ในแง่ของอาหาร น้อยคนนักจะนึกถึงเยอรมนีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในยุโรป อย่างเช่นฝรั่งเศสหรืออิตาลี และถ้าให้พูดถึงอาหารเยอรมันคงไม่พ้นไส้กรอกและขาหมู ฟังดูธรรมดาในสายตาคนไทยที่มีวัฒนธรรมอาหารหลากหลายและอู้ฟู่ แต่ภายใต้ความธรรมดาของพวกเขากลับมีความน่าสนใจและหลากหลายในตนเอง
ขนมปังและไส้กรอกหลากหลายมากกว่าที่คิด
ไส้กรอกและขนมปังเป็นของกินทั่วไปในชีวิตประจำวันของคนเยอรมัน และมีตัวเลือกให้ไม่น้อยเลย อย่างเช่นไส้กรอกก็ไม่ได้มีแค่ไส้กรอกหมู ไส้กรอกเนื้อ หรือไส้กรอกแฟรงก์เฟิร์ต (ตามชื่อเมือง) ที่เราพอเดาได้ แต่มีมากมายจนนับได้หลักพันชนิด! คงจะไล่รายชื่อให้ครบไม่ได้ แต่ขอยกตัวอย่างไส้กรอกเยอรมันที่คนพื้นถิ่นเขากินกันบ่อยๆ อาทิ ไส้กรอกเนื้อลูกวัว (Kalbwurst), ไส้กรอกขาว (Weisswurst), ไส้กรอกสำหรับปิ้งย่าง (Bratwurst), ไส้กรอกพริก (Paprikawurst), ไส้กรอกพริกไทย (Pfefferwurst), ไส้กรอกเห็ด, ไส้กรอกตับ (Leberwurst), ไส้กรอกเบียร์ (Bierwurst), ไส้กรอกเลือด (Blutwurst)
เท่านี้ก็ดูมากเกินกว่าที่หลายคนจินตนาการไว้ แต่ความจริงต่างพื้นที่ก็มีไส้กรอกสูตรเฉพาะของตนซึ่งอาจจะหาซื้อในเมืองอื่นไม่ได้อยู่อีก เช่น ไส้กรอกชเลเซี่ยน (Schlesischewurst) ของเมืองฮัมบูร์ ไส้กรอกหัวหอมใหญ่ (Zwiebelwurst) ของเมืองเนิร์นแบร์ก ฯลฯ
ขนมปังก็เช่นกัน คนเยอรมันมีความสร้างสรรค์ด้านการทำขนมปังให้เนื้อสัมผัสต่างกันมากกว่า 3,000 ชนิด มีทั้งขนมปังดำ หรือบางทีเรียกขนมปังชาวนา (Bauernbrot) ซึ่งเป็นที่นิยมมากที่สุด ขนมปังหัวหอม (Zwiebelbrot), ขนมปังเนยแข็ง (Kasebrot), ขนมปังอบเมล็ดข้าว (Vollkornbrot), ขนมปังอบโรยงา (Sesambrot), ขนมปังลูกเกด (Rosinenbrot) ฯลฯ ถ้าคนไทยต้องกินข้าวทุกวัน คนเยอรมันก็ต้องกินขนมปังทุกวันเหมือนกัน ไม่ว่าจะกินโดยไม่ทาเนยหรือกินกับเนื้อ ส่วนใหญ่จะออกไปซื้อจากร้านขายขนมปังที่ขายแบบตัดแบ่งแล้วนำมาเก็บไว้
ส่วนเครื่องดื่มเป็นอะไรไม่ได้เลยนอกจากเบียร์ คนเยอรมันมีความเชื่อว่าเบียร์สะอาดกว่าน้ำเปล่า เพราะผ่านการบ่มมาอย่างดี แถมเบียร์ที่ประเทศเยอรมนียังถูกกว่าน้ำดื่ม ไม่แปลกใจที่คนประเทศนี้จะดื่มเครื่องดื่มชนิดนี้เป็นชีวิตจิตใจ พูดได้เลยว่า “Beer in Blood” ของแท้
มาถึงตรงนี้ลองทายเล่นๆ กันดีกว่าว่าในแต่ละวันคนเยอรมันกินอะไรบ้าง และให้ความสำคัญกับมื้ออาหารมื้อไหนมากที่สุด
หลังจากพูดคุยกับ ดร. พรสรรค์ วัฒนางกูร นายกสมาคมไทย - เยอรมัน และคุณ Jörg Vitovec อดีตนักข่าวกีฬาชาวเยอรมันได้ความว่า คนเยอรมันกินหนักกันมื้อกลางวันมากกว่ามื้ออื่น ซึ่งกลางวันในที่นี้คือบ่ายโมงหรือบ่ายสองโมง อิงตามเวลาเลิกเรียนของเด็กๆ และเวลาพักของคนทำงาน แต่การกินหนักของพวกเขาจะเทียบกับคนไทยได้มากน้อยแค่ไหนลองไปดู
เริ่มต้นมื้อเช้าคนเยอรมันมักจะกินแค่ขนมปัง ส่วนใหญ่เป็น Bauernbrot ที่หลายคนอาจจะรู้จักในชื่อขนมปังชาวนา เนื้อนอกแข็งแต่เนื้อในนุ่ม ทาเนยทาแยม ไม่ก็กินซีเรียลใส่ผลไม้กับกาแฟหรือชา บางบ้านอาจจะกินแฮม และ Scrambled Egg เพิ่มบ้าง
มื้อกลางวันจะกินกันมากขึ้นและเริ่มประมาณบ่ายโมง เป็นมื้อที่เสริมโปรตีนด้วยเนื้อสัตว์ มันฝรั่ง มีซุป และสลัด อาทิ Krautsalat (สลัดผักกาด), Sauerkraut หรือกินอาหารจำพวกเส้นอย่าง Spaetzle แต่ก็ไม่ได้พิถีพิถันในการทำเท่าไร เน้นกินง่ายและเร็ว อย่าง Kebab ซึ่งมีร้านอยู่ทั่วเมือง
มื้อเย็นย้อนกลับมากินขนมปังเป็นหลักเหมือนตอนเช้า นิยม Butterbrot หรือขนมปังทาเนย กับไส้กรอก อาจจะเพิ่มสลัดและไส้กรอกหลายชนิดมากขึ้น
Note : ประโยชน์ของ Sauerkraut
Sauerkraut กะหล่ำปลีดองรสเปรี้ยวของคนเยอรมันที่กินกับไส้กรอกและขาหมู (มักจะต้องมาคู่กัน) นอกจากจะช่วยให้ไม่เลี่ยน ยังมีสรรพคุณช่วยย่อยเพราะมีโพรไบโอติกส์ และมีโพแทสเซียม ธาตุเหล็กที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้วย
NeverMind อาหารและเบเกอรี่ตำรับเยอรมัน
หายากกว่างมเข็มในมหาสมุทรก็ร้านเบเกอรี่ในประเทศไทยที่ทำตามสูตรเยอรมันนี่แหละ โชคดีที่ในซอยสุขุมวิท 48 ยังมี NeverMind ขายขนมปัง ขนมหวาน และอาหารตำรับเยอรมันให้ชิมอยู่
คุณจีโน่ (Gino Alexander Baumann) ผู้จัดการร้านลูกครึ่งชาวไทย-เยอรมันเล่าว่า เดิมทีก่อนจะมาเป็นร้านนี้คุณแม็กซ์ ชาวเยอรมัน และคุณณี ภรรยาชาวไทย ก่อตั้งบริษัทนำเข้าสินค้าจากเยอรมนีชื่อว่า SCMITH ต่อมาอยากทำร้านอาหารที่ให้บรรยากาศสบายๆ แก่ลูกค้า หน้าที่นี้จึงตกเป็นของคุณจีโน่ในการเลือกของตกแต่งให้เข้ากับธีม และนำสูตรอาหารเข้ามาใช้ในร้าน เพราะด้วยความเป็นลูกครึ่งเยอรมัน จึงรู้จักรสชาติอาหารที่คนเยอรมันกินกันจริงๆ
ทางร้านแนะนำไส้กรอกขาวซึ่งเสิร์ฟมาในหม้อต้มน้ำร้อน จิ้มกินกับมัสตาร์ดหวาน มาพร้อมกับเพรทเซลและเนย ส่วนของหวานคือ Black Forest Cake ทั้งนุ่มและหวานน้อย จริงๆ ในร้านเต็มไปด้วยเบเกอรี่เยอรมัน เช่น Sesam Brötchen, Mohn Brötchen, Körner Brot, Veganes Mehrkornbrot และอื่นๆ เรียงรายอีกเต็มไปหมด สมเป็นประเทศแห่งขนมปัง
NeverMind ซอยสุขุมวิท 48 เปิดบริการ วันจันทร์-ศุกร์ 09.00-17.30 น., วันเสาร์-อาทิตย์ 08.00-17.30 น.
Pork Roast vs Pork Knuckle
เราคนไทยมักได้ยินชื่อเมนูขาหมูเยอรมันในลิสต์อาหารประจำชาติ ซึ่งความจริงแล้วที่เยอรมนีไม่ได้กินขาหมู หรือ Pork Knuckle กันในชีวิตประจำวัน แต่จะกินก็ต่อเมื่อถึงวันสำคัญ โอกาสพิเศษต่างๆ หนึ่งในนั้นคือเทศกาล Oktoberfest เพราะต้องใช้เวลาทำนาน ส่วนเมนูหมูที่พวกเขากินบ่อยจริงๆ คือ Pork Roast ซึ่งกินคู่มันบดและสลัดเป็นอาหารมื้อกลางวันหรือมื้อเย็น
ความแตกต่างระหว่าง 2 เมนูนี้คือ Pork Roast จะใช้ส่วนคอ ไหล่ ซี่โครงของหมูมาปรุงด้วยเกลือ เมล็ดคาราเวย์ กระเทียม มัสตาร์ดก่อนนำไปย่าง ในขณะที่ Pork Knuckle ใช้ส่วนขา หมักด้วยเกลือ กระเทียม พริกไทย จูนิเปอร์ น้ำส้มสายชู และเมล็ดคาราเวย์ หลังจากนั้นจึงนำไปย่างก่อนแล้วค่อยเข้าเตาอบ (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสูตรของแต่ละคน)
Note : Döner Kebab
นับตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1960 เป็นต้นมา เยอรมนีมีผู้อพยพชาวตุรกีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งได้นำอาหารประจำชาติอย่างเคบับ (Kebab) เข้ามาด้วย เริ่มแรกเป็นเคบับที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ห่อแป้ง ใส่เครื่องเทศหรือหัวหอมเท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปจึงถูกพัฒนาเป็น Döner Kebab มีความพิเศษคือเพิ่มผักอื่นๆ ลงไปด้วย เช่น แตงกวา มะเขือเทศ กะหล่ำปลีแดง ฯลฯ ถูกใจชาวเยอรมันมากจนกลายเป็นสตรีทฟู้ดยอดนิยมที่กินกันเป็นเรื่องปกติ
Tag:
อาหารเยอรมัน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น