“เรามองว่า ‘ทาร์ต’ เป็นภาชนะสำหรับใส่ความคิดสร้างสรรค์”
แสงแดดทะลุผ่านช่องกระจกสีของตึกโบราณบนถนนทรงวาด เป็นจุดเริ่มต้นของ Arteasia ร้านที่มาจากคำ 3 คำคือ Art ศิลปะ Tea ชา และ Asia สื่อถึงเสน่ห์ของความเป็นตะวันออกรวมตัวกันที่นี่ ส่วนเจ้าของร้านชื่อคุณอ๊าต หรือ ดร. อรองค์ ประสานพานิช นอกจากเชี่ยวชาญด้านการศึกษาระบบนานาชาติ อีกพาร์ตของเธอยังหลงใหลเรื่องศิลปะ วัฒนธรรมไทย และขนมไทยมากเสียจนต้องลุกมาทำอะไรบางอย่าง
ตั้งแต่วันที่ร้านเปิดตัว ขนม บรรยากาศ และแสงเงาจากกระจกสีทำเอาหลายคนใจเต้น จนถึงวันนี้เราเห็น Arteasia อยู่ในไกด์บุ๊ก ใน Vlog ในรีวิวนักท่องเที่ยวต่างชาติมากมาย
“เราให้คุณค่าเรื่องวัฒนธรรมไทยที่สุด ภายนอกอาจดูไม่ออกด้วยบุคลิกและการแต่งตัว แต่เรารักแก่นของมัน ไม่ใช่ความคร่ำครึโบราณ และอยากสื่อความเป็นไทยให้ออกมาสนุกและน่าดึงดูดสำหรับคนรุ่นใหม่ด้วย อ๊าตเห็นคนต่างชาติชื่นชมวัฒนธรรมไทย เขาชอบมะพร้าว ชอบใบตอง รักกะทิ สนุกกับการนั่งเรือดูคลอง ชอบเมืองเก่าของเรา แต่เรากลับไปอยู่กับสิ่งที่ปรุงแต่งจนทำให้อ๊าตเริ่มมองประเทศของเราผ่านสายตาของคนต่างชาติ มันสวยงามและมีสิ่งที่หลายคนพลาดไป”
จับทาร์ตมาใส่ขนม
จั่วหัวแบบนี้อาจฟังดูธรรมดา แต่ขนมของ Arteasia ไม่ได้ง่ายแบบนั้น …
ขนมไทยที่เราคุ้นเคยมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณย่าถูกนำมาแต่งตัวใหม่แต่ยังคงรสชาติไว้ครบ “อยากทำขนมไทยแต่เป็นไทยประยุกต์ โจทย์คือต้องทำให้รูปร่างหน้าตาไม่เหมือนเดิมแต่มีจุดตั้งต้นเดิม มีรสชาติและเนื้อสัมผัสหลากหลาย เพราะเราเป็นคนมีจินตนาการเยอะ อย่างทาร์ตข้าวเหนียวมะม่วงของเรา เรียกว่า ‘Two-Faced Mango’ ด้านบนเป็นข้าวเหนียวมะม่วง แต่ด้านล่างเรามีมะม่วงดิบพริกเกลืออยู่ด้วย มันกลายเป็นความสนุก อย่างกล้วยบวชชี ไม่ใช่แค่เอากล้วยบวชชีมาใส่ทาร์ต แต่เรามีลูกเล่นอื่นๆ มีโมจิ ไข่แดงเค็มไปเพิ่มมิติในการกิน เพราะเราอยากให้ขนมของเราสวยแบบที่ไม่เกี่ยวข้องกับของเดิมเลย เห็นแล้วไม่รู้ว่านี่คืออะไร และมีความเป็นสากลในแง่พรีเซนเทชัน”
สแกน - อ่าน - กิน
จานกลมออกมาเสิร์ฟแล้วพร้อม Tasting Set 9 คำ มองแล้วไม่มีทางเดาได้ว่าคำไหนมาจากอะไรบ้าง เป็นวิธีที่คุณอ๊าตจะชวนคนกินให้เล่นสนุกด้วยการสแกน QR Code ซึ่งจะพาเราไปเจอชื่อขนม วัตถุดิบ ลำดับการไล่เรียงรสชาติ ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ คำเด่นมีทั้ง Golden Drops ทาร์ตสาคูแห้วอัญชันซ่อนอยู่ในมูสกะทิหอมมัน ประดับด้วยทองหยอดคาเวียร์
