เรือนอกโตเอวคอด”

ผ้าทอไทยวน

ภายในเรือนอกโตเอวคอดที่ว่านี้นี่เองที่เป็นส่วนจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ซึ่งชาวไทยวนใช้ในชีวิตประจำวันไปจนถึงผ้าทอลวดลายโบราณ และหากมองออกไปนอกเรือนบริเวณริมน้ำเราก็จะพบกับเรือชนิดต่างๆ ที่เคยล่องในแม่น้ำป่าสักแห่งนี้มากกว่า 20 ลำเลยทีเดียว แต่น่าเสียดายที่เรามาหลังน้ำหลากเพียงวันเดียว ทำให้เรือหลายลำจมลงใต้น้ำ

ผ้าทอไทยวน

★ ผ้าทอไทยวน 
“การทอผ้า” นับเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่สำคัญของชาวไทยวน เพราะการทอผ้าเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของผู้หญิง ระหว่างที่เรากำลังดูผ้าในห้องที่แสดงลวดลายของผ้าหลากสี พลางคิดว่าจะซื้อผ้าและกระเป๋าชิ้นไหนกลับบ้านดี พี่ต่อก็เล่าเพิ่มเติมว่าผู้หญิงชาวไทยวนมีหน้าที่หลักในการทอผ้าไว้ใช้เองในครอบครัว ร่วมด้วยผ้าอีก 4 ผืนที่ผู้หญิงชาวไทยวนทุกคนจะต้องทอขึ้นเองเพื่อ 4 พิธีกรรมที่จะต้องประสบพบเจอในชีวิต

ผ้าทอไทยวน

ผ้าทอไทยวน

ผืนแรกคือผ้าที่ผู้หญิงทุกคนจะทอไว้ใช้ในงานแต่งงานของตัวเอง เพื่อเป็นผ้าไหว้แสดงความเคารพและขอขมาพ่อแม่สามีและญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชายในพิธีแต่ง ผืนที่สองผู้หญิงก็จะทอเอาไว้เพื่อเป็นของกำนัลให้กับคนทำคลอดหรือหมอตำแยเพื่อแสดงความขอบคุณ ส่วนผืนที่สามจะเป็นผ้าที่แม่จะทอเอาไว้ให้ลูกชายของตนเมื่อบวช แต่เดิมจะใช้เป็นผ้าฝ้ายย้อมด้วยครามให้นาคนุ่ง ร่วมด้วยการทอสบง ผ้าจีวร และย่าม ไว้ให้ลูกชายของตนใช้สอยเวลาบวช และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ “ผ้าปรกนาค” เป็นผ้าจก (ผ้าที่ทอลวดลายด้วยวีธีจกหรือที่รู้จักกันว่าผ้าซิ่นตีนจก) ผืนยาวใช้คลุมหัวนาค

ผ้าทอไทยวน

และผ้าผืนสุดท้ายก็คือผ้าที่ใช้ในพิธีศพ ซึ่งจะเป็นผ้าที่ทอไว้สำหรับห่อศพ ใส่ศพ และใช้เป็นสายจูงโลงศพของพระสงฆ์นำหน้าขบวนแห่ อีกทั้งกลุ่มคนที่ร่วมงานศพก็จะให้เกียรติเจ้าภาพด้วยการใส่เสื้อสีดำทั้งชุดที่ทอกันเอง และทั้งหมดนี้ก็ล้วนเป็นเครื่องแสดงว่าชาวไทยวนมีความผูกพันธ์กับผ้าทอมากเพียงไร

ผ้าทอไทยวน

★ อาหารไทยวนสุดอร่อย 
หลังจากเดินชมรอบๆ บ้านเราก็ได้ที่นั่งเหมาะตรงใกล้ๆ ท่าน้ำซึ่งมาพร้อมสายลมเอื่อยๆ พอมองไปที่โต๊ะเราก็ได้พบสำรับอาหารในรูปแบบของขันโตก เนื่องจากชาวไทยวนก็มีบรรพบุรุษเดียวกันกับผู้คนที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือของไทย ทำให้หน้าตาของอาหารไม่ต่างจากอาหารเหนือที่เรารู้จักกัน ไม่ว่าจะเป็น ข้าวเหนียว แกงโฮะ ลาบ ไส้อั่ว ไปจนถึงแคบหมู

