“ความคิดที่อยากทำกาแฟอร่อยๆ ที่ไม่ใส่นมให้แม่และชาวอุดรกิน” เป็นแพสชันเล็กๆ ของเด็กอุดรคนหนึ่งที่อยากเปิดร้านกาแฟสเปเชียลตีที่รสชาติดีที่สุดให้แม่ของเธอและคนอุดรดื่ม มันคือสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เหมือนใครในยุคที่คนยังนิยมดื่มกาแฟใส่นม ความกล้าคิดกล้าทำในวันนั้นได้สร้างแรงกระเพื่อมกลายเป็นร้านกาแฟที่ร้อนแรงที่สุด ที่สำคัญมันเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนอุดรไปเลย
คุณนิ่ม-เนาวรัตน์ คู่วัจนกุล เล่าย้อนหลังก่อนจะมาเป็น Dose Factory ให้ฟังว่า “ย้อนหลังไป 15 ปี เรามีความคิดอยากเปลี่ยนตัวเองในเรื่องภาษาอังกฤษ จึงตัดสินใจไปทำงานในร้านอาหารที่ออสเตรเลีย โดยเลือกร้านที่เจ้าของเป็นชาวต่างชาติ เริ่มจากงานล้างจานและงานในครัวทั่วไป ตอนนั้นเห็นบาริสตาแล้วคิดว่าเขาเท่มาก อยากทำบ้าง เราก็เปลี่ยนงานมาทำร้านกาแฟ ค่อยๆ ฝึกฝนจนได้เลื่อนขึ้นเป็น Head Barista ประสบการณ์ที่ดีที่สุดคือการได้ร่วมงานกับ Sam Gabriel เจ้าของ Dose Espresso Sydney และโรงคั่ว Gabriel Coffee Roaster ซึ่งโด่งดังในวงการกาแฟที่นั่น แซมสอนทุกอย่างทั้งทำอาหารและชงกาแฟ กระทั่งชีวิตเดินมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อวีซ่าหมดและต้องเลือกระหว่าง อยู่ต่อ หรือ กลับบ้าน เราเลือกกลับบ้าน เพราะอยากทำกาแฟไม่ใส่นมที่อร่อยให้แม่และคนอุดรกิน พอแซมรู้เขาบอกว่าถ้าไม่คิดอะไรมากก็เอาชื่อ Dose Espresso ไปใช้ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อร้านนี้”
ลงมือทำทันที คือหลักคิดเรียบง่ายที่ใช้แรงผลักในใจมากกว่าการรอความพร้อม “อาจเป็นเพราะเราไม่มีความรู้ในการบริหารธุรกิจ เลยไม่ได้ใช้เวลาไปกับการวางแผนมาก และไม่ได้รอให้พร้อมเพราะไม่รู้ว่าจะพร้อมจริงๆ เมื่อไหร่ เราอาจไม่รู้ทุกเรื่อง แต่ต้องหมั่นหาความรู้เสมอ ตอนนั้นมีเพียงตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะนำประสบการณ์มาทำอะไรได้บ้าง แล้วก็ลงมือทำ เราลุยงานกับช่างทั้งการออกแบบและตกแต่ง สิ่งของเครื่องใช้หลายอย่างนำมาจากออสเตรเลียเพราะอยากให้ได้บรรยากาศแบบเดียวกัน ซึ่งใช้เวลากว่า 6 เดือนถึงจะเปิดตัว”
Dose Espresso เปรียบดังคลื่นลูกแรกที่สร้างแรงกระเพื่อมและสีสันให้คาเฟ่แนวสเปเชียลตี (Specialty) ในจังหวัดอุดรธานี ความแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำ ถือเป็นการมาถูกที่ถูกเวลาอย่างแท้จริง “Dose Espresso เปิดเมื่อ 10 ปีก่อน เป็นจังหวะเวลาที่ดีเสมือนจุดพลุในยุคที่คนรู้จักกาแฟสเปเชียลตีน้อยมาก ทั้งสร้างสีสันและเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับชาวอุดรฯ เรามีทั้งสโลว์บาร์ สปีดบาร์ มีเมล็ดกาแฟและอุปกรณ์ต่างๆ ในการชง ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เปิดได้ 8 เดือนก็เริ่มรู้สึกว่าดูแลลูกค้าได้ไม่ดีพอ จึงมองหาโลเคชันใหม่ที่รองรับลูกค้าได้มากกว่า กระทั่งไปพบโรงงานร้างกลางใจเมือง เรามองตรงนี้เป็นมากกว่าร้านกาแฟแต่เป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจและพลังบวกเหมือนที่เราเคยได้รับมาก่อน และนี่คือที่มาของ Dose Factory”
ถ้าจะให้นิยามตัวเองต้องบอกว่าเป็นนักแก้ปัญหา “ตลอดเวลาที่ผ่านมาเรานิยามตัวเองว่าเป็นนักแก้ปัญหา ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันเปิดร้าน มีหลายสิ่งที่ไม่รู้ แต่เราไม่ได้ติดกับดักตรงนี้ ปัญหาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาโดยเฉพาะปัญหาเรื่องบุคลากร ‘การลาออก’ เกิดขึ้นได้ทุกร้าน เราต้องกลับมาพิจารณาว่าปัญหานั้นเกิดจากคนหรือระบบ หรือเกิดจากตัวเจ้าของเอง ถ้าเราอยากพัฒนาคน เราก็ต้องกลับมาพัฒนาที่ตัวเองก่อน หรือตัวอย่างเช่น นิ่มถนัดโปรดักชันแต่มีปัญหาขาดการสื่อสารหรือมาร์เกตติง เราก็หาคนมาเสริมสิ่งนี้เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้มากขึ้น”
ส่วนกลยุทธ์ของธุรกิจคือการโฟกัสตัวตน “ตอบตัวเองว่าทำสิ่งนี้ทำไม เพื่ออะไร เมื่อตกผลึกแล้วต้องถ่ายทอดให้กับทีมเพื่อให้ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน และยังสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ ซึ่งตัวตนของเราคือการหลอมรวม ‘ความเป็นอินเตอร์’ เข้ากับ ‘ความเป็นอีสาน’ ที่ไม่เชย ไม่ล้าสมัย แต่คือ ‘ความคลาสสิก’ ที่เปี่ยมด้วยคุณค่า เป็นเมสเซจที่ต้องรักษาและทำต่อเนื่องในแบบที่เรียกว่า Isan Aussie โดยมี 3 Better เป็นหัวใจขับเคลื่อน ได้แก่ Better Taste คิดค้นและพัฒนารสชาติอาหารและเครื่องดื่มให้ดีขึ้นทุกวัน Better Place พื้นที่สร้างแรงบันดาลใจและพลังบวก Better People สื่อสารแบบองค์รวม ทั้งพนักงาน คู่ค้า และลูกค้า”
สำหรับคุณนิ่มแล้วความฝันคือสารตั้งต้นสู่ความสำเร็จ และเธอได้ทิ้งท้ายด้วยคำแนะนำว่า “หากมีฝันต้องลงมือทำทันที เมื่อสำเร็จแล้วต้องต่อยอด และต้องกล้าที่จะเริ่มต้นใหม่อีกครั้งและอีกครั้ง อย่าหยุดกับความสำเร็จเดิมๆ เพราะการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จะทำให้เราไม่หยุดพัฒนาตนเอง”
สูตรสำเร็จในการทำธุรกิจของแต่ละคนอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยที่แตกต่างกัน แต่ความคิดในบางมุมของผู้ที่ทำสำเร็จแล้วย่อมสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นได้เสมอ นี่แหละ Dose Factory
Tag:
Food in Biz, คาเฟ่, อุดรธานี
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น