Two-Faced Mango ที่ไล่จากด้านล่างเป็นมะม่วงดิบ พริกเกลือ ข้าวเหนียวมะม่วง ด้านบนเป็นมูสครีมชีสรูปกลีบดอกไม้และมีเจลลีมะม่วงหอมหวานอยู่ตรงกลาง และ Going Bananas กล้วยบวชชีเอามาตีให้เป็นเนื้อเดียวกัน แต่ยังมีเนื้อกล้วยให้ได้เคี้ยว ใส่ในแป้งทาร์ต ด้านบนเป็นกล้วยคาราเมล โมจิ และไข่แดงเค็ม ซึ่งคุณอ๊าตบอกกับเราว่าเป็นเมนูที่สื่อความเป็นขนมของ Arteasia ได้ชัดที่สุด เนื้อสัมผัสมีทั้งนุ่ม หนึบ กรอบ มีจุดตั้งต้นที่มาจากขนมกล้วยบวชชีดั้งเดิมของไทย มีรสชาติซับซ้อน เค็มหวานตัดกัน
Made in Song Wat
นี่ไม่ใช่แค่ชื่อ Community ของคนรักเสน่ห์แบบทรงวาด ถนนเส้นที่เต็มไปด้วยร้านอาหาร ประวัติศาสตร์ และศิลปะซึ่ง Arteasia เป็นส่วนหนึ่งในนั้น แต่ร้านขนมแห่งนี้ยังพยายามใช้วัตถุดิบต่างๆ ที่หาซื้อได้จากทรงวาดด้วย อย่างอบเชย มะตูม เก๊กฮวย ด้วยเหตุที่ว่าขนมของเธอมีความยากและละเอียดอ่อน จึงทำเตรียมไว้ก่อนไม่ได้ ของในห้องครัวที่ร้านจึงเยอะมาก อย่างบานอฟฟี่ที่ใช้มูสกะทิแทนครีม ใช้คาราเมลเป็นน้ำตาลมะพร้าวอบควันเทียนก็ทำใหม่ ไม่ทำค้างไว้ก่อน
เราโยนคำถามต่อว่าพอใจกับงานของตัวเองไหม เจ้าของร้านตอบในทันทีว่า 100 เปอร์เซ็นต์ “ตั้งแต่วันแรกที่คุยเรื่องเมนูกับเชฟ คนพูดเยอะมากว่ามันคืออะไร ไม่มีคนเข้าใจหรอก แต่มาวันนี้คนเข้าใจเรามากขึ้น เราได้รางวัลเป็นร้านขนมเจเนอเรชันแรกของเชลล์ชวนชิมด้วยก็เลยรู้สึกว่าถ้าเราเชื่อกับอะไรมากพอ ทำออกมาได้จริง คนจะเข้าใจเรา ท้ายที่สุดแล้วจะมีคนให้คุณค่ากับมันเพิ่มขึ้นด้วย”
อีกหนึ่งเรื่องน่ารักที่เจ้าของร้านคนนี้อยากแบ่งปันคือที่ร้านไม่ได้มีแค่กลุ่มลูกค้าวัยรุ่นทั้งไทยและต่างชาติเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มลูกค้ารุ่นใหญ่ที่มานั่งจิบชากินขนมนัดเจอกันในวันเสาร์อาทิตย์ สนุกกับการเดาขนมของที่ร้าน รวมถึงเพลินกับกาแฟข้าวเหนียวมะม่วง และลาเต้น้ำกระสาย (น้ำกะทิราดลอดช่อง) ที่หอมกลิ่นควันเทียน ส่วนโปรเจ็กต์ในอนาคต ดร. อรองค์ บอกว่าอยากเห็น Arteasia เดินทางไปไกลกว่านี้
“เคยมีชาวต่างชาติมาติดต่ออยากให้เปิดที่อังกฤษ เพราะเรามีทำขนมสไตล์ Afternoon Tea ด้วย นี่คือโจทย์ที่ท้าทายมาก ด้วยข้อจำกัดเรื่องวัตถุดิบ เราจะพา Arteasia ไปต่างประเทศได้อย่างไรถึงจะได้รสชาติขนมแบบที่ต้องการ”
มาเอาใจช่วยคุณอ๊าตและขนมสุดอาร์ตของเธอด้วยกัน
Tag:
ขนมไทยโมเดิร์น, ถนนทรงวาด, ร้านขนมหวาน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น