ผ้าทอไทยวน

แต่ทีเด็ดความอร่อยในครั้งนี้เราขอยกให้กับ “ผัดหมี่ไทยวน” เส้นหมี่ผัดสีเหลืองอ่อนให้อารมณ์เหมือนหมี่กะทิหรือหมี่สีชมพูที่คุ้นกัน หากจะต่างกันเพียงแค่สี จากเครื่องเคราต่างๆ ที่คล้ายกันอยู่มากไม่ว่าจะเป็นต้นหอม ถั่วงอก และไข่เจียวหั่นฝอย แต่รสชาติของหมี่ไทยวนจะเน้นรสชาติจัดจ้านและสดชื่นมากกว่า ด้วยส่วนผสมของหอมแดงและพริกแห้ง ทำให้ได้รสเผ็ดปลายลิ้นมากกว่าจะหวานอมเปรี้ยวอย่างหมี่กะทิ

ผ้าทอไทยวน

อีกเมนูที่เราหลงรักเป็นต้มยำไก่ไทยวน ที่เราขอรับประกันความอร่อยถึงใจ ซึ่งต้มยำไก่สูตรบ้านพี่ต่อตรงหน้าก็ใช้เครื่องต้มยำตามปกติ อย่างข่า ตะไคร้ และใบมะกรูด แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาก็คือพริกไทยดำป่นที่ถมลงในน้ำแกงจนได้น้ำแกงสีออกดำ แถมยังเพิ่มความหอมหวนชวนกินด้วยใบกะเพราอีกชุดใหญ่ ยิ่งได้ซดก็ยิ่งสดชื่น หอมละมุนอบอวลอยู่ในปาก

ผ้าทอไทยวน

สำหรับใครที่อยากลองเมนูตำรับไทยวนแบบนี้ พี่ต่อบอกว่าสามารถมาชิมได้ที่นี่ในวันอาทิตย์ซึ่งจะมีการต้อนรับกันอย่างเต็มรูปแบบมากกว่าวันธรรมดา หรือถ้าอยากเดินเล่นชมตลาดแวะกินของถูกใจก็อย่าลืมแวะ “ตลาดน้ำโบราณบ้านต้นตาล” ที่จะมีแค่เฉพาะวันอาทิตย์

★ ปิดท้ายที่ตลาดโบราณเสาไห้ 
หากใครพลาดกับตลาดต้นตาลเพราะหลงเข้ามาในวันธรรมดาอย่างเรา ก็ลองแวะกันที่ “ตลาดโบราณเสาไห้” ที่ห่างจากหอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวนสระบุรีไม่ถึง 10 นาที ซึ่งที่นี่จะทำหน้าที่พาเราย้อนกลับไปพบเจอกับบรรยากาศเก่าๆ ของบ้านไม้ ข้าวของเครื่องใช้ ไปจนถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ร่วมด้วยของกินเล่นชื่อดังอย่าง “เกี๊ยวกรอบ 100 ปี” ที่ไม่ได้ลองถือว่ายังมาไม่ถึง

ผ้าทอไทยวน

ผ้าทอไทยวน

จุดมุ่งหมายก่อนกลับของเราเลยอยู่ที่ร้าน ส. พาณิชย์ เพื่อแวะชิมเกี๊ยวกรอบอันเลื่องชื่อ ความดีงามของเกี๊ยวร้อยปีอยู่ที่แผ่นแป้งบางกรอบจนเห็นไส้หมูนุ่มเด้งที่อยู่เนื้อใน อีกทั้งมีน้ำตาลเคลือบบางๆ คล้ายกับโรตีก็ช่วยชูรสได้เป็นอย่างดี ยิ่งพอกัดลงไปก็สัมผัสได้ถึงความกรุบกรอบอันน่าแปลกใจ ก่อนจะจิ้มลงในน้ำจิ้มถั่วรสหวานก็อร่อยอย่าบอกใคร แนะนำว่าให้สั่งแบบจานใหญ่กันไปเลย เริ่มต้นที่ 50 บาท เท่านั้น

ผ้าทอไทยวน

เพื่อความอร่อยสูงสุดอย่าลืมสั่งข้าวกะเพราเป็ดมากินคู่กันด้วยล่ะ เพราะแซ่บถูกใจจริงๆ

ผ้าทอไทยวน

หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี : 48 หมู่ 6 ตำบลดาวเรือง อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี 18000
เปิดทุกวัน 09.00-16.00 น. ค่าเข้าชม (บำรุงสถานที่) 20 บาท
โทร. 08-9900-6248  


Tag: , travel, สระบุรี,

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed