เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นพลังและโอกาส

วันที่ 2 ตุลาคม 2567  28 Views
นิตยสาร Gourmet & Cuisine ฉบับที่ 290 เดือนกันยายน 2567

เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นพลังและโอกาส

ทำไมคนบางคนเมื่อต้องเผชิญกับสภาวะวิกฤต ทักษะที่เคยมีก็หายไปหมด ในขณะที่คนบางคนกลับสามารถทำบางสิ่งบางอย่างได้ดีกว่าปกติ ความแตกต่างเหล่านี้ขึ้นอยู่กับอะไร

“วิกฤต” คือสถานการณ์ที่อาจจะสร้างเราหรือทำลายเราก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราเรียนรู้ที่จะตอบสนองอย่างไร ถ้าเราตอบสนองอย่างถูกต้อง วิกฤตก็จะให้ความเข้มแข็ง พลังอำนาจ และสติปัญญากับเราเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเราตอบสนองไม่ถูกต้อง วิกฤตก็สามารถปล้นเอาทักษะและความสามารถที่มีอยู่ไปเสียหมด

เพื่อที่จะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นพลังอำนาจและโอกาสที่สร้างสรรค์ นักจิตวิทยาแนะนำเทคนิคดังต่อไปนี้

  1. ตอบสนองต่อวิกฤตด้วยท่าทีในเชิงรุกมากกว่าในเชิงปกป้อง มองสถานการณ์เป็นความท้าทาย แทนที่จะมองเป็นภัยอันตราย ยอมรับความท้าทายโดยปราศจากความกลัว และใช้จุดแข็งของตัวเองอย่างมั่นใจ โดยรับมือในเชิงรุก มีเป้าหมายเป็นตัวนำทาง แทนที่จะรับมือในเชิงปกป้องหรือหลีกเลี่ยง ให้บอกตัวเองว่า “ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ฉันสามารถจัดการมันได้ ฉันสามารถมองได้ทะลุปรุโปร่ง” แทนที่จะคิดว่า “ฉันหวังว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น”
  2. รักษาเป้าหมายในทางบวกไว้ในใจ สาระสำคัญคือการมุ่งมั่นในเป้าหมาย ฝึกซ้อมในใจถึงประสบการณ์ก้าวข้ามวิกฤตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการโดยไม่เบี่ยงเบนไปทิศทางอื่น นั่นคือ เป็นทัศนคติของการสู้ แทนที่จะกลัวหรือหนี ถ้าเราทำอย่างนี้ได้ ตัวสถานการณ์ที่วิกฤตจะแสดงเหมือนเป็นตัวกระตุ้นที่ปลดปล่อยพลังอำนาจที่เพิ่มขึ้น เพื่อช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้น ในกรณีเช่นนี้ความตื่นเต้นจะช่วยเสริมแรงความตั้งใจนี้ มันจะเพิ่มความกล้าหาญ ความแข็งแกร่งที่จะก้าวไปข้างหน้า
  3. ประเมินสถานการณ์ด้วยมุมมองที่เป็นจริง อย่าทึกทักเอาว่าความท้าทายเล็กๆ เป็นเรื่องใหญ่โตถึงชีวิต ถ้าเราประมาณการถึงอันตรายหรือความยุ่งยากสูงเกินไป หรือตอบสนองต่อข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือบิดเบือน เราก็มีแนวโน้มที่จะเกิดความตื่นเต้นที่มากเกินกว่าปกติ ถ้าเราใช้ความตื่นเต้นนี้อย่างไม่เหมาะสมก็จะทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าประโยชน์
  4. ประเมินถึงสิ่งเลวร้ายที่สุดที่สามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อมีสิ่งคุกคามจากความโชคร้าย ให้พิจารณาอย่างจริงจังและรอบคอบว่าอะไรคือสิ่งที่แย่ที่สุดที่สามารถจะเกิดขึ้นได้ แทนที่จะตอบสนองอย่างมืดบอดและไม่มีเหตุผล การมองความโชคร้ายตรงๆ จะให้เหตุผลที่ดีกับเราว่า ในที่สุดแล้วมันจะไม่มีความหายนะที่เลวร้ายเกิดขึ้น เราจะพบว่าความห่วงกังวลของเราจะลดน้อยลงมาก และทดแทนด้วยความโล่งใจ

นอกจากนี้หากเราจำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะบางอย่าง ควรจะฝึกซ้อมโดยไม่มีความกดดัน แล้วเราจะทำได้ดีเมื่อเจอวิกฤตในภายหลัง ความกดดันจะทำให้เรียนรู้น้อยลง ดังนั้นการซ้อมจึงมีความสำคัญมาก


Tag: Last But Not Least

เรื่องโดย

ความคิดเห็น

Editor’s Pick

Recent

Most Viewed