ผ่านการแข่งขันอันแสนดุเดือดกันมาแล้วใน Gourmet & Cuisine Young Chef 2024 ฉบับนี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศเป็นการพูดคุยสบายๆ กับน้องๆ ทั้ง 3 ทีม ผู้สามารถฝ่าด่านสุดท้าทายจากคณะกรรมการภายใต้เวลาอันจำกัดได้สำเร็จ มาดูกันว่าแต่ละทีมต้องผ่านอะไรมาบ้างจึงสามารถกลายเป็นตัวท็อปประจำรายการปีนี้
ทำทุกอย่างเหมือนที่ซ้อม จัดการครัวอย่างมีระบบ คือเคล็ดลับคว้าชัยชนะอันดับ 1 ของทีม Witty
ดรีม-ชนม์นิภา ภูลายดอก และมีมี่-ศิริโสภา บัณฑิตสกุลพร 2 นักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผู้ชนะการแข่งขันรายการ Gourmet & Cuisine Young Chef 2024 ด้วยเมนูจากน้ำมันตราองุ่นและแซลมอนจากธรรมชาติซีฟู้ด ไม่ว่าจะเป็น Arctic Salmon Confit, Deep Fried Salmon Onigiri, Japanese Cucumber Marinade และ Mayo Lemon Strawberry Cake and Mayo Custard ทั้งคู่กล่าวถึงความรู้สึกหลังทราบผลการแข่งขันว่าตอนที่ได้ยินเสียงประกาศผลรางวัลอันดับอื่นกันแล้วแต่ชื่อทีมยังไม่ถูกประกาศ ในใจเริ่มไม่คิดว่าจะเป็นทีมตนเองที่ชนะเลิศ เพราะในช่วงแข่งขันเห็นว่าทีมอื่นก็เก่งและมีศักยภาพมาก แต่เมื่อได้ยินว่าเป็นทีม Witty เองที่ได้รางวัลชนะเลิศนั้นทั้งคู่ตกใจมาก แต่ขณะเดียวกันก็ดีใจเป็นที่สุด เหมือนยกภูเขาออกจากอกอย่างไรอย่างนั้น
แต่กว่าที่น้องดรีมและน้องมีมี่จะคว้ารางวัลชนะเลิศมาครอง ทั้งคู่ต้องฟันฝ่าความยากลำบากตั้งแต่เริ่มต้น ทุ่มเทเวลาทั้งวันธรรมดาและวันหยุดไปกับการฝึกซ้อม ใช้ชีวิตอยู่ในครัวทั้งวันเพื่อทำตามแผนงานที่วางกันไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะนำวัตถุดิบมาทำเมนูอะไรให้ตรงตามโจทย์ Battle of Oil โดยเลือกจากอะไรที่คุ้นชินอย่างอาหารญี่ปุ่นแล้วจึงค่อยปรับเรื่อยๆ จนหลังเข้ามาสเตอร์คลาสที่ Lenôtre Culinary Arts School Thailand จึงประยุกต์สิ่งที่เรียนรู้มาเพิ่ม ปรับให้เข้าที่เข้าทาง อาจใช้เวลาคิดและทดลองทำหลายครั้งแต่ก็เป็นเรื่องจำเป็น เพราะเชื่อว่า “การเลือกเมนูได้ดีจะช่วยให้มีชัยไปกว่าครึ่ง”
เมื่อถึงคราวลงสนามทั้งคู่ตั้งมั่นไว้ว่าจะต้องทำเหมือนตอนซ้อมจับเวลามา แต่ด้วยความไม่คุ้นสถานที่และอุปกรณ์ในพื้นที่จริง จึงต้องใช้ไหวพริบในการแก้ปัญหาบ้าง แข่งกับเวลาที่กำหนดคือ 2 ชั่วโมง สุดท้ายน้องๆ บอกว่าพอใจในผลลัพธ์ที่ออกมาระดับ 90% เพราะหน้าตาอาหารออกมาตามตั้งใจ และสามารถจัดการครัวได้สะอาดเรียบร้อย ซึ่งจุดนี้ห้ามมองข้ามเด็ดขาดเพราะส่งผลต่อสุขอนามัย และภาพลักษณ์ของเชฟด้วยเช่นกัน
แล้วความพยายามทั้งหมดก็ผลิดอกออกผล ทีม Witty ได้เป็นผู้ชนะอันดับ 1 จากการลงคะแนนของคณะกรรมการให้เป็นทีมที่ทั้งอาหารรสชาติดี ตีโจทย์แตก ตกแต่งจานอย่างสร้างสรรค์ และที่สำคัญคือรักษาความสะอาด รวมถึงทำงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งไม่ใช่แค่รับคำชื่นชม แต่น้องๆ ยังน้อมรับคำแนะนำที่ให้แก้ไขเรื่องปริมาณการเสิร์ฟอาหารให้พอดี
นอกจากความสามารถของน้องๆ แล้ว ต้องขอชื่นชมอาจารย์ธิดารัตน์ แสนพร และอาจารย์จิราพร วีณุตตรานนท์ ผู้อยู่เคียงข้างลูกศิษย์เสมอ ช่วยผลักดัน วิจารณ์อาหารและการทำงานในครัวของน้องๆ ในช่วงฝึกซ้อม และชี้แนะแนวทางที่ควรจะเป็นเมื่อต้องแข่งขัน
Gourmet & Cuisine Young Chef 2024 ถือเป็นสนามประลองที่สร้างความมั่นใจและทำให้น้องดรีมและน้องมีมี่พัฒนาความสามารถขึ้นอีกขั้น พร้อมกันนี้ยังเชิญชวนรุ่นต่อๆ มาให้ลองหาประสบการณ์โดยการลงแข่งเวทีนี้ ซึ่งจะสามารถดึงศักยภาพของเราออกมาได้มากที่สุด วันข้างหน้าหากมีโอกาสทั้งคู่ก็อยากจะลงแข่งขันพิสูจน์ฝีมือกันอีกจนกว่าจะถึงวันที่ได้ทำตามความฝันคือการเปิดร้านอาหารของตัวเอง
ขอแสดงความยินดีกับทีม Witty และขอให้วันนั้นมาถึงในเร็วไว ทุกคนเอาใจช่วยอยู่
ทีมอันดับ 2 Chow Down วิทยาลัยดุสิตธานี
พีเจ-พิมพ์ภัทรา พิมพาภรณ์ และปลื้ม-ภูพิรัฐ ละมัยเกศ
Chow Down ทีมน้องใหม่มาแรงจากวิทยาลัยดุสิตธานี สร้างผลงานนำทีมครองตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 1 ตั้งแต่เข้าร่วมการแข่งขัน Gourmet & Cuisine Young Chef ปีนี้เป็นครั้งแรก และสามารถคว้ารางวัลพิเศษอีก 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลเมนูขนมหวานอันดับ 3 จากผลิตภัณฑ์คิวพี รางวัลพิเศษจากธรรมชาติซีฟู้ด และรางวัลพิเศษ Zwilling Young Talent Award Team จากผลิตภัณฑ์เครื่องครัว Zwilling
พีเจ-พิมพ์ภัทรา พิมพาภรณ์ เล่าว่าตนเองสนใจเข้าร่วมการแข่งขัน จึงชักชวนปลื้ม-ภูพิรัฐ ละมัยเกศ มาสร้างทีม Chow Down ด้วยความที่เป็นมือใหม่ในสนามแข่งขัน พวกเขาจึงไม่กล้าคาดหวังรางวัลใหญ่ แต่เทใจไปโฟกัสที่รางวัลพิเศษจากผู้สนับสนุนการแข่งขันแทน ซึ่งในท้ายที่สุดก็ทำได้ตามเป้าหมาย ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 มาครองได้อีกด้วย
ทั้งสองเผยทริกพิชิตใจคณะกรรมการคือการทำการบ้าน โดยปลื้มรับหน้าที่หาข้อมูลผลิตภัณฑ์ของผู้สนับสนุน แหล่งที่มา ลักษณะพิเศษ หรือแม้แต่สโลแกนที่เป็นหัวใจสำคัญของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งยังทดลองชิมรสชาติ ทดลองสูตรอาหาร ผสมผสานเทคนิคต่างๆ เพื่อชูรสชาติวัตถุดิบให้ยิ่งโดดเด่นมากขึ้น
“ผมมองว่าเราต้องรู้จักวัตถุดิบแต่ละชนิดก่อนแล้วจึงนำมาครีเอตเมนูโดยเน้นชูรสชาติของวัตถุดิบที่ดีอยู่แล้วให้ดีมากยิ่งขึ้น เช่น ธรรมชาติซีฟู้ด ผมใช้วัตถุดิบที่ให้มาอย่างคุ้มค่า ทั้งปลาแซลมอนและปลาหิมะ โดยรักษาความสด รสชาติและเนื้อสัมผัส รวมถึงรูปลักษณ์ที่เป็นชิ้นสวยงามเอาไว้ หรือมายองเนสคิวพีที่พีเจชิมแล้วพบว่ามีรสหวาน เปรี้ยวนิดๆ ก็เอาไปผสมกับครีมชีส ช็อกโกแลต และซิตรัส เพิ่มรสสัมผัสที่หอมหวาน มันนัวยิ่งขึ้น ส่วนน้ำมันพืชตราองุ่น ผมหยิบสิ่งใกล้ตัวอย่างน้ำจิ้มซีฟู้ดมาครีเอตให้เป็นมากกว่าน้ำจิ้มซีฟู้ดที่คุ้นเคย โดยใช้เทคนิคผสมผสานน้ำจิ้มซีฟู้ดสไตล์ไทยที่ไม่มีน้ำมันเป็นส่วนผสมเข้ากับซอสเพสโตสไตล์ตะวันตกที่มีเบสเป็นน้ำมัน ปรับจูนรสชาติจนได้น้ำจิ้มซีฟู้ดที่มีส่วนผสมของน้ำมันพืชมากถึง 40% แต่ได้ความกลมกล่อมที่กินแล้วไม่เลี่ยน รสชาติเปรี้ยวๆ เผ็ดๆ ซึ่งเป็นเสน่ห์ของน้ำจิ้มซีฟู้ด”
จานหลัก Salmon Into The Wood ปลื้มปรับจากรอบแรกให้มีมิติและความกลมกล่อมยิ่งขึ้น ตอนซ้อมเขาให้คนช่วยชิมและทดลองทำซ้ำหลายครั้งจนได้รสชาติลงตัว สำหรับของหวานที่เพิ่มเข้ามารอบชิงชนะเลิศคือ Garden of Gentleness ถือเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยากของพีเจซึ่งต้องตามหาส่วนผสมอื่นๆ ที่นำมาทำขนมแล้วเข้ากันได้อย่างลงตัว ในที่สุดก็มาจบที่ครีมชีส ช็อกโกแลต และซิตรัส
พีเจเล่าถึงความประทับใจที่มีต่อเชฟเมย์ซึ่งสังเกตเห็นเตาอบขนมของเธอมีอุณหภูมิไม่คงที่ก็เข้ามาให้คำแนะนำรวมถึงแจ้งทางคณะกรรมการถึงปัญหาดังกล่าว ในขณะที่ปลื้มบอกว่าเขาประทับใจคณะกรรมการหลายคน โดยเฉพาะเชฟแดงที่แนะนำว่าให้ใช้มีดเล็กแล่ปลาแทนมีดใหญ่ ซึ่งผลที่ได้นั้นดีกว่าจริงๆ รวมถึงการเน้นย้ำเรื่องไฮยีนที่เป็นหัวใจสำคัญในการปรุงอาหารของเชฟทุกคน
ทั้งคู่ยืนยันตรงกันถึงสิ่งที่ได้จากการแข่งขันในครั้งนี้ว่าได้ความรู้ใหม่ๆ ที่นอกเหนือจากในห้องเรียน และประสบการณ์จากการทำงานเป็นทีม การปรับตัวเข้าหากัน ได้รู้จักเพื่อนทีมอื่นๆ รายการนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี มีการพาไปชมบรรยากาศ Master Class มีเชฟแนะนำว่าควรเริ่มต้นอย่างไร ควรเพิ่มอะไร หรือปรับอะไร ส่วนบรรยากาศวันแข่งขันรู้สึกอบอุ่น ทั้งสปอนเซอร์ เชฟ และทีมงาน ทำให้ไม่กดดันเกินไป อยากให้รุ่นน้องหรือเพื่อนๆ เข้ามาแข่งขัน ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีสำหรับการแข่งขันรายการอื่นต่อไป
พีเจอยากเป็นเซเลบริตีเชฟสาวคนเก่ง และปลื้มอยากก้าวสู่นักธุรกิจที่ทำอาหารอร่อย บทบาทสุดท้าทายที่เป็นเป้าหมายของทั้งสองคน ปีหน้าทั้งคู่จะเปิดทางให้น้องใหม่ได้แข่งขัน และจะไปทำตามความฝันของตนเอง
ทีมอันดับ 3 The Bear มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ผา-ภัทรธร เพชรวิชิต และใหม่-ศุภสิริ ดาบแก้ว
ผา-ภัทรธร เพชรวิชิต และใหม่-ศุภสิริ ดาบแก้ว เข้าร่วมการแข่งขัน Gourmet & Cuisine Young Chef อย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 แม้ผลการตัดสินในครั้งนี้จะไม่สามารถทำลายสถิติเดิมของตัวเอง แต่นับว่าได้เพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ในสนามจริงอีกครั้ง
“ตอนคณะกรรมการประกาศผลเป็นไปตามที่คาดคิดครับ เราประเมินภาพรวมผลงานของทุกทีมจากสายตาแล้วให้คะแนนตัวเองว่าน่าจะอยู่อันดับที่ 5-7 แม้ผลออกมาจะได้อันดับ 3 แต่ผมก็ยังคิดเหมือนเดิม ภาพรวมเราทำได้ไม่ดีพอ เนื่องจากมีเวลาซ้อมน้อยเพราะติดภารกิจหลายอย่างและมีเวลาไม่ตรงกัน” ผาเผยความรู้สึกหลังทราบผลการแข่งขัน ทั้งยังยอมรับความผิดพลาดของตนเอง
หากมองย้อนกลับไปในการเข้าร่วมการแข่งขันครั้งแรก ผาเล่าว่า “การแข่งขันครั้งนั้นสร้างความผิดหวังให้มากที่สุด เพราะเพิ่งเข้าปี 1 ยังไม่ได้เริ่มเรียนอย่างจริงจังทำให้ขาดประสบการณ์ รวมถึงไม่รู้แหล่งวัตถุดิบที่จะนำมาซ้อม หลังจากนั้นการแข่งขันในรายการต่อๆ มา จึงไม่ได้โฟกัสว่าต้องได้ที่เท่าไหร่ โฟกัสแค่หนึ่งต้องทำทันเวลา สองจานอร่อยและกรรมการโอเค
“เชฟแก้วเคยบอกในการแข่งขัน Young Chef ครั้งแรกว่า อย่างน้อยต้องไม่มีของที่กินไม่ได้ ‘อาหารอร่อยคือจบ’ อร่อยถึงไม่มีเทคนิคอย่างน้อยคนกินก็แฮปปี้ แต่ถ้ามีเทคนิคแพรวพราวแต่ไม่อร่อยคนกินก็ไม่แฮปปี้ พอมายด์เซ็ตเราเปลี่ยน การแข่งขันครั้งต่อมาพวกเราเลยประสบความสำเร็จมากขึ้น เราครีเอตเมนูที่ไม่หวือหวามาก แต่กินแล้วอร่อยแน่นอน ส่วนเทคนิคนั้นค่อยมาดูเวลาว่าเราสามารถใส่ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้เราเป็นทีมเดียวที่ทำอาหารเสร็จทันเวลาจึงไม่โดนตัดคะแนนในส่วนนี้”
ผายังคุยต่ออีกว่า “ครั้งนี้เราก็ไม่คาดหวังว่าจะได้แชมป์ เพราะรู้ตัวว่ามีข้อบกพร่องอะไรบ้าง ในขณะที่ทีมอื่นทำได้ดีมาก แต่ก็พยายามทำให้ดีที่สุดภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ จานหลักเราทำได้ตามที่วางแผนไว้ ส่วนของหวานเป็นสิ่งที่เราไม่สันทัด ตอนทดลองสูตรก็รู้สึกว่ายังไม่เวิร์ก มันยังอร่อยได้มากกว่านี้ พอถึงวันจริงเราได้เพิ่มสิ่งที่เราไม่เคยลองทำ ยิ่งส่งผลให้ผิดพลาดมากขึ้น อย่างไรก็ตามผมมองว่าเราได้เปรียบตรงที่รู้ว่ากรรมการต้องการอะไร เจ้าของแบรนด์ต้องการอะไร เราก็พยายามชูจุดเด่นของวัตถุดิบนั้นๆ ให้มากที่สุด”
ความประทับใจที่มีต่อคณะกรรมการ ผายังจำได้ดีถึงคำแนะนำของเชฟเมย์ “เชฟเมย์บอกว่า ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ถ้าทำแล้วไม่ดีไปกว่านั้นอย่างน้อยต้องคงที่ไว้ให้ได้ นั่นคือความเสมอต้นเสมอปลาย โดยเปรียบเทียบกับมะเขือเทศกระป๋อง เชฟบอกว่ามะเขือเทศกระป๋องไม่ใช่ไม่ดี เพราะเขาเก็บในฤดูที่ดีที่สุดแล้วคงที่ไว้ให้นานที่สุด มะเขือเทศทุกกระป๋องมีมาตรฐานเท่ากัน ผมก็ได้นำข้อคิดนั้นมาปรับใช้ในทุกเรื่อง นอกจากนี้เชฟยังเน้นย้ำว่าการทำอาหารให้อร่อยคือหัวใจสำคัญก็จริง แต่เรื่องไฮยีนก็คือสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน”
ปีหน้าผาและใหม่จะขึ้นชั้นปีที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงสำคัญก่อนจบการศึกษา ที่มีภารกิจทั้งการฝึกงานและการเตรียมตัวเข้าสู่โลกของการทำงานจริง ผาตั้งเป้าหมายว่าอยากกลับไปเปิดร้านอาหารที่ต่างจังหวัด ใหม่ฝันอยากทำอาหารบนเรือสำราญ แต่ก่อนจะถึงเวลานั้นพวกเขาอยากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้หลากหลาย ไม่ว่าจะฝึกงานในร้านมิชลินหรือห้องอาหารในโรงแรม 5 ดาว ซึ่งทั้งคู่มองว่าเป็นบันไดขั้นแรกที่จะพัฒนาศักยภาพ รวมถึงยังต้องแบ่งเวลาให้กับการเทรนด์เพื่อนๆ ที่สนใจเข้าร่วมการแข่งขัน Gourmet & Cuisine Young Chef ในปีหน้าด้วย หากจัดสรรเวลาได้ลงตัว The Bear ก็อาจกลับมาลงสนามอีกครั้งก็เป็นได้
ต้องชื่นชมในความเก่งกาจและความพยายามของทุกทีมจริงๆ เพราะการแข่งขันทำอาหารไม่ใช่แค่การทำอาหารให้อร่อย แต่ต้องใช้ทักษะอื่นๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการคิดอย่างสร้างสรรค์ ความอดทน ความมีวินัย เพื่อส่งเสริมการทำงานของบุคลากรในฐานะเชฟรุ่นใหม่ที่จะเติบโตในหน้าที่ต่อไป
ครั้งหน้า Gourmet & Cuisine Young Chef จะมาพร้อมโจทย์อะไร และจะเข้มข้นแค่ไหน ขอให้รอติดตามชม
Tag:
Gourmet & Cuisine Young Chef, การแข่งขันทำอาหาร
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น